โรงงาน CPF ป้องโควิด-19 เข้มผลิตอาหารปลอดภัยต่อเนื่อง

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทั้งในด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจและสังคม ข้อมูล ณ 12 พฤษภาคม 2563 มีผู้ป่วยติดเชื้อถึง 4.25 ล้านคน เสียชีวิต 2.87 แสนคน คนตกงานมหาศาล และอาจลุกลามไปถึงปัญหาการขาดแคลนอาหาร เนื่องจากธุรกิจเกี่ยวเนื่องหลายอย่างไม่สามารถขับเคลื่อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่มีแนวโน้มควบคุมสถานการณ์การระบาดได้

สหรัฐ มีผู้ติดเชื้อสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ที่ 1.38 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นพนักงานของโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์และอาหารมากกว่า 6,500 คน และเสียชีวิตแล้ว 20 คน ส่งผลให้โรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อาทิ ไทสันฟู้ดส์, สมิธฟิลด์ฟู้ดส์, คาร์กิลล์, และเจบีเอสยูเอสเอ ต้องปิดโรงงานหลายแห่งชั่วคราว และแม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะประกาศห้ามโรงงานเหล่านี้หยุดสายพานการผลิต แต่พนักงานของบริษัทเหล่านี้ก็ไม่มีความเชื่อมั่นพอที่จะออกจากบ้านมาทำงาน กระทบถึงปริมาณผลผลิตเนื้อสัตว์ในสหรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จอห์น เอช ไทสัน ประธานบริษัท ไทสันฟู้ดส์ จำกัด ถึงกับกล่าวว่าห่วงโซ่การผลิตอาหารกำลังจะขาดและเตือนว่าอาจจะมีการขาดแคลนเนื้อสัตว์ สอดคล้องกับ ซีอีโอ ของบริษัท สมิธฟิลด์ ที่ระบุว่าการปิดโรงงานของบริษัทต่างๆในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ กำลังทำให้สหรัฐฯเข้าใกล้ปัญหาการผลิตเนื้อสัตว์ครั้งใหญ่

สิ่งเหล่านี้อยู่ในสายตาของ คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟ หรือ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของไทย ซึ่งรับรู้เสมอว่าภารกิจหลักของบริษัทคือการผลิตอาหารปลอดภัยให้เพียงพอต่อความต้องการอาหารของคนไทย แม้ในยามวิกฤตที่มีการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน แต่จะทำอย่างไรให้คนงานในโรงงานของซีพีเอฟ ไม่กังวลกับการมาทำงาน

“แม้ระบบการผลิตอาหารของเราจะดีทั้งหมด แต่ถ้าไม่มีคนทำงาน ทุกอย่างก็จบเช่นกัน แม้พนักงานทุกคนจะรู้หน้าที่ตัวเองว่าต้องทุ่มเทในภาวะที่บริษัทต้องผลิตอาหารเพื่อคนไทยอย่างเพียงพอ แต่ทุกคนก็มีความกลัว แล้วบริษัทจะบริหารความกลัวของพนักงานได้อย่างไร ให้เขารู้สึกปลอดภัยและมั่นใจในการมาทำงาน… ดังนั้น เราจึงยกระดับเรื่องสุขอนามัยขึ้นเป็นระดับสูงสุด” ประสิทธิ์กล่าว

ซีพีเอฟสร้าง “ศูนย์อำนวยการโควิด19” ขึ้นมาตั้งแต่ช่วงที่จีนเกิดการระบาด โดยวางมาตรการต่างๆที่เคร่งครัด รวมถึงประสานให้ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสมาเป็นที่ปรึกษาของศูนย์ฯ จัดเตรียมแม้กระทั่งจิตแพทย์ เพื่อดูแลความเครียดให้พนักงาน ตลอดจนลดความเสี่ยงทุกอย่างเท่าที่ทำได้

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อความเสี่ยงของพนักงานคือเรื่องการเดินทาง บริษัทจึงช่วยให้พนักงานหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยรถสาธารณะ ด้วยการเพิ่มจำนวนรถรับส่งพนักงานฟาร์มและโรงงาน ให้นั่งห่างกันตามหลัก Social Distancing ก่อนขึ้นรถจะมีการวัดอุณหภูมิพนักงานทุกคน ต้องล้างมือด้วยเจล สวมหน้ากาก และก่อนลงจากรถก็ต้องวัดอุณหภูมิและล้างมือด้วยเจลอีกครั้ง ก่อนเข้าโรงงานพนักงานก็จะต้องเดินผ่าน Walk-through body temperature scanner เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพนักงานทุกคนไม่มีไข้

จุดเสี่ยงสูงสุดอีกจุดหนึ่ง คือโรงอาหาร บริษัทจึงเพิ่มเวลารับประทานอาหารให้เป็น 2 ชม. นอกจากนี้ยังลงรายละเอียดถึงจุดเครื่องปรุง เพราะทุกคนจับเครื่องปรุงจึงเพิ่มมาตรการให้มีคนยืนเฝ้าให้ทุกคนล้างมือด้วยเจลก่อนจับเครื่องปรุง ตลอดจนให้มีการสเปรย์แอลกอฮอล์ที่ปุ่มกดน้ำดื่ม เพื่อทำความสะอาดตลอดเวลา

โชคดีที่ระบบของซีพีเอฟมีมาตรฐานการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดเป็นกิจวัตร ขณะที่คือชุดฟอร์มของการทำงานในโรงงานนั้นรัดกุม มีหน้ากากมีหมวก ส่วนฟาร์มก็เข้มงวดถึงขั้นอาบน้ำก่อนเข้าฟาร์ม รวมไปถึงข้อดีมากๆ อีกอย่างคือระบบ Bio Security System และระบบอัตโนมัติที่ลดการปนเปื้อนมือคน ลดโอกาสการแพร่เชื้อของคนได้มากที่สุดของซีพีเอฟติดเชื้อโควิดเลยแม้แต่รายเดียว ประชาชนคนไทยจึงมั่นใจได้ว่า CPF จะไม่หยุดสายพานการผลิต และจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยดังเช่นในสหรัฐอเมริกา

คุณประสิทธิ์ ทิ้งท้ายว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ “ศักยภาพของกระทรวงสาธารณสุขไทย” เมื่อระบบสาธารณสุขใหญ่ของประเทศคุมการกระจายของเชื้อได้ดี กระบวนการบริหารจัดการของบริษัทอาหารอย่างซีพีเอฟจึงเป็นไปด้วยดีด้วย การที่รัฐบาลทำความเข้าใจกับประชาชนได้ดีในทุกระดับเช่นนี้ และคนไทยสามารถรักษาพฤติกรรมการรักษาระยะห่างและล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เชื่อว่าทุกคนจะดำเนินชีวิตและธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมโควิด19ได้อย่างปลอดภัย รวมถึงธุรกิจอาหารที่จะดำเนินงานต่อได้อย่างราบรื่น ไม่เกิดภาวะขาดแคลน

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ