คุณบุญชัย โอภาสเอี่ยมลิขิต ประธานธุรกิจ-สหรัฐอเมริกา เครือซีพี ได้ให้สัมภาษณ์กับพิเศษกับ FoodNavigator-Asia แสดงความเชื่อมั่นว่าการซื้อบริษัท HyLife ซึ่งเป็นผู้ผลิตเนื้อหมูรายใหญ่ที่สุดในแคนาดาจะช่วยให้บริษัทเติบโตได้อย่างมั่นคง ทั้งในอเมริกาเหนือ รวมถึงทั่วโลก
ในปี 2562 CPF เข้าซื้อหุ้นบริษัท HyLife ในสัดส่วน 50.1% คิดเป็นมูลค่า 374 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมี Itochu Corp บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นถือหุ้น 49.9% ซึ่งในการเข้าซื้อธุรกิจ HyLife ของ CPF จึงเป็นการช่วยขยายตลาดเนื้อหมูเข้าไปยังอเมริกาเหนือและญี่ปุ่นไปพร้อมกัน
“การร่วมทุนครั้งนี้ ทำให้เราสามารถส่งออกเนื้อหมูไปทั่วอเมริกาเหนือได้ทันที เนื่องจาก HyLife เป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว และยังช่วยให้เราเข้าถึงตลาดหมูพรีเมี่ยมในญี่ปุ่นผ่านทางช่องทางการตลาดของ Itochu ได้อีกทางหนึ่งด้วย” คุณบุญชัย กล่าว
กลยุทธ์ของ CPF ที่ดำเนินการไปทั้งสองแนวทาง คือ การจัดจำหน่ายเนื้อหมูที่มีการบริโภคเป็นจำนวนมากให้กับตลาดจีนและการขยายตลาดเนื้อหมูพรีเมียมในญี่ปุ่นและเกาหลี
HyLife ผลิตหมูได้ 3.4 ล้านตัวต่อปี และส่งออกไปกว่า 20 ประเทศทั่วโลก โดยในปีที่ผ่านมามีรายได้ประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าตัวเลขในปีนี้จะสูงกว่าเดิม เนื่องจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ African Swine Fever (ASF) โดยเฉพาะในจีนที่เป็นตลาดเนื้อหมูที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทำให้สูญเสียชีวิตสุกรไปมากกว่า 100 ล้านตัว หรือ คิดเป็น 20-25% ของหมูทั้งหมดในประเทศ จึงต้อนำเข้าเนื้อหมู เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชาวจีน
CPF และ Itochu ยังมองเห็นถึงโอกาสในการเจาะตลาดญี่ปุ่น เพราะบรรจุภัณฑ์ Smart Packaging ของ HyLife สามารถเก็บรักษาเนื้อสัตว์ไว้ได้นานถึง 55-60 วัน โดยไม่ต้องแช่แข็ง จึงสามารถส่งผลิตภัณฑ์จากแคนาดาไปยังญี่ปุ่นโดยที่ยังคงความสดใหม่
“ผู้บริโภคส่วนใหญ่ชอบอาหารสดมากกว่าอาหารแช่แข็ง เราสามารถยืดอายุการเก็บรักษาเนื้อหมูจาก 7-8 วัน เป็น 1-2 เดือน ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดออกซิเจนและการปนเปื้อน” คุณบุญชัย กล่าว
สร้างธุรกิจเนื้อหมูแบบครบวงจรในสหรัฐ
CPF มีแผนที่จะพัฒนา ‘ธุรกิจเนื้อหมูแบบครบวงจร’ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกัน ของกลุ่มธุรกิจเนื้อหมูทั้งหมดในอเมริกาเหนือ เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าเนื้อหมู ตั้งแต่ฟาร์มหมูจนถึงการแปรรูปเนื้อหมู
ในช่วงปีที่ผ่านมา HyLife ยังได้ลงทุนในบริษัท ProVista ในแคนาดา และ บริษัท Prime Pork ในสหรัฐอเมริกา ทำให้ HyLife สามารถแปรรูปสุกรได้เพิ่มขึ้นจากปีละ 2 ล้านตัว เป็นปีละ 3.2 ล้านตัว
นอกจากนี้ เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการผลิตเนื้อหมูคุณภาพของซีพีเอฟ รวมถึงการป้องกันโรค ASF โดยเริ่มจากฟาร์มสุกรที่ใช้ระบบ Evaporative Cooling System (EVAP) ที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือน เช่น ความชื้น การระบายอากาศ แสงสว่าง และอื่น ๆ ให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยอย่างเข้มงวดทั้งในสัตว์และพนักงาน ระบบนี้ยังช่วยให้สุกรมีพื้นที่มากพอที่จะเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระด้วย
เดินหน้าฟาร์มกุ้งในอเมริกา
CPF เดิมได้วางแผนเข้าลงทุนทำฟาร์มกุ้งเชิงพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายปี 2563 แต่มีความจำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 และบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับตลาดกุ้งในอเมริกา เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่บริโภคกุ้งมากที่สุดในโลก
ทั้งนี้ โครงการทำฟาร์มกุ้งที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เพื่อเน้นการวิจัยและพัฒนา โดยผลผลิตครั้งแรกของบริษัทฯในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผลิตลูกกุ้งได้ 3.5 ล้านตัว ซึ่งส่วนใหญ่จัดจำหน่ายในอเมริกาและส่งออกไปยังสหภาพยุโรป
“เราต้องการนำผู้เชี่ยวชาญจากไทยและเวียดนามเข้ามาช่วยดูด้านเทคโนโลยีเพื่อการเพาะเลี้ยงกุ้ง แต่ติดข้อจำกัดด้านการเดินทางในช่วงนี้” คุณบุญชัย กล่าว
คุณบุญชัย ย้ำว่า การทำธุรกิจของเครือซีพี ในอเมริกาเหนือ จำเป็นต่อการเติบโตของบริษัท เพราะว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มี GDP ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก ดังนั้นการใช้จ่ายและความต้องการของผู้บริโภคจึงค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีระดับสูงและมีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่ผลิตบุคคลากรคุณภาพป้อนให้กับอุตสาหกรรมอาหารอีกด้วย
Cr. FoodNavigator-Asia/Pr CPF