เมื่อ 2 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดงานเสวนาในหัวข้อระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยมีผู้บริหารและพนักงานจากทั้งบริษัท เจียไต๋ จำกัด, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ,บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน), บริษัทกรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพีแรม จำกัด, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด, บริษัท ซีพี อินเตอร์เทรด จำกัด และ บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด หรือ Lotus’s เตรียมความพร้อมสู่การประชุมสุดยอดสหประชาชาติ UN Food Systems Summit 2021 ที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2564 นี้ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องระบบอาหาร (Food Systems)
ระบบอาหาร หรือ Food Systems หมายถึง ปัจจัยและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและบริโภคอาหาร ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การเลี้ยงสัตว์ การแปรรูป บรรจุภัณฑ์ การขนส่ง การตลาด รูปแบบพฤติกรรมการบริโภค ตลอดจนการจัดการกับของเสียจากทุกขั้นตอน ซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน และเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
สหประชาชาติได้วางกรอบการหารือไว้ 5 ประการ เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งผู้เข้าร่วมเสวนาจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นว่าด้วย ปัญหา ความท้าทาย และแนวทางพัฒนาระบบอาหารให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น ดังนี้ คือ
1. ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ ขจัดปัญหาความอดอยากและขาดสารอาหาร
2. ขับเคลื่อนพฤติกรรมผู้บริโภคสู่รูปแบบการบริโภคอาหารที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
3. ยกระดับกระบวนการผลิตอาหารที่รักษาทรัพยากรธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4. ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหารอย่างทั่วถึง
5. เสริมสร้างความมั่นคงเข้มแข็งของระบบอาหารให้พร้อมรองรับภัยพิบัติและผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ระบบอาหาร เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุกคน การพัฒนาระบบอาหารสู่ความยั่งยืนแบบองค์รวมจะเป็นกำลังสำคัญที่จะไปต่อสู้กับความท้าทายอื่น ๆ ได้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้นำในธุรกิจอาหารและการเกษตรรายหนึ่งของประเทศไทยและของโลก มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนานี้
“ผมขอชื่นชมกลุ่มธุรกิจภายในเครือที่ได้ดำเนินการพัฒนาระบบอาหารมาอย่างต่อเนื่อง และมั่นใจว่าการเสวนาในครั้งนี้จะทำให้เครือฯ มีเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในการสนับสนุนประชาคมโลกให้สามารถเดินไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน”
ในการเสวนาครั้งนี้ บุคลากรจากหลากหลายกลุ่มธุรกิจภายในเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เสนอแนวทางพัฒนาระบบอาหารในประเด็นต่างๆ กว่า 40 ประเด็น เช่น การพัฒนานวัตกรรมร่วมกับเกษตรกรรายย่อยและ SME ในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ การใช้ฐานข้อมูลและระบบ GIS เพื่อตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกไม่ให้รุกล้ำพื้นที่ป่าและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ การให้บริการทางการเงินแก่เกษตรกรรายย่อย โดยมีเกณฑ์ความยั่งยืนประกอบการพิจารณา การจัดการผลิตภัณฑ์อาหารทั้งห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดการสร้างขยะอาหาร และการเสนอให้ภาครัฐออกนโยบายจูงใจผู้ประกอบการมุ่งสู่การบริหารจัดการขยะอาหารเป็นศูนย์ เช่นมาตรการจูงใจทางภาษีและความช่วยเหลือเชิงเทคนิค เป็นต้น
เป้าหมายของการประชุม UN Food Systems Summit 2021 ที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน ศกนี้ เน้นการพัฒนาแผนงานไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี ค.ศ. 2030 ศึกษาและร่วมกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาในระบบอาหาร เรียกร้องให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้บริโภค ร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ และกระตุ้นให้เกิดการหารือกันในเวทีสาธารณะ ในประเด็นการพัฒนาระบบอาหารให้เกิดความยั่งยืนต่อธรรมชาติและมนุษย์
Cr. CP E-News