เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผนึกกำลังภาคการศึกษา สถาบันวิจัยเเละพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในหลักสูตร “นักนวัตกรรมสังคม“ เพิ่มขีดความสามารถสร้างชุมชนยั่งยืน

เมื่อเร็วๆ นี้คุณพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านปฏิบัติการความยั่งยืนและกิจการเพื่อสังคม เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วย คุณรังสรร พุทธวงค์ ผู้จัดการทั่วไปด้านความยั่งยืนภาครัฐ คุณบัญชา โชติกำจร ผู้อำนวยการ สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ เเละคุณภัทราภรณ์ พลอยวิเลิศ ผู้จัดการแผนก ด้านธุรกิจเพื่อสังคม สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายและจัดกิจกรรมในหลักสูตร “นักนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ รุ่นที่1” ให้แก่อาจารย์และนักวิจัย มหาวิทยาลัยทักษิณ ขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย

โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อพัฒนาสมรรถนะด้านการวิจัยของนักวิจัยของมหาวิทยาลัยให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมสังคมที่มีผลผลิต ผลลัพธ์ พร้อมสร้างศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมพร้อมใช้เชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัยทักษิณ

การอบรมครั้งนี้ มุ่งเน้นให้อาจารย์และนักวิจัย เรียนรู้การบริหารงานพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนผ่านกรณีศึกษาของเครือซีพี อาทิเช่น โครงการสบขุ่นโมเดล จ.น่าน, สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์, โครงการ Social Enterprise กาแฟรักษ์ป่าบ้านเลาสู อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง และโครงการพัฒนาชุมชนสร้างงานสร้างรายได้พื้นที่ร่วมกับเครือข่าย จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี และจ.กาฬสินธุ์ โดยมีการถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงถ่ายทอดเทคนิคการทำงาน และการประยุกต์ใช้เครื่องมือกับการทำงานในพื้นที่ ได้แก่ Supply chain & Value chain Analysis , Stakeholders Analysis, Design Thinking และ Business Model Canvas อย่างเข้มข้นด้วย

ทั้งนี้ผู้เข้าอบรม ผู้บริหาร อาจารย์ และนักวิจัย จะสามารถส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ รวมถึงความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน ส่งเสริมด้านมิติสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม โดยมุ่งเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยในการผลิตองค์ความรู้นวัตกรรม ผลงานวิชาการ ที่มีคุณภาพรองรับความต้องการของสังคม หลักสูตรนักนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ รุ่นที่ 1 จึงเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรมหาวิทยาลัยไปสู่เป้าหมายต่อไป