เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะองค์กรธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ ร่วมเสวนาออนไลน์ X4E Webinar #4 ในหัวข้อ การปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจในสภาวะใหม่ของโลก ระหว่างและหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมี คุณวิทวัส สวัสดิ์ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยรัฐวิสาหกิจ และคุณมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในฐานะหน่วยงานของรัฐในการวางนโยบายส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ร่วมเสวนา ซึ่งจัดโดยสมาคมปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก
ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจ ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวจากการถูก Disrupt ที่ทำให้ธุรกิจมีระยะเวลาในการทำธุรกิจ (Business Life Cycle) ที่สั้นลง และต้องเจอกับความท้าทายใหม่ๆ สูตรสำเร็จในการทำธุรกิจแบบเดิมใช้ไม่ได้ โดยผู้ที่จะอยู่รอดในธุรกิจจะต้องมีความเร็วมากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือ Mindset โดยจะต้องทำความเข้าใจสถานการณ์โลกปัจจุบัน และต้องปรับเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจใหม่ที่เป็น New S-Curve ซึ่งมีความท้าทายรออยู่
นอกจากนี้ ดร. ธีระพล ยังให้มุมมองในการทำธุรกิจในปัจจุบันว่า เป็นโอกาสของธุรกิจที่จะทำ Business Canvas ใหม่ โดยจะต้องประคองธุรกิจอย่าให้ล้ม ปรับแผนการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และใช้โอกาสนี้ในการทรานสฟอร์มธุรกิจ ปรับตัวให้พร้อมกับสร้างตลาดใหม่ๆ เปลี่ยนมุมมองการทำธุรกิจโดยต้องมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าสินค้าและบริการ เพราะลูกค้ามีทางเลือกในการเข้าถึงคุณค่าของสินค้ามากขึ้น
“เราต้องพยายามรักษาธุรกิจอย่าให้ล้ม เพราะเมื่อเวลาธุรกิจล้มแล้วจะสร้างให้เกิดใหม่ไม่ง่าย ซึ่งหลังโควิด-19 ผู้ประกอบการจะต้องเจอกับความท้าทายอีกมาก ดังนั้น ต้องมองตลาดให้ใหญ่ขึ้น ต้องกล้าเดินทางเป็นนักบุกเบิก คิด Business Model ที่ใหญ่ขึ้นและขยายไปยังประเทศอื่น เพื่อสร้างคุณค่าให้โลกใบนี้ ให้ประเทศ และตลาด”
ดร. ธีระพล ยังได้กล่าวอีกว่า ในปี 2021 ต้องจับตามองความเสี่ยงในด้านสังคม เนื่องจากเศรษฐกิจที่ถดถอย แรงงานมีรายได้ลดลง เกิดการว่างงาน และยังมีความเสี่ยงด้านไซเบอร์ที่ล้มเหลว เพราะองค์กรคิดว่ามีระบบไอทีที่ปลอดภัยเพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตาม ธุรกิจและอุตสาหกรรมจะต้องปรับตัวสู่การลดสัมผัส เข้าสู่ระบบกระเป๋าเงินดิจิทัล มีหุ่นยนต์บริการ มีแพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซและออนไลน์ต่างๆ ซึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงให้มาก คือ การพัฒนาบุคลากรด้านดิจทัล ต้องพัฒนาขีดความสามารถ (Upskill & Reskill) ของบุคลากรในองค์กร เพื่อให้พร้อมกับการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อของภูมิภาคเอเชีย เพราะมีความพร้อมในทุกด้าน หากสามารถดึง Venture Capital / Multi National Company มาลงทุนในประเทศได้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ พัฒนาธุรกิจ New S-Curve ได้อย่างแน่นอน
ดร. ธีระพล ยังได้แชร์ประสบการณ์และมุมมองการทำธุรกิจของกลุ่มทรู ที่ได้ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยกล่าวว่า กลุ่มทรูมีมาตรการและแผนฉุกเฉินในการรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพัฒนา Digital Workplace Platform ที่ตอบโจทย์การทำงานและการเรียนในช่วงที่ทุกคนต้องทำงานหรือเรียนจากที่บ้าน รวมทั้ง มาตรการดูแลพนักงานให้ปลอดภัยจากโควิด-19 โดยไม่มีนโยบายเลิกจ้างพนักงาน พร้อมทั้งการให้ความดูแลอย่างเต็มที่กรณีพนักงานเกิดการติดเชื้อ รวมไปถึงให้การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนกรณีคู่สมรสของพนักงานได้รับผลกระทบจากสถานการณโควิด-19 เป็นต้น