“เนตรบุญฟาร์ม” เกษตรกรยุคใหม่ ใช้ Smart Farm ยกระดับการเลี้ยงหมู คอนแทรคฟาร์ม ซีพีเอฟ สร้างอาชีพมั่นคง

การเลี้ยงหมูสำหรับ ‘ชมพูนุท บุญทิม หรือ ใบพลู’ เป็นภาพชินตาที่เห็นและสัมผัสมาตั้งแต่เกิด จนกลายเป็นทักษะอาชีพติดตัวของเธอ หลักจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ พระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อปี 2555 จึงไม่ลังเลที่จะรับมรดกอาชีพที่พ่อแม่สร้างไว้ แต่ด้วยหัวคิดทันสมัยเธอจึงเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงหมูขุน จากเลี้ยงในโรงเรือนเปิด เป็นฟาร์มระบบปิดมาตรฐาน และขยายการเลี้ยงจาก 200-300 ตัว เป็น 3,500 ตัว หลังจากทำฟาร์มหมูที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวจนประสบความสำเร็จ ชมพูนุท ต้องการขยายการเลี้ยงหมูให้ใหญ่ขึ้น สร้างธุรกิจนี้ให้เติบโตขึ้น จึงตัดสินใจร่วมเป็นเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุน (คอนแทรคฟาร์มมิ่ง) กับ ซีพีเอฟ แม้ว่าเมื่อก่อนจะมีความคิดว่าต้องทำธุรกิจเอง เพราะชอบความอิสระ จนอาจเรียกว่าเป็นการตั้งกำแพงในใจก็ได้

“เมื่อเป้าหมายคือการเติบโตและต้องการขยายงานให้ใหญ่ขึ้น บนพื้นฐานความเสี่ยงต้องต่ำ ซีพีเอฟ เป็นบริษัทต้นๆ ที่คิดถึง เพราะตัวเอง “โตมากับซีพี” เนื่องจากที่ฟาร์มของพ่อแม่ก็ซื้อลูกหมูซีพีเลี้ยง ใช้อาหารของบริษัทอยู่แล้ว และอยากพิสูจน์ในสิ่งที่บางคนยังเข้าใจผิดว่าการร่วมธุรกิจกับบริษัทใหญ่เราอาจเสียเปรียบ แต่เมื่อได้ร่วมกับ ซีพีเอฟ แล้ว ก็พิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่คนอื่นคิดนั้นไม่ใช่เลย ในทางกลับกันมีอาชีพมั่นคง รายได้และผลตอบแทนดีเกินกว่าที่คิดไว้ วันนี้นอกจากตัวเองจะประสบความสำเร็จแล้ว คนรอบข้างก็ได้รู้ว่า ซีพีเอฟ สนับสนุนเกษตรกรให้เติบโตไปด้วยกันจริงๆ” ชมพูนุท เกษตรกรรุ่นใหม่ วัย 33 ปี กล่าว

สำหรับการขยายความสำเร็จสู่ “เนตรบุญฟาร์ม” ต.หนองประตู่ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี บนพื้นที่ 47 ไร่ เธอตัดสินใจลงทุนเลี้ยงหมูในเฟสใหญ่ ก่อสร้างโรงเรือน 7 หลัง ความจุหมูขุนรวม 10,500 ตัว เมื่อกลางปี 2565 พร้อมนำระบบฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) มาบริหารจัดการฟาร์ม ทั้งการติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV ในโรงเรือนเลี้ยงและจุดสำคัญอื่น ๆ รอบฟาร์ม มีระบบสั่งการทำงานเปิด-ปิดพัดลม และการทำงานของ Cooling Pad ด้วยระบบอัตโนมัติ ส่วนการให้อาหารใช้ไซโล และกำลังพัฒนาให้มีระบบสั่งการอัตโนมัติที่คาดว่าจะติดตั้งได้ในเร็วๆ นี้ ระบบ Smart Farm มีส่วนสำคัญมากในการผลักดันความสำเร็จ เพราะสามารถจัดการและสั่งการทุกอย่างผ่านโทรศัพท์ กรณีมีปัญหาจะมีข้อความแจ้งเตือนทันที ทำให้การทำงานง่ายขึ้น แก้ปัญหาทันที ทีมงานเข้าแก้ไขอย่างรวดเร็ว และสามารถดูได้ทุกที่ทุกเวลา

“ถ้าไม่มีสมาร์ทฟาร์มชีวิตคงยุ่งยากแน่นอน วันนี้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทกับเกษตรกรมากขึ้น แม้จะลงทุนเพิ่มแต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อตัดสินใจทำสมาร์ทฟาร์มและได้ใช้จริง ๆ ถือว่าคุ้มมาก เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็บริหารจัดการฟาร์มได้ อย่างเช่นตอนที่ไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็สั่งงานข้ามประเทศ ดูการทำงานของระบบและทีมงานได้ ทุกวันนี้ทำงานง่ายมากแค่เพียงมีโทรศัพท์เท่านั้น” ชมพูนุท กล่าว

นอกจากระบบการผลิตอัจฉริยะแล้ว ยังใช้ระบบไบโอแก๊สบำบัดของเสียในการผลิต ได้ก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานสะอาด นำมาปั่นไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม ช่วยลดค่าไฟได้ 50-60% และยังติดตั้งเครื่องแยกกากตะกอนก่อนเข้าระบบไบโอแก๊ส เพื่อลดตะกอนในบ่อหมัก กากตะกอนที่ได้ก็นำไปใช้ในสวนผลไม้ ส่วนน้ำหลังการบำบัดก็แบ่งปันเป็นน้ำปุ๋ยให้เกษตรกรรอบข้าง ช่วยป้องกันปัญหาภัยแล้ง ทำให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้เป็นอย่างดี

สำหรับเคล็ดลับความสำเร็จของชมพูนุท 1.ต้องทำให้งานทั้งหมดเป็นระบบ ต้องทุ่มเทกับงาน ใส่ใจ ดูแลอย่างจริงจัง 2.การสร้างทีมงานแบบใจแลกใจ เพราะทุกคนใหม่หมดไม่มีประสบการณ์เลย จึงต้องสอนกันตั้งแต่เริ่มต้น เรียนรู้ไปด้วยกัน โชคดีที่ทีมงานทุกคนเปิดรับและพร้อมก้าวไปด้วยกัน การผลิตจึงมีประสิทธิภาพดี หมูมีคุณภาพ ความเสียหายน้อย ผลตอบแทนจึงมากตามไปด้วย

“1 ปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์เหนือความคาดหมายหลายอย่าง จริงๆ แล้วไม่ได้ตั้งเป้าหมายเรื่องตัวเลขผลกำไรเลย ขอแค่วางระบบให้เข้มแข็ง แต่ผลที่ออกมาดีกว่าที่คิดไว้มาก เรามีเพื่อนคู่คิดอย่าง ซีพีเอฟ ที่เดินไปด้วยกัน ไม่เคยทิ้งเกษตรกร เวลามีปัญหาผู้บริหาร ซีพีเอฟ ก็ลงมาช่วยดูเองเพื่อร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง จึงอุ่นใจที่บริษัทมาดูแลอย่างใกล้ชิด หากเราทำให้เต็มที่ ความสำเร็จย่อมเกิดกับทั้งตัวเองและบริษัทไปพร้อมๆ กัน WIN – WIN ทั้งคู่ เชื่อว่าอาชีพนี้จะสร้างความมั่นคง วันนี้พ่อกับแม่วางมือแล้วเรียกว่าเกษียณอย่างเกษม โดยให้เราและสามีดูแลกิจการแทนทั้งหมด การเลี้ยงหมูก็จะกลายเป็นมรดกอาชีพให้กับลูกทั้ง 2 คน ได้อย่างแน่นอน” ชมพูนุท กล่าว

ทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างของคอนแทรคฟาร์มเกษตรกรยุคใหม่ที่เปิดรับเทคโนโลยี เปิดใจนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ยกระดับกระบวนการผลิตหมูให้มีประสิทธิภาพและไม่หยุดพัฒนา จนประสบความสำเร็จมีอาชีพที่มั่นคง

 

ที่มา PR CPF