นายเคอะ เล่าว่า “…ชุมชนบ้านกองกาย” อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนที่อยู่บนพื้นที่สูง แต่เดิมที่บ้านปลูกข้าวโพดเป็นหลัก แล้วก็มีข้าวไร่ พืชผลอื่นๆเล็กน้อย ซึ่งต้องใช้พื้นที่เยอะ ดูแลยาก และถ้าปลูกซ้ำหลายๆครั้งก็จะทำให้ดินเสียปลูกไม่ขึ้น แต่เมื่อ 6 ปีก่อน มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี เข้ามาส่งเสริมชุมชนให้ปลูกกาแฟ จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ เพราะการปลูกกาแฟดูแลง่ายกว่า ใช้พื้นที่น้อย และที่สำคัญคือปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บผลผลิตได้ในระยะยาวหลายปี ผลผลิตแต่ละปีมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ปัจจุบัน ปลูกแล้ว 1,000 ต้น ในพื้นที่ 4 ไร่
“ชุมชนบ้านกองกาย” เริ่มมีความเข้าใจปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกันปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตร”
“…นอกจากเรื่องอาชีพแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ในบริเวณชุมชนมีป่าสีเขียวเพิ่มมากขึ้นจากการปลูกกาแฟ อากาศดีขึ้น สามารถลดหมอกควันจากการเผาซังข้าวโพด สำหรับคนในชุมชน หลายคนก็เริ่มมีความเข้าใจในการช่วยกันปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตร เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น เพราะมีเครือซีพีเข้ามาสนับสนุนทั้งกล้ากาแฟ องค์ความรู้ในการดูแล บำรุงรักษาให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตลอดจนแหล่งน้ำในการทำเกษตร แต่บางคนเข้าใจผิดว่ากาแฟดูแลยาก มีความยุ่งยาก กว่าจะได้ผลผลิต และบางคนปลูกข้าวโพดในพื้นที่จำนวนมาก ทำให้ได้รายได้มาก จึงต้องทำความเข้าใจกันต่อไป ขอขอบคุณเครือซีพี และหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาส่งเสริมชุมชนในระยะยาว…” นายเคอะกล่าวฯ
เครือซีพี ส่งเสริม “ปลูกกาแฟ” ทดแทนการปลูก “ข้าวโพด” ตั้งเป้าฟื้นฟูป่าต้นน้ำภาคเหนืออย่างยั่งยืน
ตลอดกว่า 7 ปีที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยนำนโยบายด้านความยั่งยืนเครือฯ เข้าไปดำเนินงานในพื้นที่ ผ่านโครงการศูนย์วิจัยบ้านกองกาย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ภายใต้ “แม่แจ่มโมเดล” ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ กรมป่าไม้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ มูลนิธิฮักเมืองแจ๋ม สถาบันอ้อผะหญา มูลนิธิไทยรักษ์ป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และชุมชนในเครือข่ายแม่แจ่มโมเดล ในการเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตควบคู่ไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่ายั่งยืน โดยทำการศึกษาพืชที่เหมาะสมกับภูมิประเทศภาคเหนือซึ่งเป็นภูเขาสูงชัน โดยได้เลือก “กาแฟพันธุ์อาราบิก้า” ซึ่งเป็นพืชมูลค่าสูง และมีตลาดรองรับแน่นอน มาส่งเสริมเกษตรกรปลูกทดแทนพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งจะสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียว พร้อมกับการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืนทั้งในด้านมิติ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
โดยปัจจุบัน เกษตรกรได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟบ้านกองกายกว่า 1,100 คน สร้างรายได้กว่า 4.25 ล้านบาท และต่อยอดสู่กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) สามารถปกป้องและฟื้นฟูป่ากว่า 8,700 ไร่ นอกจากนี้ มีศูนย์วิจัยกาแฟชุมชนบ้านกองกาย และโรงแปรรูปกาแฟ ให้สามารถเป็นชุมชนต้นแบบและเป็นแหล่งเรียนรู้ขยายต่อยอดเป็นโมเดลไปในชุมชนอื่นๆ โดยเครือซีพี ขยายยังพื้นที่บ้านแม่วาก ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ จัดตั้ง “ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว” ที่สามารถเพาะชำกล้าไม้ระยะสั้นและระยะยาว ปลูกกล้าสร้างอาชีพปลูกผักอินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยร่วมกันอนุรักษ์และรักษาให้ป่าต้นน้ำที่สำคัญของ อ.แม่แจ่ม ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นปอดขนาดใหญ่ให้กับประชาชนภาคเหนือ ลดปัญหาหมอกควันไฟป่าที่เป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน