เถ้าแก่ซีพี – ปั้นผู้นำรุ่นใหม่จากศูนย์ สู่การบริหารธุรกิจระดับโลก

คนรุ่นใหม่ต้องการมากกว่าการเป็นลูกจ้าง – พวกเขาต้องการเป็นเจ้าของ”

นี่คือแนวคิดที่ผลักดันให้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) สร้าง โครงการเถ้าแก่” แพลตฟอร์มปั้นผู้นำรุ่นใหม่ให้ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจภายในองค์กรอย่างแท้จริง

จากหลักสูตรที่ไม่ได้สอนแค่ “ทฤษฎีการบริหาร” แต่ให้ลงมือทำธุรกิจจริง โครงการเถ้าแก่ได้สร้างผู้นำรุ่นใหม่มากมาย หลายคนก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30 ปี และได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจสำคัญทั้งในไทยและต่างประเทศ

“ผู้นำรุ่นใหม่” ที่เติบโตจากโครงการนี้ และกลายเป็นเถ้าแก่ผู้ขับเคลื่อนธุรกิจของเครือซีพีทั้งในประเทศและในระดับโลก มีด้วยกันหลายคน ได้แก่ 1.คุณชัยรัตน์ นรรัชตสกุล (28 ปี) – ผู้ขับเคลื่อนธุรกิจค้าปลีกและ E-commerce ในจีน 2.คุณชวัลญา ภักตรนิกร (29 ปี) – ผู้เชี่ยวชาญด้านจัดซื้อและการเงินของเครือซีพี 3.คุณเกษสุรางค์ ดีจงกิจ (29 ปี) – ผู้บริหารธุรกิจฟาร์มสุกรระดับนานาชาติ 4.คุณณัชชาชนก ณ ตะกั่วทุ่ง (30 ปี) – CEO แห่งธุรกิจค้าปลีกในเครือซีพี 5.คุณฑิตา ตั้งฤทัยวาณิชย์ (32 ปี) -เถ้าแก่หญิงผู้ขับเคลื่อนธุรกิจวัตถุดิบอาหารสัตว์ในอินเดียและจีน

เริ่มกันที่ คุณชัยรัตน์ นรรัชตสกุล เถ้าแก่หนุ่มไฟแรงที่ขับเคลื่อนธุรกิจค้าปลีกและออนไลน์ในจีน

คุณชัยรัตน์ เล่าว่า เข้าร่วมโครงการเถ้าแก่ของเครือซีพี เพราะมองเห็นโอกาสที่แตกต่างจากหลักสูตรพัฒนาผู้นำทั่วไป “โครงการนี้สอนให้เราคิดและทำงานแบบ ‘เถ้าแก่’ ซึ่งหมายถึงการบริหารธุรกิจเสมือนเป็นของตัวเองจริง ๆ” ทั้งนี้ นายชัยรัตน์ได้เริ่มต้นจากการได้รับมอบหมายให้ดูแล CP Fresh Mart สาขามวกเหล็ก ซึ่งเป็นประสบการณ์แรกที่ทำให้เขาเข้าใจการบริหารธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

สิ่งที่เขาได้ค้นพบ ซึ่งถือเป็น Food for Thought คือ 1.การตัดสินใจทุกอย่างมีผลต่อยอดขายและกำไรขาดทุน 2.ต้องบริหารต้นทุน และปรับกลยุทธ์การตลาดให้ธุรกิจเติบโต 3.ได้รับอิสระในการบริหาร แต่ต้องรับผิดชอบผลลัพธ์ของตัวเอง เขากล่าวว่า “การได้บริหารธุรกิจจริงตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้ผมเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในมุมมองธุรกิจ ทักษะการบริหาร และภาวะผู้นำ”

จาก CP Fresh Mart ปัจจุบันคุณชัยรัตน์เติบโตสู่การดูแลธุรกิจค้าปลีกและออนไลน์ในจีน โดยปัจจุบันชัยรัตน์รับผิดชอบ 3 โครงการธุรกิจหลักของเครือซีพีในจีน ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกในกว่างโจว รับผิดชอบในการวางกลยุทธ์และขยายธุรกิจค้าปลีกให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการบริหารงานขาย การตลาด และพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า ธุรกิจ E-commerce ในจีนตอนใต้รับผิดชอบบริหารช่องทางการขายออนไลน์ และวางแผนกลยุทธ์ดิจิทัล และการขยายฐานลูกค้าโดยใช้เทคโนโลยีและข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โครงการ Global Sourcing รับผิดชอบคัดสรรและบริหารซัพพลายเชนระดับโลก และจัดหาสินค้าและวัตถุดิบคุณภาพสูงจากจีน เพื่อตอบสนองตลาดทั่วโลก

“สิ่งที่ทำให้ผมเติบโตเร็ว ไม่ใช่แค่โอกาส แต่เป็น ‘Mindset’ ของเถ้าแก่ที่ถูกปลูกฝังมาตลอด” นอกจากนี้ คุณชัยรัตน์มองว่าแนวคิด “เป็นลูกวัวไม่กลัวเสือ” คือกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เขากล้าคิด กล้าทำ และไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง “เถ้าแก่ต้องเป็นนักคิด นักบริหาร และนักแก้ปัญหาในคนเดียวกัน เราต้องสามารถตัดสินใจได้เร็ว และรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นให้ได้”

นอกจากนี้ คุณชัยรัตน์มองว่าโครงการเถ้าแก่ของเครือซีพี แตกต่างจากการเรียนรู้แบบทั่วไปอย่างสิ้นเชิ เพราะ ไม่ใช่แค่การอบรม แต่เป็นการทำธุรกิจจริง ที่ให้อิสระในการคิดและตัดสินใจ เน้นการเรียนรู้จากการลงมือทำจริง (Action Learning) และเป็นสร้างผู้นำที่สามารถบริหารธุรกิจรอบด้าน ไม่ใช่แค่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่นี่ไม่ได้สอนให้เราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง แต่สอนให้เราพัฒนาให้รอบด้าน และพร้อมเผชิญกับความท้าทายของธุรกิจจริง ๆ”

ในการนี้ เขามองว่าผู้นำรุ่นใหม่ที่จะประสบความสำเร็จ จะต้องมีคุณสมบัติ คือ 1.อดทน ทุ่มเท ไม่ยอมแพ้ 2.มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่ดูแล 3.กล้าคิด กล้าทำ และไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง 4.เปิดใจรับฟังความคิดเห็น และดึงศักยภาพของคนรอบตัวออกมาใช้  “ผู้นำที่ดีต้องรู้จักให้โอกาส และเปิดทางให้คนเก่งๆ ได้ช่วยกันขับเคลื่อนองค์กร” เขากล่าว และยังให้คำแนะนำต่อไปว่าคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเติบโตเร็วจะต้องกล้าคิดกล้าลองและเรียนรู้จากความผิดพลาด ต้องมองงานที่ทำเหมือนเป็นธุรกิจของตัวเอง และทำงานให้เต็มที่ เพราะถ้าธุรกิจประสบความสำเร็จ เราจะเติบโตไปพร้อมกัน สุดท้ายคืออย่าหยุดพัฒนาตัวเอง และต้องพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ เสมอ “ถ้าอยากเติบโตเร็ว ต้องคิดให้ใหญ่ และมองให้ไกลกว่าคนอื่น

อย่างไรก็ดี คุณชัยรัตน์ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นในทุก ๆ ด้าน และพร้อมรับผิดชอบธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต ด้วยการเสริมสร้างความรู้ด้านกลยุทธ์และการบริหารธุรกิจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ของเครือซีพีในจีนให้เติบโต และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจค้าปลีกของเครือซีพีขยายตัวในระดับโลก “ถ้าเราพัฒนาตัวเองให้ดีพอ เราจะได้รับความไว้วางใจให้ดูแลธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น และสามารถสร้างผลกระทบที่ดีต่อองค์กรได้มากขึ้น”

ทั้งนี้ยังมองว่า เถ้าแก่ไม่ใช่แค่พนักงาน แต่ต้องเป็นเจ้าของธุรกิจที่แท้จริง ต้องกล้าตัดสินใจ รับผิดชอบ และพร้อมเผชิญกับทุกความท้าทาย และต้องมีความกล้า มีความซื่อสัตย์ และพร้อมเปิดโอกาสให้ตัวเองและองค์กรเติบโตไปด้วยกัน

เรื่องราวของ คุณชัยรัตน์ นรรัชตสกุล เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า โครงการเถ้าแก่ของเครือซีพี คือเส้นทางที่สามารถปั้นคนรุ่นใหม่ให้กลายเป็นผู้นำธุรกิจระดับโลกได้จริง

เส้นทางเถ้าแก่รุ่นใหม่ของ คุณชวัลญา ภักตรนิกร จากนักบัญชีสู่เถ้าแก่ผู้นำด้านจัดซื้อและบริหารการเงิน

คุณชวัลญา ภักตรนิกร หรือ “โซ่” ได้ก้าวขึ้นมาเป็น เถ้าแก่กลาง และสปอนเซอร์เถ้าแก่โครงการจัดซื้อจัดหาสุกร เถ้าแก่บริหารการเงินของเครือซีพี ในวัยเพียง 29 ปี เส้นทางของเธอไม่ได้เริ่มต้นจากความฝันที่จะเป็นผู้นำธุรกิจ แต่เกิดจาก ความตั้งใจในการเรียนรู้และความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง จนทำให้เธอได้พบสิ่งที่เธอรัก และเติบโตในองค์กรอย่างก้าวกระโดด

เธอไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งนี้เร็วขนาดนี้ แต่เพราะโครงการเถ้าแก่ เปิดโอกาสให้ลงมือทำจริง ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหาร และสร้างทีมของตัวเอง ทำให้เธอสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว  “การเป็นเถ้าแก่ทำให้ได้ลองทำหลายอย่าง ทั้งบริหารการเงินและการจัดซื้อ พอทำไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มรู้ว่าตัวเองชอบอะไร และพยายามลงลึกในสิ่งนั้น จนมันกลายเป็นจุดแข็ง” ทั้งนี้จุดเปลี่ยนสำคัญคือ การได้ทำงานจริงและรับผิดชอบโครงการที่ส่งผลต่อองค์กรโดยตรง ทำให้เธอมีโอกาสเติบโตเร็วขึ้น ทั้งนี้จุดเปลี่ยนสู่การเป็นผู้นำคือการลองผิดลองถูก

“การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการลงมือทำจริง ถ้าเราอยากเติบโต เราต้องเป็นคนที่สร้างผลลัพธ์ให้กับองค์กร ไม่ใช่แค่ทำงานตามหน้าที่”โซ่ กล่าว และเธอคิดว่าผู้นำรุ่นใหม่ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้อง ไม่หยุดนิ่ง และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เข้าใจธุรกิจ และมองภาพรวมได้กว้าง เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่ใช่แค่จากทฤษฎี  สร้างผลลัพธ์ให้ได้มากกว่าที่องค์กรคาดหวัง

โครงการเถ้าแก่แตกต่างจากหลักสูตรพัฒนาผู้นำทั่วไป เพราะให้ลงมือทำจริง เมื่อลงมือทำจริง จะเจอปัญหาจริง และต้องเรียนรู้ที่จะแก้ไขมัน  ช่วยให้กล้าคิด กล้าตัดสินใจ และพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ  เปิดโอกาสให้ร่วมงานกับผู้บริหารระดับสูง และเรียนรู้จากคนที่มีประสบการณ์ “โครงการเถ้าแก่ไม่ใช่แค่การสอน แต่เป็นสนามจริงที่เปิดโอกาสให้คุณได้ลองทำ และเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจ” คุณชวัลญา กล่าว

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากเติบโตเร็ว โซ่ แนะนะว่า 1.ต้องทำทุกวันให้เต็มที่ – อย่ารอให้ใครบอกว่าต้องทำอะไร แต่ต้องมองหาโอกาสและแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง 2.ต้องคิดว่าทุกวันคือการสอ – ทำงานเหมือนกำลังถูกประเมินตลอดเวลา 3.ต้องเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว – ถ่อมตัว และพร้อมเรียนรู้จากทุกคน 4.ทำงานให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน – ถ้าอยากเติบโต คุณต้องสร้างคุณค่าให้กับองค์กร “ถ้าคุณอยากก้าวหน้า อย่ารอให้โอกาสมาหาคุณ แต่ต้องสร้างโอกาสให้ตัวเอง”

เรื่องราวของ “คุณชวัลญา ภักตรนิกร” เป็นอีกตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่ เริ่มต้นจากการค้นหาตัวเอง และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้วยความตั้งใจและความกล้า

คุณเกษสุรางค์ ดีจงกิจ กับภารกิจขับเคลื่อนธุรกิจสุกรระดับโลก

หากพูดถึงผู้นำรุ่นใหม่ของเครือซีพีที่ก้าวขึ้นมาบริหารธุรกิจระดับนานาชาติตั้งแต่อายุยังน้อย ชื่อของ “คุณเกษสุรางค์  ดีจงกิจ” ต้องเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ได้รับการกล่าวขาน

ดูแลธุรกิจสุกรทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น เวียดนาม พร้อมทั้งช่วยบริหารธุรกิจอาหารแช่แข็งของเครือซีพีในสหรัฐอเมริกา และร่วมดูแลโปรเจกต์สำคัญของเครือซีพี เช่น แม็คโคร

คุณเกษสุรางค์เรียนจบจาก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 และมีเป้าหมายตั้งแต่วัยเยาว์ว่าอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ การเข้าร่วม โครงการเถ้าแก่ของเครือซีพี จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้เธอได้ลงมือทำธุรกิจจริง และเข้าใจทุกแง่มุมของการบริหาร

“ไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งจะได้เป็นผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่อายุยังน้อย ถือว่าเป็นโอกาสที่เครือมอบให้  ตั้งใจทำทุกวันให้ดีที่สุด และพยายามเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเครือซีพี ทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงและธุรกิจอื่น ๆ ที่เครือไปลงทุนในต่างประเทศ”

คุณเกษสุรางค์ เล่าว่า เส้นทางสู่การเป็นผู้นำรุ่นใหม่ของเธอมี 3 จุดเปลี่ยนสำคัญ  ประการแรก คือ การตัดสินใจเข้าทำงานกับเครือซีพี เพราะมองว่า ซีพีเป็นองค์กรที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ทุกเชื้อชาติ ทุกพื้นฐานการศึกษา ประการที่สอง คือการได้รับโอกาสจากผู้บริหารระดับสู และที่สำคัญคือความไว้วางใจจากประธานอาวุโส  ประธานกรรมการ  CEO และ CPO ทำให้ได้บริหารโปรเจกต์สำคัญ ร่วมสร้างทีมเล็ก ๆ ขึ้นมาตั้งแต่เริ่มต้น 8 คน และพัฒนาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ  และจุดเปลี่ยนประการที่สามคือ การสร้างทีมและขยายทีม เมื่อได้รับโอกาส เธอก็เลือกที่จะเป็น “ผู้มอบโอกาส” ต่อไป โดยเรียนรู้การดูแลคน รักษาคน และช่วยสร้างเถ้าแก่รุ่นใหม่ให้เติบโตไปด้วยกัน

“ทีมงานทุกคนช่วยให้เรามาถึงจุดนี้ เราเติบโตไปด้วยกัน และเราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันน้อง ๆ ที่มีความสามารถให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเหมือนกัน”

คุณเกษสุรางค์ มองว่า การเป็น “คนเก่ง” หรือ “คนดี” อย่างเดียวไม่พอในโลกธุรกิจยุคใหม่ แต่ต้องมี ความขยัน มุ่งมั่น และไม่หยุดเรียนรู้ “ทุกครั้งที่เราหยุดพัก คนอื่นก็จะแซงเราไป เราต้องใช้เทคโนโลยีและ AI ให้เป็นประโยชน์ และต้องเข้าใจคนรอบตัว ต้องรู้จักให้ อภัย เสียเปรียบ เสียสละ ซื่อสัตย์ และตอบแทนองค์กรที่ให้โอกาสเราเสมอ”

นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการเป็นเถ้าแก่ คือ “การเป็นเจ้าของ”  ถ้าเรามีความรู้สึกเป็นเจ้าของธุรกิจ เราจะรักและทุ่มเทให้ธุรกิจเหมือนเป็นของเราเอง โครงการเถ้าแก่ของเครือซีพี แตกต่างจากหลักสูตรพัฒนาผู้นำทั่วไป เพราะให้ลงมือทำทุกอย่างเหมือนเป็นเจ้าของกิจการจริง

“เราได้รับอิสระในการคิด สร้างสรรค์ และตัดสินใจเหมือนเป็นเจ้าของธุรกิจจริง ๆ แต่ก็มีระบบสนับสนุนที่แข็งแกร่ง มีพี่ผู้บริหารคอยแนะนำ แต่ไม่ชี้นำ เปิดโอกาสให้เราตัดสินใจเอง” สิ่งที่เครือซีพีพยายามปลูกฝังให้เถ้าแก่รุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่ความสามารถทางธุรกิจ แต่คือ Mindset ของเจ้าของกิจการ”

คุณเกษสุรางค์ไม่ได้มองเพียงแค่การเติบโตของตัวเอง แต่เธออยากสร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง โดยปัจจุบันเธอมีทีมกว่า 100 คน และตั้งเป้าหมายว่าจะขยายให้ถึง 1,000 คนทั่วโลก

“อยากเห็นน้อง ๆ ที่มีแพสชัน คิดบวก มุ่งมั่น และกตัญญู ได้รับการโปรโมทเป็นผู้นำ และอยากสร้างเครือข่ายเถ้าแก่รุ่นใหม่ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น” นอกจากนี้เธอยังมีเป้าหมายในการขยายธุรกิจของเครือซีพีไปยัง จีน ฟิลิปปินส์ และตลาดอื่น ๆ ที่มีโอกาส

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากเติบโตเป็นผู้นำตั้งแต่อายุยังน้อย เกษสุรางค์แนะนำ เคล็ดลับ 3 เก่ง”  1.เก่งตน – พัฒนาตัวเองตลอดเวลา 2. เก่งงาน – เข้าใจเป้าหมายองค์กร และรู้วิธีทำให้บรรลุเป้าหมาย 3. เก่งคน – เข้าใจทั้งความต้องการขององค์กร และศักยภาพของทีมงาน

“ถ้าอยากเติบโตเร็ว ต้องเป็นทั้งคนเก่งและคนที่เข้าใจคน เราต้องรู้ว่าองค์กรต้องการอะไร ทีมต้องการอะไร และเราจะสร้างสมดุลระหว่างสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร”

เถ้าแก่ของเครือซีพี คือ อนาคตขององค์กร เรื่องราวของ คุณเกษสุรางค์ สะท้อนให้เห็นว่า โครงการเถ้าแก่ของเครือซีพีไม่ใช่แค่การพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ แต่เป็น แพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพ และในวันนี้ คุณเกษสุรางค์ ดีจงกิจ ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คนรุ่นใหม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำที่ขับเคลื่อนธุรกิจระดับโลกได้ หากมีโอกาสและความมุ่งมั่นที่มากพอ

คุณณัชชาชนก ณ ตะกั่วทุ่ง: CEO หญิงแห่งธุรกิจการค้าผักและผลไม้สด กับภารกิจปั้นธุรกิจค้าปลีกให้เติบโต

จากการเป็นเพียงเด็กสาวที่มีเป้าหมายอยากเรียนรู้จากองค์กรชั้นนำ วันนี้ คุณณัชชาชนก ณ ตะกั่วทุ่ง วัย 30 ปี ได้ก้าวขึ้นมาเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัท ซีพี เฟรช จำกัด และ ผู้อำนวยการธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตและมินิซูเปอร์มาร์เก็ตของบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน)

เธอจบการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่สามารถเติบโตอย่างรวดเร็วภายใต้ โครงการเถ้าแก่ของเครือซีพี โดยอาศัยทั้งความมุ่งมั่น ความรับผิดชอบ และจิตวิญญาณของการเป็นเจ้าของธุรกิจ

คุณณัชชาชนกเลือกเข้าร่วมโครงการเถ้าแก่เพราะเธอต้องการเรียนรู้จากองค์กรระดับแนวหน้าของประเทศและระดับโลก “ซีพีเป็นองค์กรอันดับต้นๆ ของประเทศ และเราเองก็อยากเรียนรู้จากที่ที่ดีที่สุด โครงการเถ้าแก่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ทำธุรกิจจริง  จึงไม่ลังเลเลยที่จะคว้าโอกาสนั้น”

นอกจากนี้เธอมองว่าความท้าทายเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เติบโต “ชอบทำเรื่องที่ท้าทาย เพราะรู้ว่าถ้าสำเร็จ มันจะสร้างความแตกต่าง”  และทุกบทบาท ทุกหน้าที่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง แต่ขึ้นอยู่กับ คุณค่าที่สามารถสร้างให้กับองค์กร  สำหรับณัชชาชนกนั้นเริ่มต้นจากการได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจค้าปลีกของเครือซีพี ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง และต้องการการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเธอมีแนวคิดว่าการทำธุรกิจ “ไม่ใช่แค่ทำให้สำเร็จ แต่ต้องสร้างความแตกต่าง” ความท้าทายเหล่านี้ทำให้เธอเติบโตขึ้นจากการเรียนรู้และลงมือทำจริง

กับคำถามที่ว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอก้าวกระโดดคืออะไร? คุณณัชชาชนกตอบทันทีว่า  เชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จ คือ ความรับผิดชอบต่อองค์กร “เมื่อเราได้รับความไว้วางใจจากองค์กร เราต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าเราสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีและนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ” เธอยังกล่าวถึง “พลังของความเชื่อ” ว่าหากเรามีศรัทธาในสิ่งที่ทำ และมีแรงผลักดันจากความรับผิดชอบ ธุรกิจที่เราดูแลก็จะประสบความสำเร็จไปด้วย

และกับคำถามที่ว่าผู้นำที่ดีต้องมีอะไรบ้าง? ณัชชาชนกมองว่าผู้นำที่ดีต้องมี 4 สิ่งนี้ 1.เป็นผู้ให้ – ยอมเสียสละ และรู้จักให้อภัย  2.มีความกตัญญู – ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของโอกาสและผู้ที่ช่วยเหลือเรา 3.คิดเชิงบวก – มองเห็นโอกาสในทุกปัญหา 4.กล้าคิด กล้าเปลี่ยนแปลง – ต้องซื่อสัตย์ โปร่งใส และพร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ “ในโลกธุรกิจ อะไรที่เป็นไปไม่ได้ สามารถทำให้เป็นไปได้ ถ้าเรามีความเชื่อและความมุ่งมั่นมากพอ”

สำหรับหลักสูตรเถ้าแก่นั้น  หนึ่งในสิ่งที่ทำให้เธอเติบโตอย่างรวดเร็วภายใต้โครงการเถ้าแก่ คือ การได้รับคำแนะนำตรงไปตรงมาจากผู้บริหารระดับสูง “คำแนะนำเหล่านั้นช่วยให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาด และพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว”

หลักสูตรเถ้าแก่ของซีพีแตกต่างจากการเรียนรู้แบบทั่วไป เพราะ ผู้เข้าร่วมต้องลงมือทำจริง และรับผิดชอบผลลัพธ์ของตัวเอง ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้ว่า “ธุรกิจที่เติบโต ไม่ใช่เพราะเราทำถูกเสมอไป แต่เป็นเพราะเรากล้ายอมรับความผิดพลาด และแก้ไขให้เร็วที่สุด”

คำแนะนำถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากเติบโตเร็ว จะต้อง พร้อมเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ มีความกตัญญู และตระหนักรู้ถึงโอกาสที่ได้รับ เชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ ถ้าเรากล้าลงมือทำ เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ และเปิดรับความคิดเห็นใหม่ๆ “ถ้าคุณอยากเติบโตเร็ว คุณต้องเป็นน้ำไม่เต็มแก้วเสมอ เรียนรู้จากคนเก่งๆ และต่อยอดความคิดของตัวเองให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด”

เป้าหมายในอนาคตของคุณณัชชาชนก คือการปั้นธุรกิจให้โต พร้อมสร้างทีมที่แข็งแกร่ง เธอไม่ได้มองแค่ความสำเร็จของตัวเอง แต่ให้ความสำคัญกับ “การสร้างทีม” และพัฒนาคนรุ่นใหม่ รวมถึงการทำให้ธุรกิจค้าปลีกของเครือซีพีเติบโตและแข็งแกร่งขึ้น “บริษัทจะก้าวหน้าได้ ก็ต่อเมื่อเราสร้างคนที่เก่งและดี”

นอกจากนี้มองว่าโครงการเถ้าแก่ของเครือซีพี เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้คิด สร้างสรรค์ และเปลี่ยนแปลง  เปิดโอกาสให้ร่วมคิด ร่วมสร้าง และร่วมเปลี่ยนแปลง เป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพจริง  เป็นระบบที่ให้การสนับสนุนและพัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง

“การเป็นเถ้าแก่ หมายถึง การคิดเหมือนเป็นเจ้าของธุรกิจจริงๆ ถ้าเราคิดเหมือนเป็นเจ้าของ เราจะใส่ใจในทุก ๆ รายละเอียด และทำทุกอย่างให้ดีที่สุด” เถ้าแก่ไม่ใช่แค่ตำแหน่ง แต่เป็นแนวคิดในการทำงาน เรื่องราวของ คุณณัชชาชนก ณ ตะกั่วทุ่ง สะท้อนให้เห็นว่า โครงการเถ้าแก่ของเครือซีพี คือ เส้นทางที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เติบโตเป็นผู้นำได้จริง

คุณฑิตา ตั้งฤทัยวาณิชย์ : เถ้าแก่หญิงแห่งอินเดียและจีน

หากพูดถึงผู้นำหญิงที่ก้าวขึ้นมาบริหารธุรกิจระดับนานาชาติในเครือซีพี “คุณฑิตา ตั้งฤทัยวาณิชย์” หรือ ลิลลี่ คือตัวอย่างที่น่าทึ่ง ด้วยวัยเพียง 32 ปี เธอมีตำแหน่งเป็น Chief Operating Officer (COO) ประจำอินเดียและจีน รับผิดชอบการจัดซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์ และดูแล ธุรกิจ Trading ของเครือซีพี

จากเส้นทางที่เริ่มต้นจากการเรียน วิทยาศาสตร์ เคมี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาต่อด้าน Marketing Management ที่ University of Southampton UK จนกระโดดเข้าสู่โลกธุรกิจอย่างเต็มตัว

หลังจากเรียนจบ ลิลลี่มองหาโอกาสที่ “เปิดกว้างและเรียนรู้ได้จากของจริง” ซึ่งโครงการ เถ้าแก่ของเครือซีพี ตอบโจทย์เธออย่างลงตัว “ตอนแรกแค่คิดว่าอยากเข้าร่วมโครงการ Management Trainee เพื่อเรียนรู้ธุรกิจหลายๆ ด้าน และค้นหาตัวเองว่าเราชอบและถนัดอะไร แต่สิ่งที่ได้กลับมากกว่านั้นมาก” โครงการนี้ไม่ได้แค่ให้เธอเรียนรู้ธุรกิจที่ดูแลโดยตรง แต่ยังเปิดโอกาสให้ เข้าใจภาพรวมของเครือซีพี ทำให้เธอได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้บริหาร และเรียนรู้จากคนเก่ง ๆ ในองค์กร

จากทีมเล็ก ๆ 5-6 คน สู่การบริหารธุรกิจระดับโลก  ลิลลี่ กล่าวว่า “ไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งจะได้เป็นผู้บริหารระดับสูง และดูแลธุรกิจสำคัญของเครือ” จากวันแรกที่เข้าทำงานในทีมเล็ก ๆ เธอเริ่มต้นด้วยความสนุก เรียนรู้การทำงานเป็นทีม และพัฒนาแนวคิดการบริหารไปพร้อมกัน

ปีที่ 1: ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมทีม คิดและสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ  ปีที่ 2: เริ่มเป็นสปอนเซอร์ดูแลธุรกิจในประเทศไทย ฝึกภาวะผู้นำและการบริหารทีม  ปีที่ 3: ขยายไปดูแลธุรกิจต่างประเทศ ทำให้เธอได้เรียนรู้การทำงานข้ามวัฒนธรรม และบริหารความหลากหลาย ทุกปีมีเรื่องใหม่ๆ ที่ท้าทาย และโอกาสดีๆ ที่เข้ามาตลอด” ลิลลี่ เล่าถึงการทำงาน

วินัย ความอดทน และการบริหารเวลา คือ กุญแจสู่ความสำเร็จ ลิลลี่มองว่า “ความสำเร็จไม่ได้เกิดจากโชค แต่เกิดจากวินัย” เธอเปรียบเทียบว่าเหมือนกับการสอบ ถ้าคุณอ่านหนังสือทุกวัน คุณจะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ การทำงานก็เช่นกัน

ทุกเช้า จะทำ To-Do List ว่าอะไรที่ต้องทำให้สำเร็จ ยิ่งทำมาก ยิ่งเรียนรู้มาก และเมื่อเจอปัญหา ห้ามปล่อยผ่าน ต้องมองว่าปัญหาของบริษัท ก็คือปัญหาของเรา” และเธอยังเชื่อมั่นในพลังของทีมและการให้โอกาส“เราต้องให้โอกาสและสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพ เพราะทุกความสำเร็จไม่ได้เกิดจากเราคนเดียว แต่เกิดจากทีมงานที่ช่วยกันขับเคลื่อน”

ผู้นำรุ่นใหม่ จะต้องมีคุณสมบัติ 3 ข้อ  ข้อแรกต้องเปิดใจและเรียนรู้ตลอดเวลา ลิลลี่คิดว่าช่วงอายุ 25-30 เป็นช่วงเวลาที่เราสามารถลองผิดลองถูกได้มากที่สุด หากทำผิดก็เรียนรู้ และอย่าทำผิดซ้ำข้อสองต้องขยันและมุ่งมั่น เพราะความขยันเป็นพื้นฐานของความสำเร็จ แต่ไม่ใช่แค่ขยันอย่างเดียว ต้องมีแนวคิดที่ถูกต้องด้วย ข้อสามต้องพร้อมเสียสละ และมีทักษะเฉพาะทาง

ผู้นำที่ดีต้องรู้จักให้ อภัย และเสียสละ บางครั้งต้องยอมเพื่อให้งานเดินหน้า” และถ้าอยากก้าวกระโดด ต้องมี Special Skills เช่น ทักษะภาษา หรือความสามารถพิเศษอื่น ๆ

หลักสูตรเถ้าแก่ คือ การเรียนรู้จากการลงมือทำจริง “เครือซีพีเปิดกว้างสำหรับไอเดียใหม่ๆ ถ้าเราคิดว่าสิ่งไหนมีประโยชน์ เราสามารถลงมือทำได้เลย!ในหนึ่งปี ถ้าคุณมีศักยภาพจริง คุณสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารได้!”

เป้าหมายในอนาคต คือการพัฒนาธุรกิจ และสร้างผู้นำรุ่นใหม่ ลิลลี่ไม่ได้มองแค่ความสำเร็จของตัวเอง แต่เธอให้ความสำคัญกับ การสร้างทีมและพัฒนาคนรุ่นใหม่  เป้าหมายของเธอคือการพัฒนาธุรกิจที่รับผิดชอบให้เติบโตขึ้นทุกปี การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ให้ทีมมีความสุขและผลักดันให้คนในทีมเติบโต และประสบความสำเร็จในสายอาชีพ “อยากให้คนทำงานด้วยใจ และมีความสุขในทุก ๆ วันของการทำงาน”

เถ้าแก่ของเครือซีพี = ต้นแบบของการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ลิลลี่มองว่า “โครงการเถ้าแก่” เป็นต้นแบบที่ดีของการพัฒนาคนรุ่นใหม่ เพราะออกแบบมาให้เติบโตตั้งแต่วันแรก  มีระบบ Training และ Learning Space มีการตั้งเป้าหมายรายไตรมาส และมีผู้ให้คำปรึกษา มีการประเมินผลและการ Report Out ทุกเดือน “ทั้งหมดนี้สร้างเป็นระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง ช่วยให้คนรุ่นใหม่เติบโตได้อย่างยั่งยืน”

สุดท้ายแล้ว “เถ้าแก่” หมายถึงอะไร? เถ้าแก่ คือ ผู้นำที่ต้องทำได้ทุกอย่าง ต้องเป็นนักกลยุทธ์ นักวิเคราะห์ นักปฏิบัติ และนักสร้างคน เมื่อเป็นคนเก่งแล้ว ก็ต้องเป็นคนดี มีคุณธรรมด้วย”

จากการค้นหาตัวเอง สู่การเป็นผู้บริหารระดับสูง  เส้นทางของ  คุณฑิตา ตั้งฤทัยวาณิชย์ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า โครงการเถ้าแก่ของเครือซีพี คือพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากเติบโตเป็นผู้นำ