เมื่อเร็วๆนี้ คุณวัฒนา ทองศิริ ประธานกรรมการมูลนิธิเขื่อนยันฮี และคุณวรพจน์ วรพงษ์ ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล พร้อมคณะ ลงพื้นที่ศึกษาโมเดลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนเครือเจริญโภคภัณฑ์ จ.น่าน โดยมีเจ้าหน้าที่ซีพี ให้การต้อนรับ
คุณบัญชา โชติกำจร ผู้อำนวยการ สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือซีพีได้จัดตั้งสำนักงานด้านความยั่งยืนฯ จ.น่าน ขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนในทุกมิติ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมของความร่วมมือกับประชาชน เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงภาคการศึกษา เพื่อร่วมสร้างคุณภาพชีวิตของชุมชน ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่ ต่อยอดแนวคิดภายในชุมชนสู่ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) พร้อมผลักดันงานด้าน Community Development พัฒนาสินค้าชุมชนและบรรจุภัณฑ์ ให้มีมาตรฐานตรงความต้องการของตลาด
คุณอรรถวิทย์ ยุทธยศ ผู้จัดการทั่วไป ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือซีพีเริ่มนำร่องด้านความยั่งยืนด้วยโครงการ ‘สบขุ่นโมเดล’ บ้านสบขุ่น อ.ท่าวังผา จ.น่าน ต้นแบบฟื้นป่าภาคเหนือ ปรับแนวคิดการเปลี่ยนวิถีเดิมจากเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว สู่การปลูกกาแฟ คืนป่า คืนชีวิต สร้างป่า สร้างรายได้ ด้วยพืชเศรษฐกิจหลักอย่าง ‘กาแฟ’ ดำเนินการตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 97 ครัวเรือน สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 800,000 บาท และคืนผืนป่าไปแล้ว 2,100 ไร่ โดยกลุ่มวิสาหกิจฯ ชุมชนได้ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม โดยนำกากผลเชอร์รี่ที่เกิดจากการแปรรูปแล้วจะนำมาหมักทำเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ในการเกษตร
ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี สบขุ่นโมเดล ยกระดับการขับเคลื่อนงานวิสาหกิจสู่ Social Enterprise โดยจัดตั้งร้านกาแฟสบขุ่น น่าน บริหารงานโดยกลุ่มวิสาหกิจ และเครือซีพีเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาทุกกระบวนการในการดำเนินงาน เครือซีพีให้ความสำคัญในการสร้างคน สร้างงาน สร้างอาชีพให้คนในชุมชนขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง
นอกจากด้านมิติสิ่งแวดล้อมแล้ว เครือซีพียังให้ความสำคัญด้านโภชนาการ โดยคุณกฤตยรัฐ ปารมี ผู้จัดการทั่วไป มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กล่าวว่าโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ภายใต้การดูแลของมูลนิธิฯ ของเครือซีพี ได้ดำเนินโครงการฯ เข้าสู่ปีที่ 34 ในการส่งเสริมเด็กและเยาวชนเข้าถึงความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เป็นห้องเรียนสร้างอาชีพจากการเรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่ นอกจากนี้บางโรงเรียนยังสามารถขยายผลสู่ชุมชนเป็นคลังเสบียงในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19
มูลนิธิฯ ยังตั้งเป้าหมายนำร่อง 10 โรงเรียนต้นแบบกิจการเพื่อสังคม ภายในปี 2566 ขยายความสำเร็จสู่ชุมชน สามารถตั้ง “กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)” เพื่อต่อยอดทักษะอาชีพด้านการเกษตรจากระดับโรงเรียน สู่ชุมชนโดยรอบ เพื่อเป็นอาชีพทางเลือกให้แก่คนในชุมชน ตลอดจนมีไข่ไก่ที่สดใหม่บริโภคภายในชุมชน
โรงเรียนบ้านนวราษฎร์ อ.เมืองน่าน จ.น่าน ถือเป็นหนึ่งในโรงเรียนของโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน และยังเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการทรัพยากรก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่ผลผลิตไข่ไก่ที่ถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวัน ผลผลิตส่วนเกินถูกจำหน่ายให้ชุมชนในราคาย่อมเยา เพื่อให้มีรายได้จากการจำหน่ายไข่ไก่นำกลับมาหมุนเวียนเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการไปได้อย่างต่อเนื่อง