กรุงเทพฯ : 4 ตุลาคม 2567 – ซีพี ไทยเบฟ และเอสซีจี ลงนามบันทึกข้อตกลง “ร่วมสืบสานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความสมดุลและยั่งยืน” ผลักดันหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในระดับประเทศและยกระดับสู่สากล เพื่อเทิดพระเกียรติและสืบสานพระราชปณิธานในวาระ 100 ปีชาตกาล ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในปี พ.ศ. 2570
บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และเอสซีจี ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง “ประกาศเจตนารมณ์ร่วมสืบสานเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความสมดุลและยั่งยืน” โดยมี คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เป็นผู้ร่วมลงนาม ในงาน SX 2024 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้บริหารด้านความยั่งยืนจากกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ของเครือซีพีเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง อาทิ คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ซีอีโอซีพีเอฟ คุณสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน เครือซีพี คุณรงค์รุจา สายเชื้อ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านธรรมาภิบาล เครือซีพี คุณจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือซีพี คุณกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุด สายงานกิจการองค์กร ซีพีเอฟ คุณศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการสื่อสารองค์กร บมจ. สยามแม็คโคร ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าสายงานกลยุทธ์องค์กรและด้านการศึกษา บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น คุณจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และคุณฐิติ ลุจินตานนท์ ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ และ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจข้าว ร่วมแสดงพลังในการขับเคลื่อนและสืบสานเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งสู่ความยั่งยืน
โดยก่อนพิธีลงนาม ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ หลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 ใจความว่า
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนา และบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมี ระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลง ทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการมาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน
และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างหวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ดร.สุเมธ ยังได้พูดถึงแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเลขที่ มอก.9999 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 ว่า มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร และองค์กรให้มีการบริหารจัดการและการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคง เติบโตได้อย่างยังยืน และมีความสุข
ตลอดจนมีภูมิคุ้มกันที่ดีพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง สภาพแวดล้อม ทั้งภายในและภายนอก ในด้านต่างๆ ได้แก่ สังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมืองและกฎระเบียบ ที่มีการ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและผันผวน ซึ่งส่งผลกระทบต่อ ภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดจากความมุ่งมั่นร่วมกันของทั้งสามองค์กร โดยมีจุดประสงค์สำคัญในการเทิดพระเกียรติและสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งหวังให้โครงการนี้เป็นตัวอย่างในการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมไทย ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานแนวทางที่พระองค์ท่านได้วางรากฐานไว้ เพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว
โครงการต้นแบบที่จะดำเนินการร่วมกับทั้งสามองค์กรนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและสามารถขยายผลไปยังชุมชนอื่น ๆ ได้ต่อไป เครือเจริญโภคภัณฑ์มุ่งหวังว่าโครงการนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมทั้งร่วมเฉลิมพระเกียรติในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งยังสอดคล้องกับการทบทวนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย”
คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า “โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ในพื้นที่ปฏิบัติการภายใน 3 ปี เพื่อให้ชุมชนเหล่านี้มีความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การปรับใช้ในทุกระดับของประเทศ และยังเป็นโอกาสให้ประเทศไทยนำเสนอปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบนเวทีโลก เพื่อช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย”
คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวถึงแผนการดำเนินงานของโครงการว่า “จะยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นการพัฒนาที่เริ่มจากภายในชุมชน หรือ “การระเบิดจากภายใน” จากนั้นจึงขยายความร่วมมือไปยังภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงถูกนำไปใช้ในองค์กรต่าง ๆ ทั่วประเทศ และเตรียมพร้อมยกระดับสู่สากล โดยองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานนี้จะถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอจากประเทศไทยในการพัฒนาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ฉบับใหม่ขององค์การสหประชาชาติ ในปี 2573
สำหรับการสร้างต้นแบบในท้องถิ่น เพื่อขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ จะมุ่งเน้นที่สระบุรีแซนด์บอกซ์ การเปลี่ยนผ่านสู่เมืองคาร์บอนต่ำ เพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและสร้างภูมิคุ้มกันทั้ง 4 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม โดยใช้จุดแข็งเชิงพื่นที่ให้เกิดประโยชน์ และยังขยายผลความสำเร็จของโรงเรียนไร้ขยะในจังหวัดราชบุรีมาที่จังหวัดสระบุรี เพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมและจัดการขยะอย่างถูกวิธี”
ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง ซีพี ไทยเบฟ และเอสซีจี เป็นก้าวแรกในฐานะบริษัทนำร่อง เพื่อมุ่งส่งเสริม ขยายผล และผลักดันให้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับเศรษฐกิจทุกระดับของประเทศ พร้อมทั้งยกระดับสู่สากลผ่านเวทีขององค์การสหประชาชาติต่อไป