พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง กองบัญชาการกองทัพไทย จากโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสร้างผู้นำองค์การภาครัฐ และเอกชน เข้าศึกษาดูงานสถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสร้างผู้นำองค์กรระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ คุณสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ในการสร้างผู้นำองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่คณะผู้บริหารระดับสูง ระดับรองผู้อำนวยการขึ้นไป จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างผู้นำองค์กร โดยมีการจำลองรูปแบบการเรียนรู้แบบ Action Learning ของสถาบันผู้นำฯ แบ่งกลุ่มย่อยเพื่อประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือทำเวิร์กชอประดมความคิดใน 3 เรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับการสร้างผู้นำ ได้แก่ 1.ด้านคน 2.ด้านเทคโนโลยี และ 3.ด้านภูมิรัฐศาสตร์ พร้อมรายงานผลลัพธ์ที่ได้จากการเวิร์กชอประดมความคิด และรับฟังข้อชี้แนะจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง นอกจากนี้ยังได้ร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษจากท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ และคุณศุภชัย เจียรวนนท์
พลเอกทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า ขอขอบคุณเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนากำลังพลของกองทัพ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสร้างผู้นำภาครัฐและภาคเอกชนในครั้งนี้นับเป็นการเพิ่มพูนความรู้ประสบการณ์ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ต่อไป
ในการศึกษาดูงานครั้งนี้ ท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ได้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยระบุว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์มีความสำนึกและตอบแทนบุญคุณแผ่นดินไทย และพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ และตระหนักดีว่าการที่เครือฯได้ขยายกิจการไปได้หลายประเทศ เพราะเกิดจากแผ่นดินไทย ในปีนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา เครือฯจะรวมพลังทุกกลุ่มธุรกิจจัดกิจกรรมยิ่งใหญ่เพื่อแสดงถึงความกตัญญูที่เครือเติบโตมาจนถึงปัจจุบันเพราะอยู่ในแผ่นดินไทย และการที่ประเทศไทยสงบสุขร่มเย็น ก็เป็นเพราะกองทัพมีส่วนสำคัญทำให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพ ทำให้ประเทศไทยได้มีโอกาสในวันนี้
พร้อมกันนี้ท่านประธานอาวุโสได้กล่าวถึงสถาบันผู้นำว่าท่านเรียนรู้มาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ใช่แค่สถาบันผู้นำ เครือฯเริ่มต้นที่เกษตรก็เพราะได้ความรู้จากอเมริกาเช่นกัน โดยร่วมทุนกับร็อกกี้เฟลเลอร์เลี้ยงไก่ เครือฯยังเชื่อมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีและคิดว่าเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในโลกยังเป็นอเมริกา อย่างไรก็ตามเครือฯก็ยังเรียนรู้เทคโนโลยีจากประเทศอื่น ๆ ด้วย
นอกจากนี้ท่านประธานอาวุโสได้กล่าวกับคณะผู้บริหารระดับสูงของกองทัพไทยว่าท่านเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย ซึ่งไม่ได้จะเป็นเพียงศูนย์กลางอาเซียน 10 ประเทศ แต่ไทยจะเป็นศูนย์กลางในด้านต่าง ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี การค้า การเงิน ฯลฯ เพียงแต่ประเทศไทยต้องออกกฎหมายให้ทันสมัยมีเงื่อนไขที่ดี ดึงดูดคนเก่งเข้าประเทศ และดึงคนไทยที่เก่ง ๆ กลับมาประเทศไทย โดยยกตัวอย่างสิงคโปร์เป็นประเทศที่ดึงคนเก่งมาเท่ากับครึ่งหนึ่งของคนในประเทศ สำหรับไทยหากสามารถดึงคนเก่งมาได้สัก 5 ล้านคนก็จะสร้างงานสร้างรายได้ เพราะปีหนึ่งเรามีเด็กจบใหม่ปีละ 400,000 คนกลุ่มนี้ก็จะได้งาน ได้เงิน ได้ความรู่ เท่ากับได้สร้างคนเก่ง “หากเราสร้างคนเก่ง 10 ล้านคน ถ้าสร้างเองอาจใช้เวลาถึง 20 ปี วันนี้เป็นโอกาสดีของไทยในการดึงคนเก่งจากทั่วโลกเข้ามา” นอกเหนือจากนี้ท่านประธานอาวุโสยังเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยยังเต็มไปด้วยโอกาส
ในโอกาสนี้ท่านประธานอาวุโส ได้แบ่งปันเรื่องค่านิยม 6 ประการแก่คณะผู้บริหารระดับสูงของกองทัพไทย โดยกล่าวว่า “เครือมี 6 ข้อค่านิยม ข้อแรก เราอยู่ไทยต้องเทิดทูนพระมหากษัตริย์ ต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน และพระมหากษัตริย์ ดังนั้นเราไปประเทศไหนต้องตอบแทนบุญคุณประเทศนั้น ข้อที่ 2 เราต้องทำอะไรที่เร็วและมีคุณภาพ ข้อ 3 เราต้องมีนวัตกรรมใหม่ ซึ่งก็ต้องสร้างคนเก่งๆ มีนวัตกรรมดีให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง ข้อ 4 พนักงานของเครือต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง คนส่วนใหญ่จะไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อมีนวัตกรรมมีของใหม่ก็ต้องเปลี่ยนแปลง ข้อ 5 ทำเรื่องยากเป็นเรื่องง่าย ข้อ 6 กตัญญู ซื่อสัตย์ จิตใจต้องกว้าง รู้จักให้ รู้สึกเสียเปรียบ เสียสละ รู้จักอภัย คนที่จะเป็นผู้บังคับบัญชาต้องดูแลลูกน้องเหมือนพี่น้อง ลูกหลาน
สำหรับสถาบันผู้นำ ก็เหมือนเราสร้างสตาร์ทอัพ หาคนรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยมาเป็นทีม ไม่เรียกว่าเป็นพนักงาน แต่เรียกว่าเป็นเถ้าแก่ ต้องเป็นเถ้าแก่ที่รู้ทุกเรื่อง รู้กำไร ขาดทุน ต้องมีแรงกดดัน ไม่ใช่รับแต่เงินเดือน ส่วนผู้นำต้องชี้แนะ ไม่ชี้นำ
ท้ายสุดท่านประธานอาวุโสกล่าวกับคณะผู้บริหารกองทัพไทยว่าทุกท่านเป็นผู้มีความรู้ ผมนับถือนายทหารทุกรุ่น ไม่เคยมีผลประโยชน์ใด ๆ ประเทศไทยเติบโตมาจนถึงปัจจุบันและมั่นคงได้ เพราะมีทหาร ส่วนการพัฒนาประเทศไทยให้เติบโตเป็นศูนย์กลางของโลกได้นั้น ถ้าแก้กฎหมายได้จะเกิดประโยชน์กับส่วนรวม และสุดท้ายตอกย้ำว่าคนยังสำคัญแม้โลกจะเป็นยุคแห่งเทคโนโลยีและAI มนุษย์ที่เกิดใหม่ก็จะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เชื่อว่าAIจะเก่งเกินมนุษย์
ด้านคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอ เครือซีพี นำเสนอประสบการณ์ด้านการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ในหัวข้อ เครือซีพีกับเส้นทางสู่ความยั่งยืน โดยระบุว่าความเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันถือเป็นความท้าทายใหม่ที่ทุกคนต่างต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็นเครือซีพีหรือใคร ๆ ความท้าทายดังกล่าวมี 6 ประการ 1.ความเหลื่อมล้ำ เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคนบนเวทีโลกอย่างเช่น World Economic Forum ต่างถกกันถึงเรื่องนี้ 2.การปฏิรูปดิจิทัล ซึ่งไม่ใช่แค่ความเป็นอัจฉริยะในส่วนบุคคล แต่หมายถึงความเป็นอัจฉริยะของประเทศ บริษัทใดปรับตัวไม่ได้ก็จะต้องปิดตัวไปในที่สุด ยุคต่อไปอุตสาหกรรมต้องปรับตัวสู่ดิจิทัล 3.ความผันผวนทางภูมิอากาศ 4.ขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ 5.พฤติกรรมของผู้บริโภค 6.สุขภาพ ทั้งยังกล่าวถึง 4 ปัจจัยใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบันได้แก่ 1. ความรู้และจริยธรรม ต้องส่งเสริมให้เกิดห้องเรียนขนาดใหญ่ ที่ให้คนเรียนรู้ทั้งความรู้และคุณธรรมได้ นอกจากนี้ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ทรัพยากรมนุษย์เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดของประเทศ 2. การเข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นธรรม พบว่า 70%ของประชากรในประเทศเข้าไม่ถึงแหล่งทุนที่เป็นธรรม 3.สื่อสาร การเข้าถึงเทคโนโลยีด้านคอมพิวติ้งและอินเตอร์เน็ต วันนี้ระบบการศึกษาเราเป็นที่ 5 ของโลก ต้องให้เด็กทุกคนมีคอมพิวเตอร์ ใส่โปรแกรมที่เหมาะสม เปลี่ยนการศึกษาแบบเดิมคือทำการบ้านให้ได้ สอบให้เสร็จ…ต้องเปลี่ยนเป็น ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ อภิปรายด้วยเหตุผล เด็กยุค2.0 กับยุคปัจจุบันต่างกัน ยุคใหม่ไม่กลัวปัญหา และ 4.ระบบประกันสังคม ถ้าระบบนี้เกิดจะทำให้เกิดความเสมอภาคช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ ทั้งนี้ซีอีโอ เครือซีพี ยังได้กล่าวถึงวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุค 5.0 และนำเสนอ SI Model หรือ Sustainable Intelligence Transformation สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน เป็นกรอบแนวคิดในการขับเคลื่อนประเทศไทย
สำหรับเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือซีพี ซีอีโอของเครือฯได้กล่าวว่า เครือซีพีนั้นขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนครอบคลุมถึง 15 ประเด็น ซึ่งเป็นไปภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ Heart-Health-Home และมีเป้าหมายในการเป็น carbon neutral ในปี 2030 และ net zero ในปี 2050
การศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตามโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสร้างผู้นำองค์การภาครัฐ และเอกชน ระหว่างกองบัญชาการกองทัพไทย และเครือเจริญโภคภัณฑ์ในครั้งนี้ มุ่งเน้นการสร้างผู้นำเพื่อพัฒนากองทัพรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ จึงเข้าศึกษาดูงานที่สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งคุณพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้สรุปภาพรวมการดำเนินการของสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์เกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากร และการสร้างคนในแบบฉบับของเครือเจริญโภคภัณฑ์และการสร้างคนเพื่อสังคม ซึ่งสถาบันผู้นำ เครือฯ ก่อตั้งขึ้นจากวิสัยทัศน์ของท่านประธานอาวุโสธนินท์ ที่ต้องการสร้างสถาบันพัฒนาผู้นำระดับโลก มีความเป็นเลิศรอบด้าน ใช้เป็นแหล่งบ่มเพาะยุทธศาสตร์ และผนึกกำลังร่วมกันเพื่อพัฒนาแผนธุรกิจ ต่อยอดสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและสร้างความยั่งยืน ตามค่านิยม 3 ประโยชน์ขององค์กร คือเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชนและองค์กร โดยพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ผ่านโครงการเถ้าแก่ผ่านการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานที่ผ่านการอบรมเป็นเถ้าแก่แล้ว 9,700 คน นอกจากนี้ เครือซีพียังมีนโยบายด้านทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับการเป็นองค์กรแห่งอนาคต ผสมผสานการทำงานของคนและเครื่องจักรเพื่อประโยชน์สูงสุด
ด้าน ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานผู้บริหารยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร และประธานผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดเพื่อพัฒนาไปสู่ยุค 5.0 ว่า หลังจากสถานการณ์โควิด โลกอยู่ในช่วงการปรับสมดุลใหม่ ซึ่งมีประเด็นความเสี่ยงที่ต้องจับตา อาทิ สงครามที่มีความยืดเยื้อในยุคโลกหลายขั้ว และการรวมประเทศเพื่อการเเข่งขัน ซึ่งหากวิเคราะห์ตามภูมิรัฐศาสตร์ จะเห็นว่าทิศทางในปี 2024 มีเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญหลายเหตุการณ์ เช่น ความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ส่วนด้านเทคโนโลยี เป็นยุคที่เทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แบ่งคนเป็น 2 ประเภท คือคนใช้เทคโนโลยี กับคนถูกเทคโนโลยีเเทนที่ ดังนั้นภาคธุรกิจจึงต้องมีการปรับตัวทุกด้าน ตั้งเเต่พลังงานสะอาด เทคโนโลยีอัจฉริยะ และความยั่งยืน นอกจากนี้ ยังต้องตระหนักถึงปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ และสุดท้ายการพัฒนาคน ดังนั้นการทำกิจกรรมเวิร์กชอประดมความคิดร่วมกันของคณะผู้บริหารระดับสูงกองบัญชาการกองทัพไทยครั้งนี้ จะนำมาซึ่งความเห็นใหม่ ๆ และแผนการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม
บรรยากาศการศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสร้างผู้นำองค์กรครั้งนี้ เต็มไปด้วยพลังแห่งการเรียนรู้ คณะผู้บริหารรระดับสูงได้เเสดงความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและร่วมกันแสดงความเห็นเพื่อกลั่นกรองเป็นข้อเสนอแนะ หาเเนวทางร่วมกันเพื่อวางแผนพัฒนากองทัพรองรับการเปลี่ยนแปลงยุคใหม่ ทั้งด้านการพัฒนากำลังคน เทคโนโลยี และการรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเครือเจริญโภคภัณฑ์มีโครงการความร่วมมือระหว่างกันกับกองทัพบกในการพัฒนากำลังพล โดยส่งเสริมการสร้างทักษะและจัดหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมหลังปลดประจำการ และจะขยายผลยกระดับไปสู่ความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมต่อไป