โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” จ.ลพบุรี โดย CPF ได้รับการประกาศรับรองสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. มีปริมาณกักเก็บก๊าซเรือนกระจก รวม 18,807.300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า พร้อมกันนี้ อบก. รับรองฟาร์มและโรงงานของซีพีเอฟ 57 แห่ง มีปริมาณกักเก็บก๊าซเรือนกระจก 3,448.445 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากการดำเนินโครงการรักษ์นิเวศ ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการ บนพื้นที่ รวม 1,720 ไร่
คุณวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร CPF เปิดเผยว่า บริษัทฯ สนับสนุนการทำกิจกรรมของโรงงานและฟาร์มทั่วประเทศร่วมลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกของ อบก. อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยปีนี้ อบก. มอบใบประกาศเกียรติคุณรับรองให้หน่วยงานของ CPF ทั้ง 57 แห่ง
ปีนี้ เป็นปีแรกที่ CPF นำ “โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ซึ่งเป็นโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่ บริเวณพื้นที่เขาพระยาเดินธง 6,971 ไร่ จ.ลพบุรี เข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกของ อบก. โดยเลือกพื้นที่ที่ขอรับรองโซนส่งเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ 1,500 ไร่ ซึ่ง อบก. รับรองปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก 18,807.300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ส่วนพื้นที่ปลูกโซนอื่นๆ อาทิ แปลงปลูกป่าแบบพิถีพิถัน ปลูกป่าเชิงนิเวศ ปลูกป่าแบบเสริมป่า มีแผนทยอยส่งเข้าร่วมโครงการ LESS ในระยะต่อไป
โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เป็นความร่วมมือ 3 ประสาน ภาครัฐ ชุมชน และภาคเอกชน โดยชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง กรมป่าไม้ และ CPF ร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปลูกป่าใหม่เพิ่มเติม บริเวณเขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เริ่มโครงการฯ ปี 2559 สำรวจพื้นที่ ศึกษารูปแบบการปลูกป่า การวางแผนปลูกป่า ดูแลให้ต้นไม้ในพื้นที่เติบโต จนถึงกระบวนการเก็บข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์เพื่อเป็นฐานข้อมูลเปรียบเทียบ จนถึงปัจจุบันสามารถฟื้นสภาพผืนป่ากลับสู่ความอุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ที่เติบโตขึ้นสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์และเป็นแหล่งอาหารของชุมชน
“CPF ประกาศเป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action ซึ่งภายใต้เป้าหมายดังกล่าว เน้นการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการผลิต และมีแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากกว่า 20,000 ไร่ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของเครือ CP ปลูกต้นไม้ให้ได้ 20 ล้านต้น ก้าวสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2573 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)” คุณวุฒิชัย กล่าว
ทั้งนี้ ตลอด 7 ปี (ปี 2558-2564) ที่ผ่านมา มีโรงงานและฟาร์มของ CPF ได้รับการรับรองโครงการ LESS ด้านป่าไม้และพื้นที่สีเขียวมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวม 75,038.509 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
Cr.PR CPF