CPF สนับสนุน มติคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) เร่งส่งออกไข่ไก่ สร้างสมดุลปริมาณกับการบริโภค หวังสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ทั้งอุตสาหกรรม ช่วยพยุงเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ลดผลกระทบจากปัญหาราคาตกต่ำ
คุณสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส CPF เปิดเผยว่า จากภาวะราคาไข่ไก่ที่ตกต่ำ เนื่องจากการบริโภคที่ลดลงของประชาชน ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ห้างร้าน ร้านอาหาร และตลาดบางแห่งต้องปิดทำการ การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ส่งผลให้ราคาไข่ไก่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร อยู่ที่ฟองละ 2.50 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ ในไตรมาสที่ 1/2564 (มกราคม-มีนาคม) เฉลี่ยสูงขึ้นฟองละ 2.66 บาท และคาดว่าจะมีแนวโน้มต้นทุนที่สูงขึ้น จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งกากถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง
ปัญหาภาวะขาดทุนดังกล่าว ส่งผลต่อเกษตรกรทุกระดับ ทั้งฟาร์มเล็ก กลาง และผู้ประกอบการรายใหญ่ ภาครัฐโดยเอ้กบอร์ด จึงมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดและราคาตกต่ำ ด้วยการออกมาตรการเร่งผลักดันไข่ส่วนเกินภายในประเทศ 100 ล้านฟอง โดยส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ (ภาคสมัครใจ) ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับจากเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2564 โดยใช้งบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร มาสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้ 50 ล้านบาท และให้เกษตรกรสมทบอีก 100 ล้านฟอง รวมเป็น 200 ล้านฟอง
“CPF ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมไข่ไก่ ยินดีให้ความร่วมมือและพร้อมสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้อย่างเต็มที่ โดยผลักดันการส่งออกในเฟสแรกรวม 60 ล้านฟอง (185 ตู้) บริษัทจะส่งออก 16 ล้านฟอง (50 ตู้) แม้ว่าการส่งออกจะต้องขาดทุนถึงฟองละ 40-50 สตางค์ ก็ตาม แต่บริษัทฯ ก็ยินดี เพื่อสร้างสมดุลระหว่างปริมาณการผลิต ให้สอดคล้องกับการบริโภคของประชาชน ช่วยให้เกิดเสถียรภาพราคาไข่ไก่ทั้งอุตสาหกรรม ขอเชิญชวนผู้ประกอบการรายอื่นๆ ร่วมกันสนับสนุนโครงการนี้ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศที่ประสบปัญหาขาดทุน ทำให้มีรายได้ที่ดีขึ้น สามารถต่อยอดอาชีพเดียวที่มีให้ก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” คุณสมคิด กล่าว
Cr.PR CPF