เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดซุ้มประตู “วชิรสถิต 72 พรรษา” บริเวณสะพานดำรงสถิต ถนนเจริญกรุง เขตพระนคร และซุ้มประตู “วชิรธำรง 72 พรรษา” บริเวณห้าแยกหมอมี ถนนเจริญกรุง เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร โดยโครงการจัดสร้างซุ้มประตู เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษานี้ ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและประชาชนทุกหมู่เหล่า เพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์ของมังกร และเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน และสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งราชวงศ์จักรี ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา ในปี 2567
โอกาสนี้ ท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ และ ท่านประธานกรรมการสุภกิต เจียรวนนท์ ร่วมพิธีรับเฝ้าเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โดยมี นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ท่านเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย หาน จื้อเจียง คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจ และวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในนามประธานคณะกรรมการดำเนินงานจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 28 กรกฎกฎาคม 2567 คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คุณณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีน พร้อมคณะกรรมการโครงการฯ และคณะกรรมการสมาคมภาคีเครือข่ายฯ ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ
โครงการซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มีแนวคิดในการจัดสร้างถาวรวัตถุเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีเอกลักษณ์สำคัญที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์และมังกร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายลึกซึ้งในวัฒนธรรมไทยและจีน ได้แก่:
1. พระมหากษัตริย์ทรงได้รับการสดุดีเป็นมังกรแห่งมวลมนุษย์
2. นักษัตรประจำปีพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
3. ปีพุทธศักราช 2567 เป็นนักษัตรปีมังกร ตามสุริยคติ
4. วัดเล่งเน่ยยี่ หรือมังกรกมลาวาส เป็นหนึ่งในศูนย์รวมใจของพุทธศาสนิกชน
5. ถนนเจริญกรุงได้ชื่อว่า “ถนนสายมังกร” ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
โครงการนี้นับเป็นการร่วมมือกันของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะที่ยิ่งใหญ่และแสดงออกถึงความจงรักภักดีของประชาชนไทยทุกหมู่เหล่า