เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย (ทสจ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (สวพส.) องค์การบริหารส่วนตำบลสันทราย ธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชนจังหวัดน่าน และโรงเรียนบ้านแหลว-นาล้อม จัดค่ายผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม ENVI Camp for Young Talent : LESS is more l Carbon credit เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงรายต่อเนื่อง และขับเคลื่อนพลังเยาวชนไทยในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมี คุณบุญเกิด ร่องแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงราย เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมด้วย คุณบัญชา โชติกำจร ผู้อำนวยการสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน ผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ และเยาวชนต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม แอนโทนี-ปิยชนม์ ภุมวิภาชน์ ยุวทูต SEAMEO องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ณ โรงเรียนบ้านแหลว-นาล้อม อ.แม่จัน จ.เชียงราย
คุณบัญชา โชติกำจร ผู้อำนวยการ สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน กล่าวว่า “ซีพีน่าน เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของภาคเหนือและความยั่งยืนในอนาคต จึงได้จัดโครงการ “Sustainable Leadership Development Program: SLDP” ผ่านรูปแบบกิจกรรมค่ายผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม ENVI CAMP for YOUTH “LESS is MORE : CARBON CREDIT” จ.เชียงรายต่อเนื่อง โดยมุ่งให้เยาวชนมีความเป็นผู้นำและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เห็นความสำคัญของผลกระทบต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นพิษ PM 2.5 ในภาคเหนือ รวมถึงเกิดแนวคิดเพื่อพัฒนาต่อยอดสร้างอาชีพให้ตนเอง ครอบครัว และชุมชนต่อไป”
ค่ายเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ ประกอบด้วย กิจกรรมสำรวจชุมชน เพื่อให้น้อง ๆ เกิดการเรียนรู้และเข้าใจสิ่งแวดล้อมในชุมชน เรียนรู้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และคุณค่าป่าไม้ ผ่านการลงมือสร้างแบบจำลอง เรียนรู้เรื่องการลดก๊าซกระจก เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนเห็นความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เรียนรู้การเพาะกล้าผักและเมล็ดกาแฟ เพื่อเสริมทักษะด้านอาชีพเกษตรกรรมและเห็นความสำคัญของการปลูกกาแฟสร้างป่าของโครงการ “สบขุ่นโมเดล” พร้อมทั้งลงมือปลูกผักในโรงเรียน ร่วมกับน้อง ๆ จากโรงเรียนบ้านเวียงแก้ว ที่มาเป็นพี่เลี้ยงในกิจกรรม จากนั้น เรียนรู้ประวัติศาสตร์และความสำคัญของชุมชนในกิจกรรม “ผู้เฒ่าเล่าเรื่อง” และเรียนรู้การสร้างตัวตน (Personal Banding) ผ่านการเป็นนักผลิตคอนเทนต์ (Content Creator) เพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์ผ่านสื่อออนไลน์