หนังสือพิมพ์มติชนจัดสัมมนาเนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 44 เรื่อง “ปี 2021 ประเทศไทยไปต่อ” มีคุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิด และกล่าวปาฐกถาพิเศษ “พลิกโควิดเป็นโอกาส ประเทศไทยไปต่อ” และคุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย บรรยายพิเศษ “Next step ฟื้นประเทศไทย”
ในโอกาสนี้ยังมีการจัดเสวนาเรื่อง “ประเทศไทยจะไปต่อได้อย่างไร” โดยมีคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนา ที่แกรนด์ฮอลล์ โรงแรม ดิ แอทธินี
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวระหว่างเสวนา “ประเทศไทยจะไปต่อได้อย่างไร” ว่า เมื่อมองอนาคตของประเทศไทยโอกาสที่จะสร้างอนาคตคือการสร้างระบบนิเวศของประเทศผ่านภูมิยุทธศาสตร์ที่ไทยอยู่ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจทั้งจีนและอินเดียที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงของโลก
” ไทยต้องมองจุดเด่นสร้างให้ตัวเองเป็นฮับระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้วยการเชื่อมโยง EEC (Eastern economic corridor) และ SEC (Southern Economic Corridor) เข้าด้วยกันในการทำเรื่องการขนส่ง ข้ามระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกไปอินเดีย ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับโลก สร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดึงดูดทุนมนุษย์และทุนจากการลงทุน”
ชูวิสัยทัศน์ “ภูมิยุทธศาสตร์ประเทศ” มุ่งสู่ “ฮับโลจิสติกส์” ระดับภูมิภาคเชื่อมโลก
คุณศุภชัย กล่าวอีกว่า ไทยจะต้องเปลี่ยนฮวงจุ้ยประเทศ ปัจจุบันไทยมี EEC เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ และถ้ามี SEC เป็น Land Bridge (สะพานเศรษฐกิจ) จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ระดับโลก เพราะประเทศไทยเป็นประตูสู่อาเซียน เมื่อมี EEC และ SEC เกิดขึ้นจะเสริมกัน อุตสาหกรรม 4.0 จะมาลงเมืองไทย
เมื่อไทยสร้างตัวเองให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคเชื่อมระดับโลก การลงทุนจากต่างประเทศจะเข้ามา และหากวางเงื่อนไขการลงทุนดีจะเปิดการลงทุนสตาร์ทอัพ และพัฒนาต่อไปเป็น Trade Hub และ Financial Hub, Startup Hub และพัฒนาต่อเป็น R&D Hub ต่อไป หากมองเชื่อมไปถึงทางเหนือ กับ NEC (North Eastern Economic Corridor) ที่จะเชื่อมขึ้นไปถึงลาว และจีนซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจอันดับต้นของโลก
“ถ้าเราสามารถเปลี่ยนฮวงจุ้ยปรับภูมิยุทธศาสตร์ของเรา สร้างให้เราเป็นระบบโลจิสติกส์ของโลก และบาลานซ์กับทั้งจีนและอเมริกาได้ เป็นการปรับระบบนิเวศของประเทศเอง ปรับระบบนิเวศทางกฎหมายให้แข่งขันได้ ทุนต่างๆจะวิ่งเข้าประเทศไทยมหาศาลส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ขยายโครงสร้างพื้นฐานและช่วยแก้ปัญหาความยากจนและปฏิรูปภาคเกษตรไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่เปลี่ยนประเทศไทย”คุณศุภชัยกล่าว
ปฏิรูปภาคเกษตร ชูโมเดล Service Farming ลดความเหลื่อมล้ำประชากรทั้งประเทศ
คุณศุภชัย กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบทั่วโลก เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทยศักยภาพที่จะสามารถแข่งขันจะไปต่อได้นั้น ต้องมองที่ประเด็นความเหลื่อมล้ำของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งในแต่ละภูมิภาคยังมีรายได้ต่อประชากรแตกต่างกันมาก
ดังนั้นต้องคำนึงถึงการจัดการความยากจนได้อย่างบูรณาการ ซึ่งในภาคเหนือ และอีสาน ประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร เมื่อพิจารณาจากโมเดลในยุโรปและจีนได้ทำผ่านระบบสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน
สำหรับประเทศไทยเกษตรกรของเราเป็นธุรกิจครัวเรือนที่ยังขาดเรื่องการบริหารจัดการ เทคโนโลยี องค์ความรู้ การตลาด การสร้างสินค้ามูลค่าเพิ่ม นวัตกรรมและขาดการเข้าถึงแหล่งทุนที่เหมาะสม
“ถ้าเราสามารถบริหารกลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มสหกรณ์ได้แบบเอกชนทำให้การปฏิรูปภาคเกษตรให้เกษตรกรเป็นเจ้าของเป็นสมาชิก เป็นเจ้าของที่ดิน นำเรื่องบริหารจัดการนวัตกรรมด้านเกษตรมาใช้ เราจะตั้งวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ หรือ Service Farming พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเกษตร พร้อมกับมองเรื่องการลงทุนในภาคเกษตรด้วยการบริหารจัดการน้ำ จะทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นได้มหาศาล”
“ขณะเดียวกันเรามีฝ่ายบริหารของService Farming นำศักยภาพการบริหารแบบเอกชนและเทคโนโลยี มาบริหารให้ผลผลิตสอดคล้องกับความต้องการของตลาด จะทำให้เกษตรกรผันไปทำสินค้าครัวเรือนเสริมรายได้ และสร้าง Township หรือสร้างเมืองในระดับชุมชน ตำบล อำเภอ ถือเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทุกประเทศปรับตัวทำให้มาตรฐานความเป็นอยู่ของคนขยับสูงขึ้นมีความมั่นคงในชีวิต ไม่เป็นหนี้สิน ไม่เผชิญปัญหาหนี้นอกระบบ มีความมั่นคงในชีวิตสามารถส่งลูกหลานศึกษาต่อได้อย่างมั่นคง”
เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว-เทคโนโลยี-การศึกษา-สตาร์ทอัพ พาประเทศไทยมุ่งสู่ 4.0
คุณศุภชัย กล่าวต่อว่า หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ช่วยฟื้นประเทศได้เร็วคืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็น 15-16%ของ GDP ดังนั้นถ้าเราจะผลักดันเรื่องนี้ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยหากประเทศไทยมี Capacity หรือศักยภาพเพียงพอในเรื่องวัคซีน จะสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวแบบฉีดวัคซีนขึ้นมาได้
“เราเปิดให้ชาวต่างชาติที่สนใจมาเที่ยวประเทศไทย จ่ายค่าวัคซีนมาฉีดในประเทศไทยและอยู่ท่องเที่ยวในไทย โดยเลือกจังหวัดเป้าหมาย เช่น ภูเก็ต และสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวและได้รับการฉีดวัคซีนในไทย ซึ่งหากเราปรับตัวได้เร็วก่อนประเทศอื่นในภูมิภาคเชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นจากการท่องเที่ยวและขยายตัวไปสู่ธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจการบิน”
นอกจากนี้ คุณศุภชัย ยังกล่าวถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไทยให้เป็น Tech Industry 4.0 โดยพัฒนาให้ EEC เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีเพื่อดึงดูดเทคโนโลยีทั่วโลกมาที่ประเทศไทย โดยยกกรณีการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทยให้สามารถก้าวจากอุตสาหกรรมรถยนต์ 2.0 สู่ 4.0 ให้ได้ โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ EV เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนและภาคพื้นเอเชีย โดยต้องมีการให้อินเทนซีฟกับบริษัทค่ายรถต่างชาติที่มาลงทุนในไทย
“อุตสาหกรรมไทยเรื่องยานยนต์เรามีความพร้อม ต้องการเพียงการจุดประเด็นให้ขยับ ถ้าเราสำเร็จเรื่องหนึ่ง อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจะก้าวขึ้นสู่ Automation Robotic ในภูมิภาคอาเซียน” คุณศุภชัยกล่าว
ซีอีโอเครือซีพี ยังกล่าวถึงทุกอุตสาหกรรมและธุรกิจในประเทศไทยที่กำลังปรับตัวเข้าสู่ยุค O2O (Online to Offline) คือ การถ่ายเทซึ่งกันและกันระหว่างธุรกิจออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งการปรับตัวนี้จะต้องเร่งพัฒนา Digital Skill ของประชากรในประเทศไทยไปอย่างพร้อมกัน
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญก็คือ ต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมการศึกษาของไทยไปควบคู่กัน เพื่อสร้างอนาคตให้แก่เด็กและเยาวชนไทย ผ่านรูปแบบการเรียนรู้ Life Long Learning ให้เด็กๆ ได้ตั้งคำถามค้นหาคำตอบและปรับปรุงแก้ไข เมื่อสอนด้วยระบบนี้จะทำให้อนาคตของประชากรไทยมีคุณภาพ พร้อมกับสร้างให้เด็กๆเรียนรู้บนพื้นฐาน 3 ขาของความยั่งยืน ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เด็กๆได้นำไปประยุกต์และสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดี
ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็จะต้องเข้ามาร่วมกันพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะการเชื่อมโยงให้เด็กๆ นักเรียน นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์จริง รวมทั้งต้องเชื่อมโยงระบบทุนที่เอื้อให้แก่เหล่าธุรกิจสตาร์ทอัพด้วย
Spirit ของ “ความสามัคคี” และ “ความกล้าหาญ” ทำให้ประเทศไทยไปต่อได้
คุณศุภชัย กล่าวปิดท้ายเสวนาว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยจะไปต่อได้คือความสามัคคีและความกล้าหาญที่จะเดินไปข้างหน้าอย่างมีเหตุผลและสร้างสรรค์ถ้าทำสำเร็จจะทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า แข่งขันกับนานาประเทศได้
“ต้องมีจิตใจที่กล้าหาญและมีความสามัคคี โดยจิตใจที่จะกล้าหาญได้นั้นต้องไม่อาศัยความกลัวเป็นที่ตั้ง เพราะถ้ามีความกลัวจะตามมาด้วยความเกลียดชัง และการแบ่งแยก ฉะนั้นไม่ว่าคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าและคนรุ่นไหนๆ ถ้าประเทศไทยยืนอยู่บนความสามัคคีและกล้าที่จะเดินไปข้างหน้าอย่างมีเหตุผลและสร้างสรรค์ และต้องยอมสร้างการเปลี่ยนแปลงบนความเสี่ยงที่รับได้ ดังนั้น สิ่งที่เป็น Spirit ที่สำคัญมาก คือความสามัคคีและความกล้าหาญ ถ้าทำสำเร็จจะทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า และแข่งขันกับนานาประเทศได้”
Cr. Pr CPG