ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตปัญหาหมอกควันไฟป่า ที่ก่อให้เกิดค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานวนเวียนมาทุกปี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน ส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และสุขภาพของประชาชนที่รุนแรงและกินระยะเวลายาวนานติดต่อกันหลายเดือน
สาเหตุสำคัญเกิดหมอกควันทางภาคเหนือนั้นมาจากไหน?
หมอกควันที่เกิดขึ้นนั้นมีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่สำคัญคือเกิดจากการเผาไหม้ การเกิดไฟป่าจำนวนหลายครั้ง การเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝน การเผาไหม้ เหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ซึ่งจะแพร่กระจายไปยังบริเวณชุมชนมลพิษหมอกควันทางภาคเหนือจัดเป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่สำคัญปัญหาหนึ่งของประเทศไทย ประกอบกับสภาพภูมิประเทศ ที่เป็นแอ่งกระทะ และสภาพภูมิอากาศในช่วงฤดูหนาวที่มีความกดอากาศสูง สภาพอากาศนิ่งและแห้งเป็นเวลานาน ทำให้มีการสะสมของสารมลพิษเหล่านี้ในบรรยากาศสูงเกินมาตรฐาน
“เครือซีพี” ให้ความสำคัญปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในภาคเหนือ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
คุณจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เล่าว่า เป้าหมายการขับเคลื่อนธุรกิจของเครือซีพี มีนโยบายควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเครือซีพีได้ให้ความสำคัญกับปัญหาที่ทั่วโลกเผชิญอยู่คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เครือฯ จึงให้ทุกกลุ่มธุรกิจ Key Stakeholder ร่วมกับทุกภาคส่วน อาทิ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และชุมชน แก้ปัญหาในมิติต่างๆทั้งห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบในเป้าหมายเดียวกัน โดยมีความมุ่งมั่นสู่การเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และมุ่งสู่การลดขยะเป็นศูนย์ ภายในปี 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero)ภายในปี 2050 ตามองค์การสหประชาชาติและอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ถือเป็นความท้าทายมาก โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลและปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเด็นสำคัญที่ทุกหน่วยงานต้องทบทวนคงหนีไม่พ้นเรื่อง ปัญหาฝุ่นควันที่ก่อให้เกิดมลพิษ PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่เผชิญมาตลอดต่อเนื่องทุกปี และหนักที่สุดคือ ปัญหาหมอกควันไฟป่าในภาคเหนือ
“…เป็นผลให้เมื่อปี 2558 – จนถึงปัจจุบัน เครือซีพี ได้เข้าไปดำเนินงานด้านความยั่งยืนใน การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภาคเหนือต้นน้ำ ปิง วัง ยม น่าน ใน 4 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงใหม่ ลำปาง และพะเยา ในการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนอาชีพ ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ใช้สารเคมีจำนวนมาก ปลูกพืชมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “กาแฟใต้ป่า” และไม้ผลเมืองหนาวอื่นๆ โดยเข้าไปช่วยศึกษาและหาแนวทางตั้งแต่ต้นน้ำ – ปลายน้ำ พร้อมจัดตั้งสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในการเป็นศูนย์กลางพัฒนาชุมชน ระดับภูมิภาค ส่งเสริมชุมชน พัฒนาอาชีพ ต่อยอดสู่ตลาด โดยมีเป้าหมายคือ ชุมชนมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ไปพร้อมกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การที่ “ชุมชนอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน คุณจอมกิตติกล่าว…”
“เยาวชน” มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมถิ่นฐานบ้านเกิด
นอกจากนี้ เครือซีพี มองว่า “เยาวชน” เป็นช่วงวัยของการเรียนรู้และสามารถเปิดรับสิ่งใหม่ๆได้ดีและรวดเร็ว อีกทั้งเป็นบุคลากรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติในอนาคต จึงมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมถิ่นฐานบ้านเกิดในอนาคต เกิดเป็นแนวคิดเริ่มต้นโครงการค่ายผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ ENVI camp For young talent : LESS is more l Carbon credit ภายใต้หลักสูตร Sustainable Leadership Development Program : SLDP ในการเติมองค์ความรู้ สร้างประสบการณ์นอกห้องเรียนในเรื่องสิ่งแวดล้อม อาทิ เรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ ป่าชุมชน เรียนรู้เรื่องก๊าซเรือนกระจก ภาวะโลกร้อน การวัดการเติบโตของต้นไม้ ในการกักเก็บคาร์บอน เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนตระหนักรู้คุณค่าของสิ่งแวดล้อม รู้ปัญหาภาวะโลกร้อน โดยเริ่มแล้วที่ จ.น่าน และ จ.เชียงราย
“แอนโทนี” ยุวทูต SEAMEO เยาวชนต้นแบบร่วมสร้างแรงบันดาลใจ
สำหรับการเข้าไปดำเนินโครงการปั้นเยาวชนใน จ.เชียงราย มีเยาวชนต้นแบบในพื้นที่ “แอนโทนี” ยุวทูต องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAMEO วัย 18 ปี ที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนเป็นกระบอกเสียงแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในถิ่นฐานบ้านเกิดตนเองอย่างต่อเนื่อง ในเป้าหมายเดียวกับเครือซีพี คือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในภาคเหนือ เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยมี “เยาวชน” เป็นทัพหน้าสำคัญในการเป็นกระบอกเสียงให้กับครอบครัวและชุมชน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
เตรียมขยายเครือข่ายผู้นำ “เยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม” ครอบคลุมภาคเหนือตอนบน
สำหรับโครงการค่ายผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมนำร่องในภาคเหนือตอนบน จนกระทั่งขยายสู่ทุกภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อขยายผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม ให้น้อง ๆ “เยาวชน” ได้เติมประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สร้างความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญ และก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางแก้ไข ซึ่งทั้งหมดก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเปลี่ยนปรับพฤติกรรมให้เยาวชนเห็นความสำคัญของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญสามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ปกครองและชุมชน ในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน