CPF ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “การพัฒนานวัตกรรม” ให้คณาจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ ม. เกษมบัณฑิต

CPF RD Center ได้รับเชิญจาก คณะพยาบาลศาสตร์ ม.เกษมบัณฑิต ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการวิจัยเชิงพาณิชย์ โดยมี ดร.สุดารัตน์ เล็ดลอด หัวหน้าทีมวิจัยและพัฒนาอาหาร CPF RD Center แชร์ประสบการณ์ ในหัวข้อ “แนวคิดการผลิตนวัตกรรมเพื่อการพาณิชย์” เป็นตัวแทน CPF ในงานการจัดการความรู้ ประจำปีการศึกษา 2566 ที่จัดขึ้นในรูปแบบการประชุมออนไลน์ ผ่าน Zoom
ดร.สุดารัตน์ กล่าวถึงการพัฒนานวัตกรรมว่าเกิดได้ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมิติสำคัญประกอบด้วย ความใหม่ (Newness) ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ (Economic Benefits) และการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ (Knowledge and Creativity Idea) โดย CPF พัฒนานวัตกรรมหรือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในค่านิยมองค์กร CPF Way
พร้อมกันนี้ ยังแลกเปลี่ยนความเห็นถึงกระบวนการสร้างนวัตกรรมมาจากการวิจัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เริ่มจากการวิเคราะห์ปัญหา (painpoints) หรือความต้องการของลูกค้า ซึ่งการเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้งมีความสำคัญมาก เพื่อจะได้ปัญหาและนำมาออกแบบการวิจัย และสามารถออกแบบจนได้ตัวนวัตกรรมต้นแบบ (prototype) มีการทดสอบและปรับปรุงหลายรอบ ก่อนนำไปทดสอบกับตลาดจริง นอกจากนี้การวิจัยเพื่อต่อยอดสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ จะมีการสอดแทรกการศึกษาความเป็นไปได้ทั้งการลงทุน ระยะการคืนทุน เพื่อให้ได้นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้
CPF RD Center พัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ (Health & Wellness) โปรตีนทางเลือก และเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อกุ้ง โดยมีนวัตกรรมที่โดดเด่น อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช Meat Zero จากนวัตกรรม Plant-Tec ที่คิดค้นโดยบริษัทฯ ร่วมกับสถาบันวิจัยระดับโลก ช่วยตอบโจทย์ปัญหาผู้บริโภคไม่ต้องการกลิ่นหรือรสชาติพืชในผลิตภัณฑ์อาหาร จึงคิดค้นนวัตกรรมที่ทำให้ Meat Zero มีรสชาติและเนื้อสัมผัสเหมือนเนื้อสัตว์มากที่สุด
ผลิตภัณฑ์บิฟิโอ โปรไบโอติก พลัส (BIFIO Probiotic Plus) อาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ปรับสมดุลลำไส้ จุลินทรีย์ “โปรไบโอติก” ที่ค้นคว้าและวิจัยในคนเอเชีย และพรีไบโอติก ซึ่งเป็นอาหารชั้นดีของโปรไบโอติก ตอบโจทย์ผู้บริโภคมีปัญหาเรื่องย่อยอาหาร เป็นผลิตภัณฑ์ได้รางวัลเหรียญทองแดง จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ก.การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2564 (Research Expo 2021) และได้รับรางวัล “ชีวจิต Awards 2021” สาขา Innovation Reader’s vote และ Guru’s Pick
นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมตอบโจทย์ความต้องการและปัญหาในองค์กร เป็นชุดทดสอบเชื้อที่ปนเปื้อนในอาหาร ที่ใช้งานง่ายขึ้น สะดวก และตรวจได้หลายเชื้อ ต้นทุนในการผลิตลดลง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการดำเนินงาน ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและผู้บริโภค
ดร.สุดารัตน์ สรุปว่า สิ่งสำคัญของการวิจัยเพื่อต่อยอดนวัตกรรมที่ช่วยสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจนั้น บุคลากรต้องมี mindset คิดค้นหาปัญหา และต้อง focus มุ่งหาปัญหาหรือความต้องการของลูกค้า รวมไปถึงการสร้างพันธมิตร partnership เพื่อให้งานวิจัยประสบความสำเร็จและต่อยอดสู่ภาคธุรกิจได้ ขณะเดียวกัน นโยบายขององค์กรก็มีความสำคัญช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานและนวัตกรขององค์กรมีการศึกษาวิจัยเพื่อตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของธุรกิจได้
พร้อมกันนี้ ดร.สุดารัตน์ ได้ตอบข้อซักถามจากคณาจารย์ ในประเด็นการสร้างจุดเด่นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ CPF โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพจนเป็นที่ยอมรับว่า ต้องสร้างความน่าเชื่อถือและความแตกต่าง รวมไปถึงการออกแบบแพ็กเกจที่ดึงดูดลูกค้า
นอกจากนี้ CPF RD Center ยังเปิดกว้างร่วมมือกับสถาบันวิจัย ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงสตาร์ทอัพทั่วโลก ภายใต้แนวคิด Open Innovation เพื่อพัฒนานวัตกรรมอาหารออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันร่วมโครงการ Corporate Spark 2021 ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. เพื่อบ่มเพาะสตาร์ทอัพจากประเทศอิสราเอล โดย CPF คัดเลือกสตาร์ทอัพ 2 ราย เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจากพืช ตั้งแต่พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีงานวิจัยรองรับ ไปจนถึงการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป
Cr.PR CPF