กรมป่าไม้ มอบโล่ให้กับ CPF ในฐานะผู้ช่วยเหลือราชการกรมป่าไม้ ประจำปี 2564 สาขาการฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ จากการดำเนินโครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จังหวัดลพบุรี พื้นที่ 6,971 ไร่ ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมป่าไม้ ครบรอบ 125 ปี ในวันนี้ (18 กันยายน 2564) ซึ่งจัดงานขึ้นในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้แนวคิด “รัฐมีป่า ประชามีสุข ยุควิถีใหม่ ” โดยมี คุณวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน และคณะผู้บริหารระดับสูงของกรมป่าไม้ ร่วมงาน ณ ห้องประชุม 1 อาคารเทียมคมกฤส กรมป่าไม้
รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเปิดงานว่า การทำงานของกรมป่าไม้ถือเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันหลายมิติของประเทศไทย ซึ่งภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีภารกิจต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 55% ซึ่ง กระทรวงฯ คงไม่สามารถดำเนินการเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในประเทศไทยในขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ
คุณวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร CPF กล่าวว่า กรมป่าไม้เป็นหน่วยราชการที่สำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของโลก โดยเฉพาะประเด็นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเครือข่ายด้านความยั่งยืน เราคาดหวังว่ากรมป่าไม้จะให้การสนับสนุนต่อภาคประชาสังคมมากขึ้น รวมถึงการนำนวัตกรรมการฟื้นฟูป่าให้รวดเร็วและขยายพื้นที่ให้มากขึ้น เพราะนี่คือคำตอบสำคัญที่จะปกป้องรักษาโลก และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
CPF ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ของชาติ โดยได้ร่วมมือในรูปแบบ 3 ประสาน กับกรมป่าไม้และชุมชนในพื้นที่รอบเขาพระยาเดินธง ดำเนินโครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสัก พื้นที่ 5,971 ไร่ ในระยะที่หนึ่ง ( ปี 2559-2563) และปัจจุบัน เข้าสู่ระยะที่ 2 ของโครงการ (ปี 2564-2568) สานต่อความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าอีก 1,000 ไร่ รวมเป็น 6,971 ไร่ ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกป่า และเป็นต้นแบบการฟื้นฟูป่าให้ผืนป่าแห่งอื่นๆ ของไทย
“โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เป็นโครงการที่บริษัทมีส่วนร่วมดำเนินการครบทั้งกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ สำรวจพื้นที่ ศึกษารูปแบบการปลูกป่า การวางแผนปลูกป่า และการดูแลให้ต้นไม้ในพื้นที่เติบโต จนถึงกระบวนการเก็บข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลเปรียบเทียบ โดยมีเจ้าหน้าที่ของ CPF ติดตามการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิดและผืนป่าที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูป่า สามารถเป็นต้นแบบให้กับการฟื้นฟูผืนป่าอื่นๆของประเทศ จากการใช้การปลูกป่าใน 4 รูปแบบ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ช่วยย่นระยะเวลาการฟื้นฟูป่าได้เร็วกว่าปล่อยให้ฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ ขณะเดียวกัน CPF เข้ามาช่วยดูแลการปลูกป่า ด้วยการจัดการเรื่องระบบน้ำเพื่อช่วยให้ต้นไม้ในพื้นที่เติบโต เพิ่มอัตราการรอดของต้นไม้ที่ปลูกได้เกือบ 100%” คุณวุฒิชัย กล่าว
Cr. PR CPF