รถไฟความเร็วสูง : เศรษฐกิจระบบราง ตัวช่วยเปิดทางเชื่อมโลกให้ไทยแล่น

หนึ่งในโครงการสำคัญที่จะยกระดับประเทศใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ให้ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลง มีอนาคตที่เท่าทันโลก คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นโครงการปรับฐานสาธารณูปโภคครั้งสำคัญที่จะช่วยสร้างศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต-สังคมให้ทันโลกยุคใหม่ด้วย ‘เศรษฐกิจระบบราง’

รถไฟความเร็วสูงจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิทัศน์และการพัฒนาประเทศ ช่วยปรับลดต้นทุน เวลาการเดินทาง การคมนาคม และโลจิสติกส์ลงมหาศาล ก่อให้เกิดห่วงโซ่การพัฒนาแนวใหม่จากการปรับตัวและการตั้งถิ่นฐานยุคใหม่ การค้าการลงทุน การจ้างงาน การเติบโตและการขยายตัวของเมือง ซึ่งส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีนัยสำคัญ!

ประเทศที่มีความก้าวหน้าทั้งในโลกตะวันตกและในภูมิภาคเอเชีย มีประสบการณ์ในการใช้รถไฟความเร็วสูงปรับฐานเศรษฐกิจและสร้างความก้าวหน้าให้ประเทศ ต่างได้รับผลการพัฒนาที่ดีจาก เศรษฐกิจระบบราง ทั้งสิ้น! โดยเฉพาะ ประเทศจีน น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาการคมนาคมทางรางเชื่อมต่อเมืองต่างๆ ทั่วประเทศซึ่งช่วยปรับลดความเหลื่อมล้ำด้วยการพัฒนาได้ และไม่ปล่อยความเจริญให้กระจุกตัวเติบโตเฉพาะในเมืองใหญ่แบบโดดๆ ซึ่งหลายประเทศที่ประสบปัญหานี้ก็ต้องทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อแก้ไข เหมือนกับไทยที่ต้องแบกรับภาระการเติบโตของมหานครแออัดอย่างกรุงเทพฯ ต้องใช้งบประมาณมหาศาลแก้ไขสารพัดปัญหามาจนทุกวันนี้!

ที่จริงรถไฟความเร็วสูงของไทยนั้นมีการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม กรุงเทพฯ-สุวรรณภูมิ-ระยอง ได้เริ่มศึกษาตั้งแต่ปี 2537 แต่ก็เพิ่งจะเป็นจริงได้ในรัฐบาลที่ผ่านมา ด้วยเหตุว่าการรถไฟไทยเติบโตและพัฒนาช้ามากๆ แม้จะเป็นประเทศแรกๆ ในเอเซียที่มีรถไฟก่อนใคร ตั้งแต่ช่วงเวลาที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงตั้งกรมรถไฟขึ้นและพัฒนากิจการรถไฟเมื่อปี พ.ศ. 2433

การรถไฟไทยพัฒนาไปอย่างช้ามาก หลายประเทศอย่างจีน ญี่ปุ่น ซึ่งในอดีตต้องมาดูงานรถไฟที่ประเทศไทย ปัจจุบันต่างก็ก้าวรุดหน้าไปมาก การศึกษารถไฟความเร็วสูงจึงเป็นเรื่องความต้องการและความจำเป็นในที่สุด ที่จะช่วยพัฒนากิจการรถไฟให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก!

รถไฟความเร็วสูง เป็นระบบคมนาคมโลจิสติกส์หลักที่เชื่อมเมืองแต่ละเมือง โดยจะมีระบบการคมนาคมย่อยเชื่อมต่อเส้นทางย่อยจากสถานีหลักเข้าไปในเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจระบบรางจะเป็นการยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ-ลดต้นทุนการคมนาคมขนส่งกับเวลาได้สูงมาก และจะช่วยสร้างมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกมาก

จากการศึกษาเศรษฐกิจระบบรางใน ออสเตรีย ที่ใช้ระบบรางสำหรับคมนาคมขนส่งและพัฒนาเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 70 พบว่า ระบบรางสร้างตัวคูณทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยรายได้ทุก 1 ยูโร ของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมขนส่งทางรางสามารถก่อรายได้ในธุรกิจภาคอื่นๆ ได้ 0.52 ยูโร และทุกส่วนของการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้จะสร้างตัวคูณทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 2.26 ยูโร หมายถึงการจ้างงาน 1 ตำแหน่งในระบบรางจะส่งผลให้มีการจ้างงานส่วนอื่นๆ ได้ 1.26 ตำแหน่ง ซึ่งมีตัวเลขใกล้กันเมื่อเทียบกับการศึกษาเรื่องเดียวกันนี้ในกลุ่มประเทศที่ใช้เศรษฐกิจระบบราง

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เป็นการลงทุนแบบ PPP (Public Private Partnership) ร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน เป็นการลดภาระงบประมาณของรัฐและเปิดให้เอกชนได้หามืออาชีพมาพัฒนาและบริหารจัดการโครงการ ซึ่งกลุ่มซีพีเป็นกลุ่มที่ชนะการประมูลในราคาที่ต่ำกว่าราคากลาง จึงเป็นแกนการพัฒนากิจการนี้ร่วมกับพันธมิตรจีน-ญี่ปุ่น-ยุโรป และเอกชนไทย โดยภาคเอกชนจะเข้าบริหารสร้างความก้าวหน้าและรับความเสี่ยงไปด้วย เป็นความเสี่ยงตั้งแต่แรกเริ่มเลยทีเดียว เพราะหลังลงนามในสัญญาก็ต้องสร้างให้เสร็จก่อน รัฐฯ จึงจะตรวจรับแล้วถึงจ่ายเงินคืนให้ เนื่องจากมีการกลัวกันว่า ถ้ามีความหละหลวมในการดำเนินงานอาจจะทำให้เกิดกรณีเหมือนโฮปเวล จึงทำให้ผู้ดำเนินกิจการนี้ ต้องแบกภาระหนักอึ้งทั้งเม็ดเงินในการลงทุนก่อสร้าง ภาระดอกเบี้ย และการบริหารความเสี่ยง ซึ่งงานนี้ไม่ใช่เป็นการลงทุนจากรัฐฯ โดดๆ ที่พอขาดทุนก็ปล่อยให้รัฐฯ แบกรับภาระเช่นรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่กลายเป็นภาระอันหนักอึ้งในปัจจุบัน!

เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรก เชื่อม 3 สนามบิน โดยมี 9 สถานีหลัก จากดอนเมือง พญาไท มักกะสัน สนามบินสุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และสิ้นสุดที่ สนามบินอู่ตะเภา ประมาณการว่าจะเริ่มใช้งานได้ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2566

ขณะที่ส่วนต่อขยายเส้นทางนี้จะขยายจากสนามบินอู่ตะเภาไปถึงระยองในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งแผนงานระยะต่อไปจะขยายในเส้นทางสายตะวันออกไปจนถึงจังหวัดตราด และเชื่อมเข้าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV เวลาการเดินทางจากอู่ตะเภาถึงดอนเมืองจะใช้เวลาราว 45 นาที นี่คือความเปลี่ยนแปลงใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นาน เป็นการเปิดพื้นที่เศรษฐกิจระบบรางยุคใหม่ของประเทศ และเป็นการพัฒนาระบบรถไฟไทยที่มีผลต่อผู้คนทั้งแผ่นดิน เพื่อรองรับการเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีการแข่งขันด้วยการลดต้นทุน ด้านนวัตกรรมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการพัฒนาความเร็ว ซึ่งทุกปัจจัยมีความสำคัญต่อศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการยกระดับคุณภาพชีวิตในโลกปัจจุบันอย่างมาก

อนาคตและความเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมไทยให้แล่นไปสู่อนาคตข้างหน้าได้อย่างมีความหมาย

รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จะเปลี่ยนชีวิตการเดินทางอย่างไร

  • ตรงเวลา : รถไฟวิ่งตรงเวลา ต้องการรักษาเวลา จึงไม่ต้องกลัวรถติด ในต่างประเทศ การบริหารจัดการรถไฟวัดกันเป็นวินาที ด้วยระบบอาณัติสัญญาณอัตโนมัติมาตรฐานโลก
  • คุ้มค่าพลังงาน : สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่ารถยนต์และเครื่องบินรวมกัน สิ้นเปลืองพลังงานน้อยมาก ทั้งยังใช้พลังงานสะอาด
  • ประสานเครือข่ายคมนาคม เชื่อมเมืองหลัก-เมืองรอง : เชื่อมระหว่างเมืองกับเมือง โดยเชื่อมเมืองหลักสู่เมืองรอง กระตุ้นเศรษฐกิจเมืองรอง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศ รถแท็กซี่เมืองรอง สองแถว มอเตอร์ไซค์ รถรับจ้าง จะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นหลายเท่า ธุรกิจอื่น ๆ เช่น ร้านอาหารจะได้รับอานิสงส์ไปด้วย
  • กระจายความแออัดจากกรุงเทพฯ : ภายใน 10 ปี ระยอง ชลบุรี จะมีความเจริญไม่ต่างจากกรุงเทพฯ เมื่อตลาดใหญ่ขึ้น จะมีการลงทุนมากขึ้น
  • ความปลอดภัยสูง : Autonomous Train แบบไม่มีคนขับ ด้วยระบบอาณัติสัญญาณ คนขับรถไฟประจำอยู่ในห้องคนขับเผื่อกรณีฉุกเฉิน
  • สร้างงาน สร้างอาชีพให้คนไทย : การบริการ การบริหาร รวมถึงการบำรุงรักษาขบวนรถไฟ สถานี และเครือข่ายราง จะสร้างงานให้คนในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดหลักสูตรใหม่ ๆ ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ของไทย ทั้งระดับวิชาชีพและอุดมศึกษา ผ่านรูปแบบของ Technology Transfer
  • ธุรกรรมบนมือถือ : ผู้ใช้บริการสามารถทำทุกอย่างผ่านมือถือ เช่น จองตั๋ว เช็กเวลา
  • คิดแบบ Universal Design : ออกแบบรองรับผู้พิการและกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้อย่างสะดวก
  • ใช้หลักปลอดภัยสูงสุด : Crisis Room บริหารงาน 24 ชั่วโมง ป้องกันเหตุ และตอบสนองว่องไว
  • ไม่สะดุดเวลาโดยสาร : ขณะนั่งรถไฟสามารถพักผ่อนหรือทำงานไปด้วยได้ ระบบรางมีแรงเสียดทานต่ำ ทำให้ไม่รู้สึกว่ากำลังเดินทางด้วยความเร็วหลายร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • การท่องเที่ยวเติบโต : คนโดยสารมาก การจับจ่ายมากตาม การท่องเที่ยวเติบโตด้วย ตัวอย่างจากอิตาลี รถไฟความเร็วสูงทำให้รายได้เมืองท่องเที่ยวโตขึ้นหลายเท่า
  • เชื่อมโยงสู่ทุกภูมิภาค : หากรถไฟสามารถเชื่อมภูมิภาคต่าง ๆ เช่น เหนือ ใต้ ออก ตก ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นฮับอย่างแท้จริง
  • แอร์พอร์ตลิ้งค์ในรูปโฉมใหม่ : จะมีการพัฒนาบริการรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ เช่น การเพิ่มจำนวนขบวนรถ ที่จอดรถ ความถี่ในการวิ่ง
  • ไปสนามบินแบบไร้รอยต่อ : สามารถเชื่อมต่อกันหลายสนามบิน ช่วยกระจายนักท่องเที่ยวไปทุกสนามบิน และรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น
  • ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก : โครงการนี้จับมือกับนานาชาติร่วมลงทุน เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี เกาหลี จีน ทำให้ทั่วโลกเชื่อมั่นประเทศไทยและกล้ามาลงทุนมากขึ้น

ที่มา: https://www.easternhsr.com/benefit/forCitizen , https://www.salika.co/2019/08/17/high-speed-train-economics/