ปีกระต่าย 2566 ธุรกิจภาคเกษตรจะเดินไปในทิศทางไหน ลองมาฟังมุมมองของ คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรของไทย
“ปีที่แล้วประเทศไทยผลิตสุกรได้ 15.51 ล้านตัว ลดลง 19.55% เมื่อเทียบกับปี 2564 เนื่องจากการระบาดของ ASF เกษตรกรรายย่อยชะลอการเลี้ยงเพื่อลดความเสี่ยง ทำให้ปริมาณการผลิตลดลง เป็นผลให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด กลายเป็นช่องว่างให้เกิดการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศมาทำกำไร สำหรับการผลิตสุกร ปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณ 17.47 ล้านตัว เพิ่มขึ้น 12.66% เนื่องจากจำนวนแม่พันธุ์สุกรเพิ่มขึ้นสามารถขยายการผลิตสุกรได้มากขึ้น”
ปีที่แล้วการส่งออกเนื้อไก่ถือเป็นปีทองของไทย สามารถส่งออกได้เกิน 1 ล้านตันเป็นปีแรก โดยมีปัจจัยบวกจากการบริโภคที่ฟื้นตัวและได้รับอานิสงส์จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากยูเครนไม่สามารถส่งออกเนื้อไก่ ส่งผลให้ราคาเนื้อไก่ทั่วโลกปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ จีนได้อนุมัติให้นำเข้าเนื้อไก่จากโรงงานไทย หลังจากที่เคยระงับในช่วงระบาดโควิด ขณะเดียวกันการฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้ากับซาอุดีอาระเบีย ปี 2566 คาดว่าไทยจะผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.23 ล้านตัน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และคาดว่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3% เป็น 1.07 ล้านตัน
สำหรับการผลิตกุ้งของไทย ปี 2565 อยู่ที่ 280,000 ตัน เท่ากับปีก่อนหน้า เพราะยังคงเผชิญปัญหาเรื่องโรค รวมถึงสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ส่วนปีนี้คาดว่าจะผลิตได้ 300,000 ตัน เพิ่มขึ้น 7%
“แนวโน้มและบริบทใหม่ด้านการเกษตรและอาหารนับจากนี้ ปัจจัยที่จะทำให้เกิดความสำเร็จคือ ธุรกิจต้องเป็นแบบครบวงจร กระบวนการผลิตจะต้องเชื่อมโยงกันทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ นับจากพืชอาหารสัตว์ การผลิตอาหารสัตว์ ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ โรงชำแหละ โรงแปรรูป ไปสู่อาหาร การขาย ห่วงโซ่คุณค่า ทั้งหมดต้องเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะช่วงเวลากับปริมาณ ต้องครบวงจรตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งซีพีเอฟทำเรื่องนี้มานานแล้ว และจะพยายามทำเพิ่มเติม เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานมีความเข้มแข็งและเติบโตไปพร้อมๆกัน”
คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ บอกว่า จากสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งการขาดแคลนอาหาร การระบาดของโควิด-19 เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย
ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนที่เกิดจากความไม่สงบระหว่างรัสเซียกับยูเครน นับเป็นวิกฤติและเป็นความท้าทายที่เราจะต้องหาตัวอื่นทดแทนให้ได้ แน่นอนต้นทุนอาจเพิ่มขึ้น ต้องไปเร่งเรื่อง IT software ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว
ขณะเดียวกันในอีกมุมหนึ่งที่เกิดวิกฤติ การส่งออก ไปในประเทศยุโรปถือว่าดีขึ้น เพราะยุโรปขณะนี้อาจจะมีข้อจำกัด โดย เฉพาะเรื่องวัตถุดิบ แรงงาน และราคาพลังงาน ต้นทุนที่ค่อนข้างสูง
พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค เป็นอีกหนึ่งในความท้าทายที่ต้องมีการศึกษาและปรับตามให้เหมาะสม ดังเช่น ลูกค้าต้องการผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรนุ่มฉ่ำ ทีมวิจัยต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์ ให้ได้สายพันธุ์ที่มีไขมันแทรก เก็บไขมันที่มีโอเมก้า 3 โดยใส่สูตรที่มีเมล็ดแฟลกซ์เข้าไปในอาหารสัตว์ เพื่อให้มีโอเมก้า 3 อยู่ในอาหาร และเมื่อสุกรกินเข้าไปโอเมก้า 3 จะไปเก็บอยู่ในไขมัน เช่นเดียวกับความต้องการของผู้บริโภคในเวทีโลก ต้องดูว่าอะไรที่เป็นจุดอ่อน หรือเป็นการเพิ่มมูลค่า ที่ต้องมีการพัฒนา
“ปี 2566 ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทย ที่เป็นครัวของโลก มีความโดดเด่นด้านเกษตรและอาหาร หากมีการบริหารจัดการความเสี่ยงและหาวิธีการต่างๆไว้รองรับล่วงหน้า เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตอาหารและมีความสมบูรณ์ในตัวเอง ด้วยเรามีวัตถุดิบค่อนข้างมาก อาจจะขาดแคลนแค่บางส่วน หากบริหารจัดการได้ดี ย่อมมีโอกาสจัดการได้ดีกว่าประเทศอื่น ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจต่างๆของไทยต้องพยายามร่วมมือและช่วยเหลือกัน ผลิตสินค้าและบริการต่างๆออกสู่เวทีโลก เพราะไทยเป็นประเทศเปิด โดยเฉพาะการส่งออก ต้องช่วยกันทำสินค้าและบริการที่ดีให้กับลูกค้า เป็น Branding ของประเทศไทย ทำให้ลูกค้าทั่วโลกมีความมั่นใจในความเป็นไทยแลนด์ ประเทศที่สามารถผลิตอาหาร ให้บริการและส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือการทำให้ซัพพลายเชน มีประสิทธิภาพ ต้องดึงทุกคนให้เติบโตเพื่อไปแข่งในเวทีโลกด้วยกัน” ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ให้มุมอง
ที่มา ไทยรัฐ