เป็นอีกหนึ่งรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของชาว CPF ที่คว้ารางวัลเกียรติคุณ Sustainability Disclosure Award 2022 โดย สถาบันไทยพัฒน์ จากการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนปี 2565 ตามมาตรฐานสากลด้วยความโปร่งใส ครบทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การกำกับดูแลกิจการที่ดี และการดูแลชุมชน ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสีย สนับสนุนการดำเนินธุรกิจและพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนในระยะยาว โดยมี ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล และมี คุณสุธี สมุทระประภูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ CPF เป็นตัวแทนบริษัทฯ รับมอบจาก คุณวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปกรุงเทพฯ
รางวัลดังกล่าว สะท้อนความก้าวหน้าและความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของ CPF ที่ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงาน ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานการรายงานสากล GRI และด้าน ESG (Environmental Social and Governance) ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งแสดงถึงความยั่งยืนของธุรกิจ และเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ
CPF ดำเนินธุรกิจสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืนและมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการขับเคลื่อนเป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action ภายใต้ 3 เสาหลัก อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ ประกอบด้วย 9 ความมุ่งมั่น ได้แก่ ด้านอาหารที่ยั่งยืน การทำการตลาดอย่างรับผิดชอบ ด้านสวัสดิภาพสัตว์ สิทธิมนุษยชน เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ผลลัพธ์เชิงบวกทางสังคม การบริหารจัดการทรัพยากรที่เป็นเลิศ การจัดหาอย่างรับผิดชอบต่อโลก และการสร้างคุณค่าปราศจากขยะ ซึ่งสนับสนุนเป้าหมาย SDGs ได้ครบทั้ง 17 ข้อ
นอกจากนี้ CPF ยังดำเนินการเชิงรุกกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรที่ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-Zero) ในปี พ.ศ.2593 โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ แนวทาง BCG Model คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มาใช้ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของไทยและของโลกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
CPF ยังมุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า อาทิ การเคารพสิทธิมนุษยชนและดูแลพนักงานที่สอดคล้องกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพพนักงานทั่วโลกและการแข่งขันทางการค้าที่ยั่งยืนแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน รวมไปถึงการดูแลชุมชนรอบสถานประกอบการให้มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านการส่งเสริมให้พนักงานคิดสร้างสรรค์โครงการที่ดีและจัดประกวดแข่งขันกันในองค์กร เป็นต้น
รางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนในปีนี้ แบ่งเป็น 3 ประเภทรางวัล ได้แก่ รางวัลเกียรติคุณ Sustainability Disclosure Award มีองค์กรที่ได้รับรางวัล 56 แห่ง ประกาศเกียรติคุณ Sustainability Disclosure Recognition มีองค์กรที่ได้รับประกาศเกียรติคุณ 43 แห่ง และกิตติกรรมประกาศ Sustainability Disclosure Acknowledgement มีองค์กรที่ได้รับกิตติกรรมประกาศ 22 แห่ง รวมทั้งสิ้น 121 รางวัล
Cr.PR CPF