ซีพีเอฟ เปิดตัวรายงานความยั่งยืน ประจำปี 2564 ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ด้วยการลงมือทำ

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดตัวรายงานยั่งยืน ประจำปี 2564 ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น สู่ทศวรรษใหม่แห่งความยั่งยืน ด้วยการลงมือทำ ขับเคลื่อนเป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า ก้าวสู่เป้าหมายองค์กรลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions)

รายงานความยั่งยืน ประจำปี 2564 ของซีพีเอฟ จัดทำขึ้นตามมาตรฐานของ Global Reporting Initiative (GRI) สะท้อนความก้าวหน้าของบริษัทในการดำเนินการด้านความยั่งยืน การขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจและการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และโรคระบาดในสุกร ASF (African Swine Fever) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก การบริหารจัดการอย่างรอบคอบและรอบด้านด้วยความรวดเร็ว ช่วยสนับสนุนการสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยไม่หยุดชะงัก ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้บริษัทฯ ก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ ตลอดจนผลการดำเนินงานภายใต้เป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action ภายใต้ 3 เสาหลัก 9 ความมุ่งมั่นเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 ประการ

คุณวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมดิจิทัล การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจในทุกกระบวนการ Feed Farm Food ซึ่งบริษัทฯ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงาน ภายใต้เป้าหมายความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action ตามแนวทาง 3 เสาหลัก อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และ ดินน้ำป่าคงอยู่ มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่สร้างความมั่นคงทางอาหารของโลก ดูแลคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเกษตรกร คู่ค้าธุรกิจ และสังคมให้เติบโตไปด้วยกัน รวมทั้งดูแลความปลอดภัยของพนักงาน

“ซีพีเอฟ สนับสนุนความร่วมมือกับภาคสังคมเพื่อเป็นแบบอย่างในการสร้างความตระหนักรู้ และร่วมส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน ด้วยการลงมือทำในระดับบุคคล ครอบครัว ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ฟื้นฟูธรรมชาติและสมดุลสิ่งแวดล้อม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีในวันนี้และอนาคต” คุณวุฒิชัย กล่าว

การดำเนินงานเพื่อก้าวสู่เป้าหมายความยั่งยืน บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการวิจัย พัฒนา สร้างสรรค์ นวัตกรรมอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ (Nutrition) เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคทั่วโลก มีการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำระบบควบคุมอัตโนมัติ (Automation) มาใช้ ทั้งการนำระบบดิจิทัล (Digitization) เพื่อเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ลดความเสี่ยงของธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมายเป็นองค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions)

คุณวุฒิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน 3 เสาหลัก ด้านอาหารมั่นคง บริษัทฯ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพผู้บริโภค โดย 40% ของผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ดีและมีคุณค่าทางโภชนาการที่มากขึ้น การเพิ่มกำลังการผลิตไข่ไก่จากฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง (Cage Free) รวม 30 ล้านฟอง การเลี้ยงดูสุกรแม่พันธุ์อุ้มท้องในระบบคอกขังรวม ที่มีเป้าหมายดำเนินการให้ได้ 100 % ในปี 2568 การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเลี้ยงไก่เนื้อซึ่งดำเนินการไปแล้ว 64.87 % เป็นต้น

ด้านสังคมพึ่งตน ในภาวะวิกฤตโควิด-19 บริษัทฯ ให้ความสำคัญสุงสุดกับการดูแลพนักงานทุกคน ทั้งมาตรการป้องกันและการรักษาพยาบาล รวมถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม โดยจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง เพื่อดูแลพนักงานของบริษัท และประชาชน ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า อาทิ การเคารพสิทธิมนุษยชนและดูแลพนักงานที่สอดคล้องกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพพนักงานทั่วโลก การส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทางการค้าที่ยั่งยืนแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานกว่า 460 รายทั่วโลก และหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพคู่ค้าด้านการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้บริษัทได้รับรางวัล CAC Change Agent Award 2021

นอกจากนี้ ซีพีเอฟดำเนินโครงการด้านสังคมอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุน แบบประกันรายได้ หรือ คอนแทรคฟาร์ม จากผลประเมินการลงทุนทางสังคมของโครงการดังกล่าว คิดเป็นมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ 4,574 ล้านบาท และเป็นโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) 9 ข้อ จากทั้งหมด 17 ข้อ

ด้านดินน้ำป่าคงอยู่ บริษัทฯ หมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าตลอดห่วงโซ่คุณค่า และมีเป้าหมายเป็นองค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions) โดยปัจจุบันใช้พลังงานหมุนเวียนสูงถึง 27% ของการใช้พลังงานทั้งหมด นำน้ำกลับมาใช้ซ้ำหรือใช้ใหม่ 44 % ของปริมาณการใช้น้ำทั้งหมด พร้อมกันนี้ บริษัท ฯ ตั้งเป้าหมายนำของเสียไปสู่หลุมฝังกลบหรือเผาเหลือศูนย์ ในปี 2573 (ค.ศ.2030) บริษัทฯ ยังได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ยุทธศาสตร์และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 111,392 ตัน สำหรับกิจการในประเทศไทย

ทั้งนี้ ในปี 2564 ซีพีเอฟ ได้รับรางวัลด้านการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน อาทิ รางวัลรายงานความยั่งยืนระดับโลก The International ARC Awards 2021 เป็นบริษัทไทยเพียงรายเดียวและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รางวัลจากความโดดเด่นด้านความเป็นเลิศในการสื่อสาร นำเสนอข้อมูลชัดเจน ครบถ้วน มีความคิดสร้างสรรค์ สะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืน รางวัลรายงานความยั่งยืนระดับภูมิภาคเอเชีย จาก Asia Sustainability Reporting Awards (ASRA) เป็นรางวัลระดับ Gold Class ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ประเภท Asia’s Best Workplace Reporting แบบอย่างองค์กรด้านดูแลและสร้างความผูกพันกับพนักงาน เคารพสิทธิมนุษยชน และดูแลความปลอดภัยพนักงานตามมาตรฐาน รางวัลเกียรติคุณจากการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนปี 2564 Sustainability Disclosure Award 2021 จากสถาบันไทยพัฒน์ เป็นต้น

สำหรับรายงานความยั่งยืน ประจำปี 2564 ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ สามารถดาวน์โหลดได้ที่
https://www.cpfworldwide.com/th/sustainability/report/
https://www.cpfworldwide.com/en/sustainability/report/

ที่มา ซีพีเอฟ