โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ จ.สระบุรี ให้ความสำคัญต่อสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานในระดับสูงสุด และให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรวจเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้รับการยืนยันว่ามีพนักงานติดเชื้อจํานวนหนึ่ง โรงงานจึงได้ดำเนินการ ดังนี้
ด้านพนักงาน : ตรวจคัดกรองพนักงานทั้งหมดทุกคนและส่งตัวผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษา แยกผู้เสี่ยงสูงเข้ากักตัวในสถานที่ที่สาธารณสุขจัดให้เป็นเวลา 14 วัน พร้อมตรวจยืนยันโรค 2 ครั้ง ส่วนผู้เสี่ยงต่ำให้กักตัวที่บ้านสังเกตอาการตลอดช่วง 14 วันเช่นกัน โดยปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของพนักงาน ทั้งนี้ พนักงานผู้ติดเชื้อเป็นผู้ปฏิบัติงานในส่วนที่ไม่ได้สัมผัสผลิตภัณฑ์อาหารโดยตรง และในขณะปฏิบัติหน้าที่ทุกคนจะสวมชุดฟอร์ม หน้ากากอนามัยและผ้าปิดปากปิดจมูกอย่างมิดชิด ซึ่งช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อลงได้มาก
ด้านสถานที่ : ได้หยุดการดำเนินงานในพื้นที่ที่ผู้ติดเชื้อปฏิบัติงานทันที เป็นเวลา 5 วันและทําความสะอาด Big Cleaning พร้อมพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทันที ตามมาตรการของ ก.สาธารณสุข ทั้งนี้ เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจปนเปี้อนในสิ่งแวดล้อมของโรงงาน และต้องตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการว่าปราศจากเชื้อโรค ตลอดจนเพื่อคัดกรองพนักงานที่มีผลการตรวจโควิดเป็นลบเข้ามาปฏิบัติงาน ด้วยสถานที่ที่ปลอดเชื้อและพนักงานที่ปลอดโรค ทำให้กระบวนการผลิตจะดำเนินต่อได้อย่างปลอดภัย
Cr: ภาพ FB MissGreen
บริษัทฯ ได้ดําเนินการยกระดับมาตรฐานด้านสุขอนามัยขั้นสูงสุด เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับพนักงานและผลิตภัณฑ์ของโรงงานอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม โรงงานชำแหละเนื้อไก่แห่งนี้เป็นเพียง 1 ใน 19 แห่งของบริษัทฯ ซึ่งทุกแห่งยังคงดำเนินการผลิตอาหารอย่างต่อเนื่อง ภายใต้มาตรการป้องกันโรคของ ก.สาธารณสุข อย่างเคร่งครัด ด้วยตระหนักถึงความปลอดภัยของพนักงานและผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นเป็นสำคัญ ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทฯ
สำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อไก่จากของบริษัทมีการสุ่มตรวจเชื้อทุกครั้ง และไม่เคยพบการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 เนื่องจากภายในกระบวนการผลิตมีระบบป้องกันโรคอย่างรัดกุม อาทิ พนักงานต้องเปลี่ยนชุดฟอร์มและสวมหน้ากาก รวมถึงมีผ้าปิดปากปิดจมูกอย่างมิดชิด ล้างมือ และเว้นระยะห่าง และไม่มีการพูดคุยกันขณะปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นไปตามหลักการของกระทรวงสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลเพิ่มเติมจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชายเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันไว้ก่อนหน้านี้ว่า มีงานวิจัยชี้ชัดว่าไวรัสตัวนี้ไม่ติดในหมู ไก่ เป็ด หรือปศุสัตวือื่นๆ ประชาชนสบายใจได้ในการบริโภคเนื้อสัตว์เหล่านี้ แต่ขอเน้นย้ำว่าต้องปรุงให้สุก สะอาด ไม่แนะนำให้ทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ในช่วงนี้เด็ดขาด การทานอาหารที่ปรุงสุกความร้อนจะฆ่าไวรัวได้ทุกชนิดรวมทั้งโควิด-19
กรมปศุสัตว์ มีมาตรฐานผลิตอาหารเข้มงวด มั่นใจอาหารปลอดภัย สินค้าปลอดโควิด
ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงกรณีที่มีสื่อรายงานว่า พบพนักงานในโรงงานชำแหละไก่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากทางผู้ประกอบการได้ร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขในการตรวจค้นหาเชื้อเชิงรุก เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และได้รับการยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่ง โดยผู้ที่ติดเชื้อและผู้ที่อยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยง ได้ถูกคัดแยกออกเพื่อเข้ารับการรักษาและกักตัวเพื่อสังเกตอาการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และบริษัทฯ ที่เกี่ยวข้อง ได้หยุดการผลิตพร้อมทั้งทำความสะอาดและฆ่าเชื้อทันที รวมทั้งสุ่มเก็บตัวอย่าง (swab) และตามพื้นที่ที่เกี่ยวข้องแล้วไม่พบว่ามีเชื้อไวรัสหลงเหลืออยู่ กรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยอาหาร โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น โดยกรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการป้องกันโรคโควิดในโรงงาน และตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวด ตั้งแต่การรับวัตถุดิบ การเตรียมวัตถุดิบ การแปรรูป การเก็บรักษา และการขนส่งสินค้าเพื่อป้องกันการปนเปื้อน
อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ได้ส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่เพื่อส่งออก เพื่อทำหน้าที่เป็นพนักงานตรวจโรคสัตว์และกำกับดูแลการผลิตเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดตามหลักสุขอนามัยที่ดีมาโดยตลอด รวมถึงกำชับให้เจ้าหน้าที่ของโรงงานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 กรมปศุสัตว์ได้จัดทำแผนสุ่มตัวอย่างเนื้อสัตว์ในโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์เพื่อการส่งออก และจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตามตลาดสดเพื่อสุ่มเก็บตัวอย่าง โดยเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ไปแล้ว จำนวน 2,251 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างไม่พบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19หากพบสินค้าที่มีความเสี่ยงหรือปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 กรมปศุสัตว์จะไม่อนุญาตให้จำหน่ายหรือส่งออก
ดังนั้น จึงขอให้มั่นใจว่าเนื้อไก่มีความปลอดภัยไม่ปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 อย่างแน่นอน โดยผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากร้านค้าที่ได้รับการตรวจสอบและรับรอง เช่น ร้านค้าที่มีป้ายตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK ซึ่งได้รับการรับรองโดยกรมปศุสัตว์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังต้องนำเนื้อไก่ไปผ่านกระบวนการความร้อนจนสุกก่อนรับประทาน ซึ่งเป็นระดับความร้อนที่สามารถทำลายเชื้อไวรัสโควิด-19 และเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการรับประทาน
ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ กลุ่มตรวจสอบมาตรฐานด้านการปศุสัตว์ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ (สพส.) กรมปศุสัตว์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-653-4444 ต่อ 3134
ที่มา : CPF และ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ (30 พฤษภา