เครือซีพีร่วมเวทีเสวนา “Understanding Climate Change as Business Drivers” เสนอ 5 สูตรสำเร็จ มุ่งสู่ Net Zero ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน กระตุ้นภาคเอกชนตื่นตัวรับมือวิกฤตโลกร้อนมองเป็น “โอกาส” มากกว่าความเสี่ยง พร้อมต่อยอดสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่
วันที่ 21 ตุลาคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงาน SET ESG Webinar Series: Business & Climate Change ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการจัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “Understanding Climate Change as Business Drivers” เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังขับเคลื่อนภาคธุรกิจ โดยมีนักวิชาการ ผู้บริหารจากภาคธุรกิจเอกชน และหน่วยงานรัฐ เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาโลกร้อนปัจจุบันมีผลต่อการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจให้ทันต่อเหตุการณ์ เข้าใจฉากทัศน์ที่เปลี่ยนไปเพื่อสามารถปรับตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงเสริมความแข็งแกร่งและสร้างโอกาสใหม่ ๆ
โดยเฉพาะในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัว หาแนวทางร่วมกันเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สามารถพัฒนาธุรกิจให้ยั่งยืนและการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจได้จริง
ในการนี้ คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ร่วมเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “เริ่มเลย เริ่มอย่างไร?” ร่วมกับตัวแทนจากภาคธุรกิจเอกชนต่าง ๆ ประกอบด้วย คุณนำพล ลิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาอย่างยั่งยืน บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย คุณสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์จูนพาร์ท อินดัสตรี้ และดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของภาคธุรกิจเอกชนที่ประสบความสำเร็จ ในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจที่่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
คุณนพปฎล กล่าวว่า ภาคธุรกิจเอกชนตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจเรื่องธุรกิจกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะขณะนี้กติกาการค้าทั่วโลกเตรียมใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายตรวจสอบคุณภาพสินค้าและบริการว่ามีการละเมิดหรือสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือไม่
สำหรับประเทศไทยต้องเร่งเตรียมความพร้อมเรื่องนี้เช่นกัน เพราะสินค้าบางชนิดจะได้รับผล กระทบจากกติกาด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต อาทิ ปูนซีเมนต์ แก้ว เหล็ก ปุ๋ย ถ่านหิน จากนั้นจะกระทบไปยังสินค้าส่งออกอื่น ๆ ธุรกิจเอกชนและภาครัฐไทยจึงต้องเตรียมตัวเพื่อเปลี่ยนความเสี่ยงเป็นโอกาสให้ธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ
หากธุรกิจไทยเตรียมพร้อมเรื่องนี้ได้ดี มีการดำเนินธุรกิจที่ลดการปล่อยก๊าคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานก็จะเป็นโอกาสทางธุรกิจในการส่งออกสินค้าไปยังยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ไทยเหนือกว่าคู่แข่งในหลายประเทศ ฃ
ดังนั้น ภาคธุรกิจต้องมองการปรับตัวเข้าสู่ยุคธุรกิจโลว์คาร์บอนในระดับโลกว่าเป็นโอกาสมากกว่าความเสี่ยง เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงรับความคาดหวังของตลาดโลก รวมทั้งยังเป็นการต่อยอดสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆที่สอดคล้องกับแนวทางการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วย
คุณนพปฎล กล่าวยกกรณีศึกษาที่เครือซีพีดำเนินการในภาคเกษตรด้วยการปรับเปลี่ยนธุรกิจสุ่รูปแบบ Circular Economy เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งไม่ให้เกิดของเสียเหลือทิ้งจากการผลิต เพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อนส่งผลให้การผลิตข้าว หมู และไก่ของซีพีปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับที่ต่ำกว่าทั่วโลกได้
นอกจากนี้ ยังได้นำเทคโนโลยีบล็อคเชนมาใช้ในการติดตามผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ การใช้ดาวเทียมตรวจจับควันในไร่ข้าวโพดทุกแปลง เพราะนโยบายซีพีไม่มีการรับซื้อข้าวโพดที่มาจากการปรับพื้นที่ด้วยการเผาก่อนปลูก
เครือซีพียังได้ตั้งเป้าปลูกต้นไม้ 20 ล้านต้นภายใน 10 ปีเพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้จนถึงปัจจุบันซีพีปลูกต้นไม้ไปแล้ว 6 ล้านต้น
“ซีพีได้ตั้งเป้าสู่ Net Zero ภายใต้ Key Success สำคัญ 5 สูตร ตามแนวทางของนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี คือ 1.การสร้างภาวะผู้นำที่ตระหนักรู้ต่อการเปลี่ยนธุรกิจเพื่อช่วยรักษาโลกใบนี้ 2.ต้องกล้าวัดผล ออกรายงานด้านความยั่งยืนทุกปีเพื่อตรวจสอบภารกิจต่าง ๆ และเห็นถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของทุกธุรกิจและผลิตภัณฑ์ขององค์กร 3.ต้องร่วมมือกับทุกองค์กรพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศในการขับเคลื่อนเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4.ให้ความสำคัญการจัดการความยั่งยืนอย่างจำเพาะเจาะจงในแต่ละประเภทธุรกิจเพื่อบริหารจัดการความยั่งยืนได้ถูกจุด 5.นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในธุรกิจเพื่อช่วยโลกให้ขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืนในอีก 30-40 ปี ข้างหน้าได้” คุณนพปฎลกล่าว