เมื่อเร็วๆนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับ หน่วยราชการ และชุมชนตำบลน้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน จัดงาน “ปลูกป่า 9 ปี น้ำพางโมเดล เติมป่าน่าน เพื่อความยั่งยืน” โดยมี นายสิโรตม์ ชมใจ นายอำเภอแม่จริม ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมด้วย นายสวาท ธรรมรักษา กำนันตำบลน้ำพาง ที่ปรึกษาน้ำพางโมเดล นายอรรถวิทย์ ยุทธยศ ผู้จัดการทั่วไป ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้นำชุมชน และเกษตรกรในโครงการน้ำพางโมเดล ร่วมกันปลูกต้นไม้ จำนวน 10,000 ต้น ในพื้นที่ 11 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 10,000 ไร่ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในป่าชุมชน ตำบลน้ำพาง โดยงานจัดขึ้น ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยสาง บ้านน้ำพาง ต.น้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน
นายสิโรตม์ ชมใจ นายอำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน เปิดเผยว่า โครงการ “น้ำพางโมเดล” เป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนระหว่างความร่วมมือ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้โครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ สนับสนุนกิจกรรมปลูกป่า 9 ปีน้ำพางโมเดล “เติมป่าน่าน เพื่อความยั่งยืน” ภายใต้โครงการ ซีพี ร้อย รักษ์โลก ร่วมกับ น้ำพางโมเดล อำเภอแม่จริม หน่วยจัดการต้นน้ำแม่จริม และ อบต.น้ำพาง ถือเป็นการสร้างความยั่งยืนทั้งด้านอาชีพและสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน
ทางด้าน นายอรรถวิทย์ ยุทธยศ ผู้จัดการทั่วไป ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้ามาดำเนินงานด้านความยั่งยืนในพื้นที่ต.น้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน ร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชุมชน อย่างจริงจังเข้าปีที่ 8 ผ่านโครงการ “น้ำพางโมเดล” เพื่อชุมชนสามารถกำหนดขอบเขต ป้องกันการบุกรุกป่าเพิ่ม รักษาป่าให้คงสภาพ และสร้างระบบนิเวศน์ป่าใหม่ ด้วยการปรับเปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยวสู่เกษตรผสมผสาน และเป็นต้นแบบที่คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน อีกทั้งเป็นต้นแบบการร่วมบูรณาการระหว่าง ภาคประชาชน ประชาสังคม ภาครัฐ และเอกชน โดยมีการสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่ป่า ปลูกต้นไม้เป็นประจำทุกปี ในปีนี้ จัดกิจกรรมปลูกป่า 9 ปีน้ำพางโมเดล “เติมป่าน่าน เพื่อความยั่งยืน” ภายใต้โครงการ ซีพี ร้อย รักษ์โลก ปลูกต้นไม้ จำนวน 10,000 ต้น ในพื้นที่ป่าชุมชน 10,000 ไร่ ครอบคลุม 11 หมู่บ้าน เพื่อเสริมป่าชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ปลูกฝังให้ชุมชนให้ความสำคัญกับป่าชุมชนช่วยกันดูแล และอนุรักษ์ให้คงอยู่กับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป