CPF บูรณาการหลักการ BCG ร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

CPF เสนอแนวทางการดำเนินธุรกิจ ภายใต้กลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนใหม่ “2030 Sustainability in Action” เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน รับเทรนด์ความต้องการอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารในอนาคต ในการสัมมนาความร่วมมือระดับทวิภาคี งาน 2021 Taiwan-Thailand Circular Agriculture Business Forum : Bio-Circular-Green Agriculture for Regional Sustainable Development เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ โดยเฉพาะการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคการเกษตร ระหว่างภาครัฐและเอกชนของทั้ง 2 ประเทศ และสร้างโอกาสทางธุรกิจของแต่ละประเทศอย่างยั่งยืน
ในปีนี้ ไต้หวันเป็นเจ้าภาพจัดประชุมแบบออนไลน์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 170 คน และได้รับเกียรติจาก Dr. Chin-Cheng Huang รมช.สภาการเกษตร ไต้หวัน พร้อมด้วย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัด ก.เกษตรฯ และ Mr. Herbert Hsu รองประธานสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงาน
ภายในงาน คุณจีระณี จันทร์รุ่งอุทัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความยั่งยืนองค์กร CPF ร่วมเป็น Key-note Speaker ในหัวข้อ “Trend of BCG Development of Agriculture Sector in Thai Market” นำเสนอการขับเคลื่อนธุรกิจของ CPF ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืนใหม่ Sustainability in Action เพื่อเป็นแนวทางในการเดินหน้าความยั่งยืนของบริษัทฯ ทั้งในไทยและกิจการในต่างประเทศให้เป็นในทิศทางเดียวกัน
คุณจีระณี กล่าวว่า CPF ปรับระบบการผลิตรอบด้านให้รองรับความต้องการบริโภคอาหารของมนุษย์ ที่ให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพดีและอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงเพิ่มขึ้นที่มาจากระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน ซึ่งนอกจากความปลอดภัยของอาหารแล้ว ยังคำนึงถึงที่มาของวัตถุดิบในการผลิตอาหาร ต้องมาจากแหล่งที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาจากกระบวนการผลิตด้วย ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องปรับเปลี่ยนนำระบบการผลิตแบบดิจิทัลมาใช้เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
CPF บูรณาการหลักการเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG) มาใช้บริหารจัดการธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์การผลิต การบริโภค และการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งบริษัทฯ มีนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ การจัดหาอย่างถูกกฎหมายและตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ตลอดจนกำหนดเป้าหมายในการเดินหน้าจัดหาวัตถุดิบโดยปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าและตรวจสอบย้อนกลับได้ 100% ในปี 2573 การนำระบบอัตโนมมัติ (Automation) Smart Farm และ Smart Factory มาใช้เพิ่มประสิทธิการผลิต ลดการสูญเสีย และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด ตลอดจนมุ่งมั่นใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบของไบโอแก๊ส ไบโอแมส และโซล่าร์เซล เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็น 26% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของบริษัทฯ หรือประมาณ 2.83 ล้านกิกะจูล ในปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันบรรจุภัณฑ์พลาสติกของบริษัทฯ สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ นำมาใช้ใหม่ และย่อยสลายได้ 99.99% โดยมีเป้าหมายดำเนินการครบ 100% ในปี 2573 รวมถึงการบริหารจัดการระบบขนส่งให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดพื้นที่ว่างระหว่างการขนส่งให้น้อยที่สุด และกำลังพิจารณาเปลี่ยนรถขนส่งไปใช้รูปแบบที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุด รวมถึงเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ปลูกจาก 10,000 ไร่ เป็น 20,000 ในปี 2573 ซึ่งจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 200,000 ตัน และมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์สีเขียวจาก 32% ในปัจจุบัน เป็น 40% ในปี 2573 เช่นกัน
นอกจากนี้ CPF ยังจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนพนักงานและผู้บริโภคให้มีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้และลดขยะอาหาร เพื่อรณรงค์การมีส่วนร่วมในระดับบุคคล ลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน
ในการสัมมนาครั้งนี้ ทั้ง 2 ประเทศ ยังได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาไปสู่การเกษตรสีเขียว ตามหลักการ BCG เช่น การวิจัยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จากเมล็ดกาแฟ ชา เส้นใยจากกล้วย สามารถนำกาก และส่วนที่เหลือไปพัฒนาเป็นปุ๋ยจากกากกาแฟ วัสดุสำหรับหมอนหนุนจากกากชาอัดเม็ด เชือกรองเท้าจากเชือกกล้วย โดยไม่ทิ้งเป็นขยะไปสู่หลุมฝังกลบ
Cr.PR CPF