13 ธันวาคม 2566 – คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเชิญขึ้นบรรยายเดี่ยวในหัวข้อ Lessons and Learns : Ways to ward Sustainability ในงาน SUSTAINABILITY FORUM 2024 ที่จัดขึ้นโดยสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ ในวันวันพุธที่ 13 ธันวาคม 2566 ณ แกรนด์ ฮอลล์ ไบเทค บางนา โดยงาน SUSTAINABILITY FORUM จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้สู่ความยั่งยืนจากผู้ที่ได้ลงมือทำจริงเป็นเหมือนทางลัดสู่เป้าหมายที่ยั่งยืนร่วมกัน โดยในงานครั้งนี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีปาฐกถาพิเศษ COP28 พันธสัญญาไทยขับเคลื่อนความยั่งยืน พร้อมทัพผู้บริหารทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิ บริษัท ซีเมนส์ ประเทศไทย จำกัด, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) , บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) มาร่วมแบ่งปันมุมมอง แนวคิด ประสบการณ์จากภาคธุรกิจ และบอกเล่าเทรนด์โลกสู่ความยั่งยืน
คุณศุภชัย กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในระดับโลก โดย UN ได้มีการตั้งเป้าหมายความยั่งยืนทั้ง 17 SDGs จะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2030 แต่ในตอนนี้ทำได้แค่ 12% ซึ่งช้ากว่ากำหนดและเป็นเรื่องภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเราจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร ทั้งจากอุณภูมิของโลกเพื่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ปัจจุบันสูงถึง 1.4 องศาเซลเซียล โดยจากผลการศึกษาพบว่า ทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5.9 หมื่นล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงาน 34% และประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่อันดับที่ 19 ของโลก จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐและเอกชนของไทยจะต้องมาเร่งหาแนวทางและมาตรการต่างๆ ในการหาทางออกให้เร็วที่สุด นอกจากนี้อีกความท้าทายที่ทั่วโลกกำลังเผชิญคือเรื่องของขยะอาหารที่ทั่วโลกจำเป็นต้องให้ความสนใจอย่างเร่งด่วนด้วยเช่นกัน เพราะผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อพื้นที่เพาะปลูก แหล่งผลิตอาหารลดลง ทำให้จำนวนผู้หิวโหยจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และยังส่งผลกระทบในระบบเศรษฐกิจไปด้วย ดังนั้น เราต้องปรับตัวและแก้ปัญหาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลก
คุณศุภชัย ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของเครือซีพีในฐานะภาคเอกชนที่ตระหนักและให้ความสำคัญที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในสร้างความยั่งยืนและแก้ปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกำจัดขยะของเสีย โดยระบุว่า เครือฯได้มีการประกาศเป้าหมายสำคัญที่ต้องทำให้สำเร็จในปี 2030 อย่างชัดเจนใน 3 เป้าหมายหลัก คือ 1.ของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบต้องเป็นศูนย์ (Zero Waste) 2.ตั้งเป้าหมายนำองค์กรสู่ Carbon Neutral ( Scope 1และ2) ในปี 2030 เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 และ3. สนับสนุนผู้คน 50 ล้านคนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ
“ความยั่งยืนเป็นเรื่องของการสร้างคุณธรรมและจริยธรรม เช่นเดียวกับการทำธุรกิจที่จะต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ผมมองว่าเรื่องของพลังงานสีเขียว พลังงานทดแทนเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้จะยิ่งทำให้เกิดการบรรลุเป้าหมายและทำให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้เร็วมากขึ้น”
โดยปัจจุบันเครือซีพีและบริษัทในเครือฯ ได้ดำเนินการปรับโมเดลธุรกิจเพื่่อนำองค์กรสู่ Net Zero และ Zero Waste เช่น ได้มีการจัดการของเสีย ด้วยการนำมูลสัตว์ไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไปแล้วกว่า 5.8 แสนตัน รวมไปถึงมีการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนทั้งการใช้ถุงพลาสติกที่มาจากการรีไซเคิล 94% การผลิตไฟฟ้าจาก Solar PV ฟาร์มสุกร การติดตั้ง Solar Rooftop ที่ห้างค้าปลีกค้าส่งซึ่งในตอนนี้เรามีการติดตั้งไปแล้ว 4,950 แห่ง ในขณะเดียวกันมีการใช้ไบโอแก๊สทดแทนการใช้ไฟฟ้าของฟาร์มสุกร และฟาร์มไก่ไข่ไปแล้ว 55% ทำให้ลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึงกว่า 1.7 แสนตันคาร์บอน นอกจากนี้ยังได้มีการร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น ความร่วมมือกับโตโยต้าและซีเจพีที ในการผลิตไฮโดรเจนจากไบโอแก๊สที่ได้จากมูลไก่ของฟาร์มซีพีเอฟ พร้อมทั้งมีการทดลองใช้ไฮโดรเจนในรถขนส่งกลุ่มค้าปลีก และโดรนการเกษตร ในขณะเดียวกันเครือฯ ได้สนับสนุนให้พนักงานในเครือฯ คู่ค้า เกษตรกรร่วมกันปลูกต้นไม้ ปัจจุบันปลูกไปแล้ว 8.2 ล้านต้น เทียบเท่าการดูดซับก๊าซเรือนกระจก 7.8 แสนตันคาร์บอน
เครือซีพีได้มีการวางแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 แบ่งเป็น Scope 1 และ 2 จะเน้นไปที่การใช้พลังงานหมุนเวียน 50+50% ด้วยการใช้ไบโอแมส โซลาร์พีวี ไบโอแก๊ส ไบโอแมส รวมไปถึงมีการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน 20% และลดขยะของเสียเป็นศูนย์ ทั้งในเรื่องของการผลิตปุ๋ย การทำใช้พลังงานทางเลือก ในส่วนของScope 3 เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากแต่เครือฯ ต้องทำให้สำเร็จ ด้วยการร่วมมือกับคู่ค้าในการลดคาร์บอน 25% เกษตรกรรม 30% และการลดคาร์บอนจากการขนส่ง 25% ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เช่น การใช้รถยนต์ EV ในการขนส่งสินค้า ทั้งนี้ไม่เพียงแต่ภาคเอกชนเท่านั้นที่จะต้องปรับโมเดลธุรกิจเน้นไปที่พลังงานสีเขียว พลังงานสะอาด สิ่งสำคัญภาคเอกชนจำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐด้วย เช่นการผลักดันเรื่อง Smart Grid
ซีอีโอเครือซีพี ได้เสนอโมเดล Sustainable Intelligence Transformation หรือ SI Transformation Model ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์สำคัญในการไปสู่เป้าหมายสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบด้วย 1.Transparency การสร้างความโปร่งใสและระบุตัวชี้วัดทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน 2. Market Mechanism สร้างกลไกตลาด ที่จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน 3. Leadership &Talents ซึ่ง Tone From The Top เป็นเรื่องสำคัญ ผู้นำและบุคลากรต้องมีเป้าหมายเดียวกัน 4. Empowerment ให้อำนาจคนรุ่นใหม่และส่งเสริม SME ในการขับเคลื่อนความยั่งยืนทำให้เป็นเนื้อเดียวกับธุรกิจ และ 5. Technology ปรับประยุกต์ใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากต้องสนับสนุนเกษตรกรและคู่ค้าในการขับเคลื่อนความยั่งยืนไปพร้อมกัน
“การขับเคลื่อนเรื่องพลังงานสะอาดในไทย ถ้าไม่มีการส่งเสริมจากภาครัฐจะเป็นเรื่องยากที่ทำให้ภาคเอกชนสำเร็จไปถึงเป้าหมาย Carbon Neutral และNet Zero ดังนั้นรัฐและเอกชนต้องสร้างความร่วมมือกัน” ซีอีโอเครือซีพี กล่าวปิดท้าย
ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์จัดทำรายงานความยั่งยืนขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2559 โดยรายงานความยั่งยืน ประจำปี 2565 นี้ เป็นรายงานฯ ฉบับที่ 7 ของเครือฯ เนื้อหาของรายงานฯ มุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์ การบริหารจัดการ เป้าหมาย ผลการดำเนินงาน และก้าวต่อไปของประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญของเครือฯ และที่มีนัยสำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งครอบคลุมทั้ง 3 มิติของความยั่งยืน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เนื้อหาภายในรายงานยังได้รวบรวมผลการดำเนินงานที่สนับสนุนต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก หรือ Sustainable Development Goals: SDGs อ่านเพิ่มเติมได้ที่: www.cpgroupglobal.com/th/document/sustainability-reports