หลังจากประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้ตอบจดหมายส่งถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ขอความร่วมมือจากนักธุรกิจชั้นนำให้ร่วมช่วยชาติฝ่าวิกฤตโควิด-19 โดยประธานอาวุโสธนินท์ได้นำเสนอแนวคิดที่เป็นรูปธรรมหลายเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้โครงการที่ซีพีจะทำและเป็นที่น่าสนใจอย่างมาก คือ เกษตรผสมผสานในยุค 4.0 โดยจะทำโครงการต้นแบบแนวคิด “3 ประโยชน์ 4 ประสาน” ที่ซีพีได้ทำจริงมีประสบการณ์มาแล้ว ทั้งนี้ประธานอาวุโสธนินท์ได้ระบุในจดหมายว่า จะเลือก 2- 3 จังหวัดของไทยนำร่องทำเป็นโมเดลต้นแบบ เพื่อยกระดับเกษตรกรให้มีรายได้สูงอย่างยั่งยืน
ประธานอาวุโสธนินท์ กล่าวว่า โมเดล 3 ประโยชน์ 4 ประสาน คือของจริง แนวคิดนี้ทำสำเร็จมาแล้ว เป็นรูปแบบความร่วมมือ 4 ฝ่าย คือ รัฐบาล เอกชน สถาบันการเงิน และเกษตรกร เพื่อรองรับการพัฒนาเกษตรกรรมทันสมัย ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ 3 ประการ คือ ประโยชน์ต่อประเทศ ต่อประชาชน และสุดท้ายเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ซึ่งปรากฏไม่เพียงแต่เป็นต้นแบบให้นานาประเทศมาขอศึกษาดูงาน แต่ยังเป็นรายงานกรณีศึกษาหลายฉบับของ Harvard Business School ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 เกี่ยวกับบทบาทของภาคเอกชนที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคเกษตร ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2560 Harvard Business School ได้เชิญประธานอาวุโสธนินท์และผู้บริหารเครือซีพีไปบรรยายแนวคิดโครงการผิงกู่ที่เป็นเกษตรกรรมทันสมัย ภายใต้หัวข้อ “Rapid Development of China & CP Group’s Strategy”
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ประธานอาวุโสธนินท์จะนำโมเดลนี้มาทำให้ประเทศไทยอีกครั้งในยุคนี้ แน่นอนว่า จากการเรียนรู้จากหลายโครงการในอดีต โครงการที่จะดำเนินการในประเทศไทยที่เสนอในจดหมายตอบนายก ต้องไม่ธรรมดา เพราะถือเป็นการฟื้นฟูเกษตรกรจากพิษเศรษฐกิจโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยียุคเกษตร 4.0
ทำไมต้องสร้างรายได้ให้เกษตรกรสูงขึ้น ?
“เกษตรที่งอกจากแผ่นดินไทย บนดิน ผมเรียกว่าน้ำมันบนดิน สินค้าเกษตรน่าจะมีความสำคัญยิ่งกว่าน้ำมัน เพราะสินค้าเกษตรเลี้ยงชีวิตมนุษย์ แต่น้ำมันเลี้ยงชีวิตเครื่องจักร แล้วใครสำคัญกว่ากัน นี่เป็นทรัพย์สมบัติของชาติยิ่งกว่าน้ำมัน” เป็นสิ่งที่ประธานอาวุโสธนินท์ย้ำมาตลอด พร้อมยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญของเกษตรกรมาตั้งแต่โบราณ ถือเป็นผู้มีบุญคุณสร้างอาหารเลี้ยงทั้งประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงถือว่าเกษตรกรเป็นฐานของประเทศ ทำให้สินค้าเกษตรของญี่ปุ่นแพงที่สุดในโลก รายได้เกษตรกรจึงสูงที่สุดในโลกด้วย
“ทำไมชาวนาญี่ปุ่นรวยกว่าชาวนาสหรัฐอเมริกาเสียอีก เพราะตั้งแต่สมัยโบราณจักรพรรดิญี่ปุ่นยกย่องชาวนาว่าเป็นผู้มีบุญคุณต่อประเทศชาติ สร้างอาหารเลี้ยงคนทั้งประเทศ การเกษตรจึงเป็นเสมือนมือซ้ายของจักรพรรดิ ส่วนมือขวาของจักรพรรดิก็คือซามูไร ซึ่งก็เป็นทหารปกป้องประเทศ ด้วยนโยบายนี้ที่มีมาแต่โบราณจึงทำให้สินค้าเกษตรของญี่ปุ่นแพงที่สุดในโลก รายได้เกษตรกรจึงสูงที่สุดในโลก ชาวนาญี่ปุ่นเดินทางไปเที่ยวรอบโลก พักโรงแรมระดับ5 ดาว ก็เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นเข้าใจดีว่า เกษตรกรเป็นฐานของประเทศ” ประธานอาวุโสธนินท์ กล่าว
ในจดหมายฯ ประธานอาวุโสธนินท์ เน้นย้ำว่า เกษตรกรเป็นภาคส่วนที่สำคัญของประเทศ การพัฒนาด้านเกษตรต้องคิดแบบครบวงจร เพื่อความยั่งยืน นั่นคือเกษตรกรต้องมีรายได้เพียงพอต่อการปลดหนี้ และเลี้ยงครอบครัวได้ระยะยาว แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรไทยเป็นเกษตรกรที่อยู่ภายใต้ความเสี่ยงสูง 3 ประการคือ 1.เงินทุน 2.ภัยธรรมชาติ และ 3.ราคาสินค้าเกษตรที่ไม่แน่นอน ต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงแต่กำไรน้อย และยังมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาด้านชลประทานที่ขาดการบริหารจัดการ ทั้งที่ประเทศไทยโชคดีที่มีฝนตกปีละจำนวนมาก แต่กลับปล่อยให้น้ำ 60% ไหลลงสู่ทะเล ขณะที่น้ำใต้ดินอีกจำนวนมากก็ไหลลงสู่ทะเลเช่นกัน ดังนั้นขอเพียงการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจังก็จะช่วยเกษตรกรได้มาก และมีทางเลือกที่จะปลูกพืชมูลค่าสูงที่ต้องใช้น้ำปริมาณมากได้ จะทำให้ชาวบ้านมีทางเลือกมากและหลายหลายขึ้น สามารถทำเกษตรผสมผสานได้ และยังขยายไปเรื่องปศุสัตว์และการท่องเที่ยวได้ด้วย
เตรียมนำร่อง 2-3 จังหวัดต้นแบบ 3 ประโยชน์ 4 ประสาน
โมเดล 3 ประโยชน์ 4 ประสาน มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการให้ยั่งยืน มิใช่การทำเพียงไม่กี่ปีแล้วเลิก ในอดีตที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ดำเนินโครงการเกษตรกรรมทันสมัย เพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้เพื่อยกระดับเกษตรกรอย่างยั่งยืน หลายโครงการ อาทิ ในประเทศไทย มีโครงการเกษตรกรรมหนองหว้า อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จากพื้นดินรกร้างว่างเปล่ากว่า 1 พันไร่ นับเป็นเวลากว่า 37 ปีแล้ว ที่หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ส่งเสริมอาชีพให้เลี้ยงสุกร จนถึงปัจจุบันเติบโตกลายเป็นตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จ มีความเข้มแข็งสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยตัวเอง มีผู้เดินทางมาศึกษาดูงานจากทั่วโลก
นอกจากนี้ยังมีโครงการภายใต้โมเดล 3 ประโยชน์ 4 ประสานที่ทำสำเร็จในประเทศจีน ได้แก่ โครงการไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัวที่ผิงกู่ นครปักกิ่ง โครงการไก่เนื้อ 100 ล้านตัวต่อปี หมู 1 ล้านตัวต่อปี รวมถึงโครงการเกษตรกรรมทันสมัยฉือซี พัฒนาพื้นที่ 8,000 ไร่ มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นเกษตรผสมผสานแบบทันสมัยครบวงจรที่อยู่ใกล้เมือง โดยให้ทุกอย่างอยู่ในจุดเดียวกัน ครบทั้งด้านพืชผักและปศุสัตว์ เป็นต้น
ประธานอาวุโสธนินท์ กล่าวว่าจะคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบเกษตรผสมผสาน 3 ประโยชน์ 4 ประสานใน 2-3 จังหวัด เพื่อเป็นเสมือนโรงเรียนให้เกษตรกรมาดูงาน มาศึกษาได้ และพื้นที่ต้นแบบต้องยั่งยืน ต่อยอดได้ มีการใช้เทคโนโลยี การมีส่วนร่วม และกระจายรายได้ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งแก่เศรษฐกิจฐานราก สร้างความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยในอาหารในระยะยาวให้กับประเทศไทย
จากหนองหว้าเมืองไทย ถึงผิงกู่เมืองจีน
ในจดหมาย ประธานอาวุโสธนินท์ เล่าถึงประสบการณ์ในการทำเกษตรผสมผสานภายใต้โมเดล 3 ประโยชน์ 4 ประสาน ทั้งในเมืองไทย และเมืองจีน เริ่มจากประเทศไทย หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า โดยระบุว่า หมู่บ้านแห่งนี้เกิดขึ้นจากการน้อมรับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ด้านการปฏิรูปที่ดิน (พ.ศ.2516) ด้วยทรงเล็งเห็นว่า การปฏิรูปที่ดินเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง โดยเจ้าสัวธนินท์ มองว่าสิ่งที่ต้องช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านี้ คือ การนำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งช่วยเหลือด้านการตลาดที่ซีพีมีความเชี่ยวชาญเพื่อให้เกษตรกรเหล่านี้มีความมั่นคงในอาชีพอย่างแท้จริง
โครงการ “หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า” ก่อตั้งขึ้น ในปี 2520 บนที่ดินขนาด 1,253 ไร่ ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรแก่เกษตรกรที่ยากจน โดยมีนายอำเภอจะเป็นผู้คัดเลือกเกษตรกรเหล่านี้ ถึงแม้ผู้ที่ร่วมโครงการจะไม่มีผู้ค้ำประกัน แต่ธนาคารซึ่งเป็นผู้ปล่อยกู้เงินทุนค่อนข้างมั่นใจว่า หากเกษตรกรมีซีพีเป็นผู้ให้คำปรึกษาแล้วทุกอย่างจะราบรื่น เพราะซีพีเป็นทั้งตลาดรับซื้อ และค้ำประกันวงเงินกู้ของเกษตรกรกับธนาคาร
ดังนั้น ซีพีจึงนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้นซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกร โดยเริ่มจากผู้นำเกษตรกร ที่เปิดรับการเรียนรู้และการดำเนินการในรูปแบบใหม่ สร้างการมีส่วนร่วม ความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา จากนั้นบริษัททำหน้าที่หาพันธุ์สัตว์ชั้นเยี่ยมจากสหรัฐอเมริกา หลังจากได้ผลผลิตมา บริษัททำหน้าที่หาตลาดให้กับเกษตรกร เท่ากับโครงการนี้เอาความเสี่ยงทั้งหมดมาอยู่ที่ซีพี ผลปรากฎว่าผ่านไป 10 ปี จากเกษตรกรยากไร้ ไม่มีที่ทำกิน ก็สามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ได้มีที่ดิน 24 ไร่เป็นของตัวเอง จากไม่มีอาชีพก็สามารถเลี้ยงสุกรได้อย่างช่ำชอง จากไม่มีความรู้ก็สามารถรวมตัวกันจัดตั้งให้หมู่บ้านเป็นนิติบุคคล ในนาม “บริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด” อันนี้ถือว่าเป็นตัวอย่างหนึ่ง แต่ก็ได้ทำมาหลายสิบปีแล้ว แต่ในยุคนี้ เทคโนโลยีพร้อมขึ้นกว่าเดิมมาก สามารถทำให้ครบวงจร และทันสมัยได้ มากขึ้น ซึ่งกำลังเลือกพื้นที่ และจะทำให้รายได้ถึงมือเกษตรกรและเกษตรกรมีความยั่งยืน
ต่อมาในปี 2555 ซีพีได้ไปทำโครงการด้านการพัฒนาเกษตรกรรมให้กับชุมชนยั่งยืนให้ที่ประเทศจีน โดยทำโครงการไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัวผิงกู่-เครือซีพี ที่หมู่บ้านซีฟานเกอจวง (Xifan Gezhuang) ตำบลยู่โค (Yukou) เขตผิงกู่ (Pinggu) ประเทศจีน เป็นโครงการไก่ไข่ครบวงจรที่ทันสมัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย ภายใต้ชื่อ “โครงการไก่ไข่ 3 ล้านตัวผิงกู่-เครือเจริญโภคภัณฑ์” ถือเป็นโครงการที่มีขนาดการเลี้ยงใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของเอเชียและเป็นอันดับสองของโลก สามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้ถึง 3 ล้านตัว มีกำลังการผลิตไข่ไก่มากถึง 54,000 ตันต่อปี ซึ่งโครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนรวม 720 ล้านหยวนหรือประมาณ 3,600 ล้านบาท และมีเกษตรกรจีนได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการนี้ถึง 1,608 ครอบครัว หรือประมาณ 5,000 คน รายได้ของเกษตรกรมาจากการให้เช่าที่ดิน หากคิดเป็นรายคนได้ค่าเช่าคนละ 400 หยวนต่อปี โบนัสจากสหกรณ์ 1,500 หยวนต่อปี และรายได้จากค่าจ้าง โดยค่าแรงขั้นต่ำในปักกิ่งอยู่ที่ 1,500 หยวน แต่โครงการนี้จ้าง 3,000 หยวน ถ้าครอบครัวไหนมีหลายคน รายได้รวมก็มากขึ้นไปอีก ทำให้โดยเฉลี่ยเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 22,000 บาทต่อราย
รวมถึงโครงการเกษตรกรรมทันสมัยฉือซี พัฒนาพื้นที่ 8,000 ไร่ มณฑลเจ้อเจียง ให้เป็นเกษตรผสมผสานแบบทันสมัยครบวงจรที่อยู่ใกล้เมือง ใกล้นครเซี่ยงไฮ้ โดยให้ทุกอย่างอยู่ในจุดเดียวกัน ครบทั้งด้านพืชผักและปศุสัตว์ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการทำการเกษตร อาทิ นำระบบจีพีเอส และคอมพิวเตอร์มาใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องไถนา โดยไม่ต้องใช้คนขับ ช่วยลดต้นทุนและควบคุมประสิทธิภาพผลผลิต สามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ว่าพืชแต่ละชนิดเริ่มปลูกเมื่อไหร่ และนำสถิติไปสแกนคิวอาร์โค้ด ดูข้อมูลย้อนหลังของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เริ่มต้นผ่านสมาร์ทโฟนได้ สำหรับโครงการนี้วางแผนให้เป็นแหล่งผลิตอาหารป้อน 100 ล้านคนรอบนครเซี่ยงไฮ้ ในเบื้องต้นมีมูลค่าโครงการ 4,000 – 5,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 20,000 – 25,000 ล้านบาท
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนต้นแบบเพื่อยกระดับรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรไทย ซึ่งในการดำเนินการในครั้งนี้จะนำองค์ความรู้จากที่มีประสบการณ์ในหลายประเทศกลับมาทำในประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งเทคโนโลยีสมัยนี้ก้าวหน้ามาก จะทำสำเร็จได้ง่ายกว่าในอดีต และทำให้รายได้ถึงมือเกษตรกรอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดีต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้โครงการขยายผลได้ เน้นการมีส่วนร่วม และเกษตรกรเป็นเจ้าของ และที่สำคัญที่ต้องเร็วและมีคุณภาพ และหากทำสำเร็จจะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เป็นโรงเรียนพัฒนาอาชีพให้เกษตรกร ให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา :ผู้จัดการออนไลน์