-
สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เผยหวังกฎหมายรับรองสิทธิและหน้าที่ของกลุ่ม LGBTQ+ 3 เรื่องหลักคือ 1.พ.ร.บ ขจัดการเลือกปฏิบัติฯ 2.กฎหมายรับรองเพศสภาพ 3.กฎหมายสมรสเท่าเทียม วอนทุกภาคส่วนร่วมผลักดัน
-
ด้านเครือซีพีย้ำนโยบายและแนวทางปฏิบัติด้าน Diversity and Inclusion ของเครือฯ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และร่วมผลักดันเป้าหมายความเท่าเทียมทางเพศ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
1 มิถุนายน 2566 – เดือนมิถุนายนของทุกปีกำหนดให้เป็น “เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ” หรือ “Pride Month” เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความหลากหลายทางเพศและร่วมเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจไปพร้อมกับทั่วโลก ด้วยกิจกรรม Pride Month ต่อเนื่องขึ้นเป็นปีที่ 2 “ซีพี เพื่อความยั่งยืน Beyond Gender For A Better Tomorrow ข้ามขีดจำกัดทางเพศ เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า” เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ รวมถึงสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ ขับเคลื่อนกิจกรรม Pride Month อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride ให้ได้ภายในปี 2028
โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยนางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายวัชราวิทย์ วราภัทรนนญ์ ผู้จัดการฝ่ายสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมความเท่าเทียม สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย นายธนษิต จตุรภุช ศิลปินและตัวแทนกลุ่ม LGBTQ+ รวมทั้งนายกฤษฎิ์ คงธนดารากร รองกรรมการผู้จัดการ ด้านสรรหาและคัดเลือกทรัพยากรบุคคล และ ประธานชมรม LGBTQ+ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) ร่วมพูดคุยและแชร์มุมมองในประเด็น “Beyond Gender For A Better Tomorrow ข้ามขีดจำกัดทางเพศ…เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า!” โดยมีคณะผู้บริหาร พนักงานเครือซีพี และผู้สนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง พร้อมร่วมแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ส่งต่อธงสีรุ้งเพื่อสร้างความเท่าเทียม ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค (ฝั่งเวสต์)
ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือซีพีในฐานะที่ดำเนินธุรกิจในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมครอบคลุม 22 ประเทศทั่วโลก มีผู้บริหารและพนักงานกว่า 4 แสนคน ทำให้มีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นอายุ เชื้อชาติ ศาสนา รวมไปถึงเพศสภาพ ซึ่งเครือฯ ตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศมาตลอดการดำเนินธุรกิจ จึงได้มีการประกาศให้นโยบายด้าน “สิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สำคัญของเครือซีพีสู่ปี 2030 โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นการกิจกรรม Pride Month ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ถือเป็นจุดเริ่มต้น ในการสร้างความตระหนักรู้ สร้างทัศนคติที่ดีในการส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 5 Gender Equality หรือความเท่าเทียมทางเพศ
ดร.ธีระพล กล่าวเพิ่มเติมว่า เครือซีพีได้มีการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติด้าน Diversity and Inclusion (D&I) สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างในการอยู่ร่วมกันให้กับบริษัทในเครือฯ ซึ่งองค์กรเน้นย้ำเรื่องการสนับสนุนการจ้างงานและการปฏิบัติงานของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยมองถึงศักยภาพของพนักงานมากกว่าเรื่องเพศสภาพ ในปีที่ผ่านมามีการเพิ่มสัดส่วนของผู้บริหารและพนักงานผู้หญิงมากขึ้น รวมไปถึงการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความเท่าเทียม ปลอดภัย และเปิดกว้างให้กับเพื่อนร่วมงาน LGBTQ+ อาทิ กลุ่มทรู ได้มีการจัดทำแคมเปญ #เท่าเทียมที่แท้ทรู ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok นอกจากนี้ยังนำร่องจัดทำห้องน้ำเสมอภาคในแนวคิด Multi Gender Bathroom Universal Design ที่อาคารทรู ทาวเวอร์ รัชดาตึกทรู คอร์ปอเรชั่น สำนักงานใหญ่ เป็นต้น
“เครือซีพีพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทย เราต้องเริ่มต้นจากการสร้างทัศนคติที่ดี สร้างความเข้าใจให้คนในสังคม ซึ่งเครือซีพีไม่สามารถทำเพียงลำพังได้ต้องได้รับความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการร่วมขับเคลื่อนประเด็นความความหลากหลายทางเพศตามหลักสิทธิมนุษยชนให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง กิจกรรม Pride Month ในครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความตระหนักรู้ สร้างแรงกระเพื่อมในการร่วมผลักดันเป้าหมายสร้างความเท่าเทียมทางเพศไปพร้อมกับการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม”
ด้าน นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือซีพีให้ความสำคัญในนโยบายสนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในเครือมาโดยตลอด นอกเหนือจากการออกประกาศนโยบายที่ชัดเจนแล้ว ทางเครือซีพีได้มีการเปิดโอกาสให้พนักงานในกลุ่ม LGBTQ+ รวมไปถึงทุกเพศสภาพ และกลุ่มผู้พิการได้นำความสามารถและศักยภาพมาใช้ในการทำงานเพื่อให้องค์กรเกิดประสิทธิภาพ เรามีการเปิดช่องทางรับฟังเสียงของพนักงานทุกกลุ่ม พร้อมเปิดกว้างให้มีการจัดตั้งชมรมกลุ่ม LGBTQ+ จากพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่เพื่อให้เกิดการสื่อสารสร้างความตระหนักรู้และเข้าใจในการยอมรับความหลากหลาย ไปจนถึงการสร้างเกิดความเท่าเทียมในองค์กร การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่เราทำได้ ซึ่งหวังว่าจะเป็นพลังที่จะทำให้ประเทศไทยไปสู่การเปิดพื้นที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
ทั้งนี้ภายในงานได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองของกลุ่ม LGBTQ+ ประเทศไทยในประเด็น “Beyond Gender For A Better Tomorrow ข้ามขีดจำกัดทางเพศ…เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า!” ซึ่งมีการแชร์มุมมองที่หลากหลายในการแสดงออกและเรียกร้องสิทธิในด้านต่างๆ ของกลุ่ม LGBTQ+
โดย นายวัชราวิทย์ วราภัทรนนญ์ ผู้จัดการฝ่ายสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมความเท่าเทียม สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่ออดีตการแสดงออกของกลุ่ม LGBTQ+ ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก แต่พอในปัจจุบันทิศทางของการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยเปิดกว้างมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดทางด้านสิทธิและหน้าที่อยู่ในบางเรื่อง เช่น ข้อจำกัดในการสมัครงานในบางหน่วยงานยังไม่เปิดพื้นที่ เราพยายามต่อสู้และเรียกร้องให้มีกฎหมายรับรองสิทธิและหน้าที่ของกลุ่ม LGBTQ+ ใน 3 เรื่องหลักคือ 1.พ.ร.บ ขจัดการเลือกปฏิบัติฯ 2.กฎหมายรับรองเพศสภาพ 3.กฎหมายสมรสเท่าเทียม ทั้งนี้การจัดกิจกรรมของเครือซีพีก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปิดโอกาสให้กับกลุ่ม LGBTQ+ ที่ทำให้เรารู้สึกว่า กลุ่มเรามีพื้นที่มีสถานะที่เป็นคนเท่ากันเหมือนกับคนอื่นมากขึ้น ไม่ต้องเพียงแค่เป็นเทรนด์ของโลก แต่มีนโยบายยอมรับความแตกต่างและหลากหลายในองค์กรที่เห็นเป็นรูปธรรมและมีความต่อเนื่อง หวังว่าทุกภาคส่วนจะมาร่วมผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมและความหลากหลายในสังคมไทย
ขณะที่ นายธนษิต จตุรภุช ศิลปินและตัวแทนกลุ่ม LGBTQ+ ได้ให้ความเห็นในการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทย ว่า ในปัจจุบันสังคมไทยเปิดโอกาสและพื้นที่ให้กลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น แต่ถ้าจะดีกว่านี้ หากเราได้มีการรับรองร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับเช่นเดียวกับเพศชายและหญิง ทั้งเรื่องสิทธิและสวัสดิการ เข่น การมีสิทธิเซ็นยินยอมตอนผ่าตัดได้ การจัดการเรื่องมรดก การจัดงานกิจกรรมครั้งนี้ของเครือซีพี เป็นกิจกรรมที่ช่วยผลักดันให้คนในสังคมเกิดความตระหนักรู้และเกียรติยอมรับในความหลากหลายมากขึ้น
ด้านนายกฤษฎิ์ คงธนดารากร รองกรรมการผู้จัดการ ด้านสรรหาและคัดเลือกทรัพยากรบุคคล และประธานชมรม LGBTQ+ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) ในฐานะพนักงานของเครือซีพีมองว่า เครือซีพีได้ให้ความสำคัญ และเปิดกว้างยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายทางเพศตั้งแต่เริ่มต้นการรับคนเข้าทำงาน เรามีนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่กีดกัน โดยให้โอกาสในทุกเพศ เพราะเรามองเรื่องศักยภาพและความสามารถเป็นหลัก เป็นการให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยเรามีการประเมินผลการทำงานชองพนักงานทุกคนที่น่าเชื่อถือและโปร่งใส นอกจากนี้เครือฯยังเปิดกว้างให้พนักงานได้มีการส่งเสริมความหลากหลายและความแตกต่างในองค์กรด้วยการเปิดชมรม LGBTQ+ นี้ขึ้นมา ซึ่งตอนนี้เรามีสมาชิกกว่า 210 คน โดยกลุ่มของเราจะพยายามสร้างความตระหนักรู้ในการส่งเสริมความหลากหลายและความเท่าเทียม ทั้งการสื่อสารให้ความรู้และการจัดกิจกรรมทุกเดือน พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมมือกับทุกภาคส่วนสนับสนุนให้สังคมเปิดกว้างเข้าใจความหลากหลากหลายและยอมรับความแตกต่าง