“หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า” ในพื้นที่อำเภอพนมมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จากพื้นที่รกร้างว่างเปล่า และมีความแห้งแล้ง เกษตรกรประสบปัญหาความยากจน มาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 40 ปี ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้าไปช่วยพัฒนาพลิกฟื้นผืนป่า พัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพ จนทำให้พื้นที่ 1,200 ไร่ มีความอุดมสมบูรณ์ ชุมชนมีความเข้มแข็ง หาเลี้ยงชีพด้วยการทำการเกษตรจากรุ่นสู่รุ่น หลุดพ้นจากปัญหาความยากจน และกลายเป็นชุมชนต้นแบบของการพัฒนา ภายใต้ชื่อ “โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า”
จากจุดเริ่มต้น สู่การพัฒนา สู่ความสำเร็จกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง อะไรคือปัจจัย และจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณภักดี ไทยสยาม หรือ คุณหมอตั้ม ประธานกรรมการ บริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด ซึ่งได้ เล่าถึงจุดเริ่มต้นโครงการสู่การเป็นชุมชนต้นแบบ
“ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ที่นี่เป่นที่ดินรกร้างว่างเปล่า มันสำปะหลัง เป็นพืชชนิดเดียวที่ปลูกได้ เกษตรกรในยุคนั้นเดือดร้อน ยากจน ไม่รู้จะไม่ปลูกอะไร และเมื่อซีพี โดยท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ เข้ามา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยท่านได้น้อมนำเอากระแสพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการปฏิรูปที่ดินมาทำให้เกิดผลจริง โดยร่วมมือกับภาครัฐ เกษตรกร และสถาบันการเงิน คัดเลือกเกษตรที่ยากจนแต่อยากเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นจำนวน 50 ราย ” คุณหมอตั้ม เล่าให้ฟัง
เมื่อทั้ง 50 ครอบครัวตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวข้ามความยากจน ทุกครอบครัวจะได้รับการจัดสรรที่ดินรายละ 24 ไร่ เพื่อเป็นที่ดินทำกินพร้อมเงินลงทุน จากการกู้เงินจากสถาบันการเงิน วงเงินกู้รวมทั้งหมดในขณะนั้นเท่ากับ 17.8 ล้านบาท โดยซีพีเป็นผู้ค้ำประกันให้ทั้งหมด พร้อมทั้งเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ และองค์ความรู้ด้านการการเกษตรรวมทั้งการส่งเสริมอาชีพ
“ตอนนั้น เกษตรกรไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาลงทุน จะไปกู้เงินก้ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็ได้ซีพี มาช่วยค้ำประกันให้เรา ตอนนั้นพวกเรามีเพียงเสื่อผืน หมอนใบเดินเข้าร่วมโครงการ ได้รับที่คนละ 1 แปลง 24 ไร่ ซีพีเข้ามาให้คำแนะนำจัดสรรการใช้ประโยชน์พื้นที่ โดยแบ่งเป็นโรงเรือนเลี้ยงหมูและบ้านพัก 4 ไร่ และซีพีจะนำหมูแม่พันธุ์ 30 ตัว ให้เกษตรกรเลี้ยง เพื่อผลิตลูกหมูมาขายคืนให้โครงการฯ ส่วนอีก 20 ไร่ เป็นสวนเกษตร สวนไม้ผล”
“ช่วงระยะเวลาเพียง 10 ปี จากปี 2520 ที่เราเข้าร่วมโครงการมาจนถึงปี 2530 เกษตรกรสามารถส่งคืนเงินต้น พร้อมส่งดอกเบี้ยเงินกู้คืนให้สถาบันการเงินได้ทั้งหมด จากนั้นทุกคนได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดิน โรงเรือน และบ้านพัก มาเป็นของตนเอง เป็นที่อยู่ที่อาศัย และเป็นที่กินมาจนถึงทุกวันนี้ ” หมอตั้มย้อนรำลึกถึงความสำเร็จครั้งแรกของโครงการ
ในวันนั้น นอกจากคุณหมอตั้มแล้วเรายังได้พบกับ คุณสุเชษฐ์ บัวลพ เกษตรกรรุ่นแรกที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 จากไม่มีทรัพย์สินติดตัว บ้านเป็นกระท่อมหลังคามุงจาก ทำงานรับจ้างได้ค่าแรงวันละ 12 บาท ปัจจุบันสามารถสร้างหลักฐานมั่นคง ส่งลูกเรียนจบปริญญา และมีทรัพย์สินที่ดินทำกินไปชั่วลูกชั่วหลาน อะไร??? คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญ
“ตอนนั้นจนมาก จนจริงๆ ไม่มีบ้าน ไม่มีเงินทำกิน เมื่อเขามารับคนเข้าร่วมโครงการ ผมเลยตัดสินใจเข้าร่วม ตอนนั้นผมเข้าเกณฑ์ทุกอย่าง ยากจน ไม่มีเงิน ไม่มีบ้าน ซึ่งจากวันนั้นถึงวันนี้ ถ้าซีพีไม่ให้โอกาสก็ไม่มีผมวันนี้ ซีพีเหมือนเป็นพ่อคนที่ 2-3 ของผม เขาให้อาชีพเราจนถึงวันนี้”
ปัจจุบัน โครงการเกษตรกรรมหนองหว้า ได้จัดตั้งเป็นบริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด มีสมาชิกทั้งหมด 30 ครัวเรือนซึ่งยังประกอบอาชีพเกษตรกรและร่วมเดินหน้าพัฒนาวิถีเกษตรกรรมด้วยองค์ความรู้พร้อมเทคโนโลยีอย่างมุ่งมั่นไปกับซีพี และมีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณภัทรมนต์ ไทยสยาม (หมอเอย) ลูกสาวของหมอตั้ม
คุณหมอเอย คือ รุ่นทีสองของชุมชนเกษตรกรรมหนองหว้า เธอเรียนจบหมอ แต่มีความผูกพันและรักในอาชีพเกษตร เธอจึงกลับมาสู่อาชีพวิถีดั้งเดิมของครอบคัว โดยสนใจในเรื่องของเกษตรสุขภาพ ซึ่งในวันนั้น คุณหมอเอย ได้เล่าย้อนชีวิตในวันเด็กของเธอเมื่อ 30 ปีก่อนให้เราฟัง
“สมัยนั้นยังเป็นถนนลูกรัง บ้านทุกหลังยังเป็นชั้นเดียว ความเจริญไม่ต้องพูดถึงเพราะยังไม่เข้ามาตอนนั้นส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว แต่สิ่งที่สัมผัสได้คือ เราอยู่กันเป็นกลุ่ม พวกเรารู้จักกันหมดทั้งหมู่บ้าน ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก มีถนนเข้ามาถึงที่นี่เป็นลาดยาง ทุกบ้านมีรถยนต์ รถเก๋ง บางบ้านมี 1-3 คัน แสดงว่าคุณภาพชีวิตพวกเขาดีขึ้น ครอบครัวขยายใหญ่ขึ้น ลูกหลานของทุกบ้านเรียนระดับปริญญาตรีขึ้นไปทั้งหมด ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ดีขึ้นทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ”
ปัจจุบัน หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้ามีการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องมาตลอด 43 ปี และยังเป็นชุมชนเลี้ยงสุกรที่ทันสมัยสุดในประเทศไทย สมาชิกในชุมชนมีความเป็นปึกแผ่น และมุ่งมั่นสืบทอดอาชีพอย่างมั่นคงยั่งยืน กลายเป็นโมเดลตัวอย่างที่หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศต่างให้ความสนใจมาศึกษาดูงาน เรียนรู้เทคโนโลยีการเลี้ยงสุกรที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหมู่บ้านต้นแบบที่สร้างเกษตรกรไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง