วันที่ 18 มีนาคม 2565 – คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ เครือซีพี ร่วมปิดโครงการและแถลงผลความสำเร็จของโครงการ Climate Action Leaders Forum รุ่น 1 เวทีระดับผู้นําภาครัฐและภาคเอกชน ที่ร่วมกัน Brainstorm การดำเนินงานเชิงรุกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Action เพื่อกำหนดเป้าหมายด้าน Climate Action ของแต่ละองค์กร ตลอดจนแลกเปลี่ยนมุมมองด้านมาตรการที่จะสนับสนุน Climate Action ของประเทศไทยในอนาคต
โดยมี คุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้สนับสนุนโครงการ และภาคีเครือข่าย อาทิ ผู้แทนจาก United Nations Development Programme การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จํากัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) ร่วมแถลงผลความสําเร็จโครงการฯ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วมของ CLIMATE ACTION LEADERS FORUM #รุ่น 1 ว่าด้วยการมุ่งมั่น ร่วมมือ ส่งเสริม และสนับสนุนการดําเนินงานต่อสู้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศร่วมกัน
คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ เครือซีพี กล่าวว่า ในวาระซีพี 100 ปี เครือซีพีตระหนักถึงบทบาทของประเทศไทยที่จะร่วมเป็นหนึ่งในประชาคมโลก ที่จะร่วมจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนสำคัญของโลกขณะนี้
โดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอ เครือซีพี ได้ผนึกกำลังประชาคมโลกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ UNFCCC ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ “Race to Zero” หรือ “ปฏิบัติการแข่งขันเพื่อคาร์บอนเป็นศูนย์” พาองค์กรธุรกิจก้าวสู่ยุค “เศรษฐกิจปลอดคาร์บอน” ในงานประชุม Climate Week NYC ของสหประชาชาติ ตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย นำเครือซีพีมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (คาร์บอนนิวทรัล) ภายในปี 2030 โดยจะใช้เทคโนโลยี-นวัตกรรมขั้นสูงในกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
เครือซีพีจะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ เริ่มตั้งแต่การใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนที่เหลือ ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า และป่าชายเลนเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว โดยตั้งเป้าหมายปลูกต้นไม้ 20 ล้านต้นภายในปี 2568
ตลอดจนการสรรหาเทคโนโลยีและสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกับคู่ค้า เกษตรกร และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุดรวมถึงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
โดยตั้งเป้าหมายการลดขยะอาหารและของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบให้เป็นศูนย์ และบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ทั้งหมดสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ ภายในปี 2573 ด้วยการเปลี่ยนของเสียให้นำกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ประโยชน์ได้ เครือซีพีได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน, การใช้พลังงานหมุนเวียน, การผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดโครงการที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยปีละกว่า 9 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
“ในส่วนของภาคเอกชนยังคงต้องพัฒนากระบวนการผลิตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด เพื่อให้ไปถึงมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้หากภาครัฐ สามารถดำเนินนโยบาย วางกฎกติกาต่าง ๆ ที่จะเอื้อให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ช่วยลดโลกร้อน พัฒนาเกี่ยวกับงานวิจัยอันนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงภาคประชาชนหรือทุกคนต้องตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องลดโลกร้อน ลดก๊าซเรือนกระจก ต้องเห็นคุณค่าสินค้าหรือบริการที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดโลกร้อนได้”
ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือซีพี กล่าวปิดท้ายว่า โครงการ Climate Action Leaders Forum หรือ CAL Forum ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายชั้นนำภาครัฐและเอกชนของประเทศจัดขึ้นนี้ ถือเป็นเวทีที่รวมพลังความคิด จากผู้นำของทุกภาคส่วนในประเทศไทย เพื่อช่วยกันหยุดวิกฤติโลกร้อน ซึ่งแม้ว่า CAL Forum รุ่นที่ 1 จะปิดโครงการลงแล้ว เชื่อมั่นว่าภาครัฐและภาคธุรกิจจะช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน