เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกับภาครัฐ จัดกิจกรรม “วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก”
โดยมี นายก้องสกุล จันทราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายชาญวิทย์ รัตนชาติ ผู้จัดการทั่วไป บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร และนาย อานนท์ ขำแก้ว ผู้ชำนาญการแผนงานดำเนินการยุทธศาสตร์ทะเลสาบสงขลา
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เเละภาคีเครือข่ายเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย สวนพฤษศาสตร์พนางตุง ภาคประชาสังคม มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย และภาคเอกชน ธนาคารกรุงไทย
โดยภายในงานได้มีการจัด กิจกรรมฟื้นฟูภูมิทัศน์คอกควาย โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทร่วมกับเกษตรกรคนเลี้ยงควายในพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เป็นโมเดลการเลี้ยงควายในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และต่อยอดเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องควายน้ำ พร้อมเวทีเสวนาในหัวข้อ “The future of Thai lagoon” ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ร่วมขึ้นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “อนาคตทะเลสาบไทย” นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง เขต 3 นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นางนิรวาน พิพิธสมบัติ นักวิชาการอิสระด้านพื้นที่ชุ่มน้ำ และนายชาญวิทย์ รัตนชาติ ผู้จัดการทั่วไป บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร และหัวหน้าโครงการพัฒนาอาชีพ ตามดำริ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีถูกจัดให้เป็น “วันพื้นที่ชุมน้ำโลก” เพื่อรำลึกถึงวันลงนามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรืออนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมลง การขาดแคลนแหล่งน้ำสำหรับมนุษย์และธรรมชาติ โดยประเทศไทย ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นลำดับที่ 110 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2514 โดยได้เสนอ “พรุควนขี้เสี้ยน” ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศแห่งแรกของประเทศไทย
“พื้นที่ชุ่มน้ำ” ประกอบไปด้วย ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือน้ำท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงชายฝั่งทะเลและที่ในทะเลในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร ถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและสำคัญต่อระบบนิเวศของโลก
การเสวนาในครั้งนี้ได้มุ่งเน้นแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการร่วมมือกันทั้งจากทางภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟู อนุรักษ์ พื้นที่ชุมน้ำ ทะเลน้อย และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อันเป็นแหล่งน้ำและระบบนิเวศที่สำคัญของประเทศไทย โดยในปี 2566 มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทได้เข้าไปดำเนินงานด้านความยั่งยืนผ่านโครงการพัฒนาอาชีพ ตามดำริพล.เอก เปรม ติณสูลานนท์ แผนพัฒนา “ทะเลสาบสงขลายั่งยืน” ซึ่งถือเป็น 1 ใน 7 แผนงานในการปกป้องและฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา พัฒนาอาชีพประมงพื้นบ้าน และการอนุรักษ์สัตว์ในทะเล
นายชาญวิทย์ รัตนชาติ ตัวแทนมูลนิธิฯ ได้เปิดเผยการดำเนินงานภายใต้การขับเคลื่อนแผนงานพัฒนาทะเลสาบสงขลายั่งยืนว่า “มูลนิธิฯ ได้ให้ความสำคัญในการฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยเฉพาะลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและบริเวณโดยรอบ และมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อการสร้างสมดุลของ “วิถีชีวิตคนกับระบบนิเวศ” โดยเฉพาะการส่งเสริมและอนุรักษ์มรดกทางการเกษตรที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ท้องถิ่น รวมทั้งการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อความมั่นคงทางอาหาร และการพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบทั่วถึง”
โดยเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and
Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนรับรอง “เกษตรเชิงนิเวศ ระบบการเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย เป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร แห่งแรกของประเทศไทย เนื่องด้วยวิถีการเลี้ยงควายในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยมีความโดดเด่นในเรื่องการรวมกลุ่มพึ่งพาอาศัยในการควบคุมและการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เช่น แรงงานในการเฝ้าดูแล การใช้คอก การใช้พื้นที่แทะเล็ม การจับควายเพื่อจำหน่าย การจัดการสุขภาพ รวมถึงการอพยพควายในกรณีที่เกิดอุทกภัย ซึ่งล้วนจำเป็นต้องใช้ทักษะที่ได้รับการถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมการเกษตรที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของชุมชนท้องถิ่น แต่ปัจจุบันระบบการเลี้ยงควายได้ปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงคอกจากรูปแบบดั้งเดิมมาเป็นคอกสมัยใหม่มากขึ้น ส่งผลให้ภูมิทัศน์พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่สำคัญของประเทศและของโลกเสียไป
มูลนิธิฯ เล็งเห็นความสำคัญในการปรับปรุงภูมิทัศน์คอกควาย จึงได้ริเริ่มขับเคลื่อนโครงการ “ปรับปรุงภูมิทัศน์คอกควายในพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร” โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนารูปแบบคอกควายที่สอดคล้องกับภูมิทัศน์ และสามารถหนุนเสริมความหลากหลาย ทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำ อันแสดงให้เห็นว่าคนกับระบบนิเวศ สามารถอยู่ร่วมกันได้ผ่านการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสร้างการเชื่อมโยงมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมการเลี้ยงควายในพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรกับการท่องเที่ยว/การศึกษา อันจะนำไปสู่การเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม การเกษตรในพื้นที่ชุ่มน้ำให้มีความยั่งยืนต่อไป โดยมูลนิธิฯ ได้เริ่มดำเนินการสนับสนุนการจัดทำคอกควายเพื่อเป็นโมเดลแล้ว 1 คอก เพื่อต่อยอดให้กับกลุ่มที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ 17 กลุ่ม 228 คอก โดยมีจำนวนควายทั้งหมด 4,480 ตัว
ทั้งนี้การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจซีพีเข้าร่วมกิจกรรม ดังนี้ บริษัท ซีพี แอ็กตร้า จำกัด (มหาชน) สาขาแม็คโครพัทลุง, บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) จ.พัทลุง, บจก.ซี.พี.ฟู้ดสโตร์ (ข้าวตราฉัตร) จ.สงขลา และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ จำกัด (มหาชน) อำเภอระโนด จ.สงขลา