ศ.ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาประเทศไทยด้วยงานวิจัย ” โดยกล่าวว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมทำให้โลกก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และยังได้ส่งผลให้เกิดโอกาสตามมาอีกมากมาย ทั้งการเชื่อมให้เกิดความร่วมมือได้ทั่วโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังคงมีอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการปรับตัวจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ
ทั้งนี้ ตัวเร่งสำคัญคือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่กลายเป็นมาตรฐานใหม่ หรือที่เรียกว่า New Normal และยังส่งผลให้เกิดวิวัฒนาการใหม่ ๆ ทั้งจากตนเองและคนรอบข้างที่สามารถใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะการใช้แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ได้เก่งมากขึ้น รวมทั้งในภาคธุรกิจก็มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในองค์กรด้วยเช่นกัน
ศ.ดร. ชูกิจ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในอนาคตอันใกล้นี้เพื่อให้เข้ากับเทรนด์และภาพรวมของประเทศ จะต้องให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ดังต่อไปนี้ 1) เทคโนโลยีเชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ที่สามารถเชื่อมคลื่นสมองให้เข้ากับเทคโนโลยีได้ 2) ระบบสำรองไฟฟ้าแบบยาวนาน โดยมีความคิดที่จะนำธาตุที่หาได้ง่ายมาปรับใช้ในระบบไฟฟ้าสำรอง เพื่อไม่เกิดเป็นมลพิษเมื่อเสื่อมสภาพ และ 3) ชีววิทยาสังเคราะห์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ผสานวิทยาศาสตร์เข้ากับวิศวกรรมศาสตร์ ทำให้ในอนาคตอันใกล้จะมีวิธีการรักษาโรคที่ต่างไปจากเดิม รวมไปถึงอาหารการกินที่สังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์จริง
นอกจากนี้ ยังมี 3 ความท้าทายที่ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญและผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ในประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและการลดลงของทรัพยากร ความท้าทายด้านเศรษฐกิจ ในประเด็นอิสรภาพทางการเงินและด้านคุณภาพชีวิต และความท้าทายด้านสังคม ในประเด็นความเหลื่อมล้ำและการโยกย้ายที่อยู่ของประชากรโลก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำให้องค์กรก้าวข้ามและเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ไปได้ คือ ความยั่งยืน โดยได้มีการพูดถึง BCG Model ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมทั้ง 3 มิติไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักและการดำเนินธุรกิจของเครือซีพี และด้วยความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยีชีวภาพ จะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตทางการเกษตร และเพิ่มขีดจำกัดการแข่งขันได้ในระดับโลก โดยมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน
“สวทช. และภาครัฐมุ่งหวังที่จะเห็นการนำเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ เข้ามาใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง และสามารถผลักดันโครงการที่มีประสิทธิภาพให้ออกสู่ภาคประชาชนเพื่อสร้างความผาสุกอย่างยั่งยืน” ศ.ดร. ชูกิจ กล่าวในตอนท้าย