เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซีพีเอฟ ซีพีออลล์ และ ทรู ผนึกกำลังแสดงศักยภาพธุรกิจผงาดบนเวทีโลก “APEC 2022 Thailand” ขนทัพนวัตกรรมและเทคโนโลยียกระดับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ชูแนวคิด Making Today a Better Tomorrow เชิญชวนคนซีพีร่วมภาคภูมิใจเกาะติดทุกความเคลื่อนไหวได้ที่ TNN ช่อง 16 ตั้งแต่ 14-19 พ.ย.2565

บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด พร้อมบริษัทในเครือฯ ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  ร่วมสนับสนุนการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2565 ครั้งที่ 29 หรือ APEC 2022 พร้อมกันนี้ได้ร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนกว่า 30 ราย ออกบูธแสดงศักยภาพธุรกิจและทิศทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน อวดโฉมนวัตกรรมและเทคโนโลยีในเวทีการค้าระดับโลก  ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เชิญชวนคนซีพีร่วมเป็นเจ้าภาพและร่วมภาคภูมิใจ พร้อมเกาะติดทุกสถานการณ์การประชุม เอเปค 2022 ที่จัดทัพรายงานสดพร้อมบทสรุปทุกนโยบายสำคัญที่ควรรู้ อย่างต่อเนื่อง  ผ่าน TNN ช่อง 16  ตั้งแต่วันที่ 14-19 พ.ย. 65

การประชุมในครั้งนี้เครือฯ ได้นำเสนอข้อมูลวิสัยทัศน์และทิศทางธุรกิจ ที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และนโยบายขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านแนวคิด Making Today a Better Tomorrow โดยบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด นำเสนอวิสัยทัศน์ พันธกิจ และรากฐานของการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน แสดงข้อมูลภาพรวมธุรกิจของเครือฯ ผ่านคลิปวีดิทัศน์ และสื่อโครงการพัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

ซีพีเอฟ แสดงศัยภาพสู่การเป็นครัวของโลกที่ยั่งยืน

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำเสนอเส้นทางสู่การเป็นครัวของโลกที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ “Net Zero” ด้วย นวัตกรรมสินค้าที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Innovative Product) ผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช Meat Zero และผลิตภัณฑ์ Low Carbon Footprint และบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงกระบวนการผลิตที่ใช้นวัตกรรม (Innovative Process) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปอาหาร ด้วยการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล เลิกใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด และลด Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์อาหาร

ซีพี ออลล์ โชว์แนวคิดนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน 

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) นำเสนอนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ประกอบด้วยการบริหารจัดการพลังงานที่ร้านสาขา เช่น การออกแบบร้าน การเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน การใช้ระบบ IoT ในการ Monitor และ Control อุปกรณ์ที่ร้านสาขา, การนำ Renewable Energy มาใช้งานที่ร้านสาขา เช่น Solar Rooftop, การส่งสินค้า Delivery ด้วยนวัตกรรมหุ่นยนต์ส่งสินค้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า, และ การนำนวัตกรรมจากกราฟีนมาประยุกต์ใช้งาน

ทรูโชว์ศักยภาพ 5G และเทคโนโลยีดิจิทัล

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำศักยภาพเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G และเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจร ร่วมยกระดับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม สาธารณสุข และเกษตรกรรม ดังนี้

1. Robocore Mini Robot หุ่นยนต์คลาวด์เอไอรุ่นใหม่ ที่สามารถนำเสนอสินค้าและโปรโมชันผ่านหน้าจอแสดงผล ทั้งยังเสริมความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ลดการสัมผัสระหว่างบุคคล สามารถนำทาง รวมถึงสื่อสารได้ทั้งระบบสัมผัสหน้าจอ และโต้ตอบด้วยเสียง

2.True HEALTH แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ เชื่อมโยงบริการด้านสุขภาพทั้งออนไลน์และออฟไลน์แบบไร้รอยต่อ ทั้งการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ การป้องกันดูแล การส่งยา ตลอดจนบริการด้านประกันสุขภาพ 3. True Farm Drone โซลูชันที่ให้บริการโดรนสำหรับฉีดพ่นปุ๋ยหรือยา ซึ่งเป็นหนึ่งในโซลูชั่น “ทรู ฟาร์ม” เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะครบวงจรที่ผสานเครือข่ายทรู 5G กับเทคโนโลยีดิจิทัลหลากหลายทั้ง ไอโอที บล็อกเชน และไซเบอร์ ซิเคียวริตี้

ติดตามทุกความเคลื่อนไหวที่ TNN ช่อง 16

การประชุมในครั้งนี้ สถานีข่าวTNN ช่อง 16 จัดทัพทีมข่าวมืออาชีพทั้งรายการข่าวเศรษฐกิจ และรายการต่างประเทศ รายงานทุกความเคลื่อนไหว ไขประเด็นเจาะลึกทุกมิติเศรษฐกิจโลกในทุกช่วงรายการ ส่องวิสัยทัศน์ เปิดมุมมองนักวิชาการ กูรูด้านการลงทุน นักธุรกิจระดับแนวหน้าของเมืองไทย ผลิตสกู๊ปรายงานพิเศษ “APEC Exclusive” ถ่ายทอดความเป็นมาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญระดับโลก

เกาะติดทุกสถานการณ์เอเปค 2022 พร้อมบทสรุปทุกนโยบายสำคัญที่ควรรู้ ตั้งแต่วันที่ 14-19 พ.ย. 65 ทาง TNN ช่อง 16 ทั้งรายการเศรษฐกิจ Insight, ย่อโลกเศรษฐกิจ, TNN Tech Reports, TNN World Today และ Business Watch

ตลอดจนไลฟ์สดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ระหว่างวันที่ 17 – 18 พ.ย. 65 ตั้งแต่เวลา 18.00 – 19.30 น. ช่องทางออนไลน์เฟซบุ๊ก TNN World และ Line TNN Online พร้อมอัปเดทข่าวสารผ่านทุกแพลตฟอร์ม TNN ทั้งหน้าจอ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ยูทูป ไลน์ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ติ๊กต็อก และบล็อกดิต รวมถึงสตรีมมิ่งผ่านแอปทรูไอดีตลอด 24 ชั่วโมง

 

รัฐร่วมเอกชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด – 19  

 APEC 2022 (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) คือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งเมื่อปี 2532 มีเป้าหมายหลักคือ การส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค

ปัจจุบัน เอเปค มีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย โดยไทยเป็นหนึ่งใน 12 เขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้ง

การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 2565 ประเทศไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) เป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่จะผลักดันการเป็นเจ้าภาพเอเปค

โดยในปีนี้มีพลวัตและความท้าทายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสภาวการณ์โควิด-19 ที่เอเปคกำลังปรับตัวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายใหม่ ๆ ไทยจึงให้ความสำคัญกับการปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในยุคหลังโควิด-19 อย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน

การประชุมดังกล่าว จึงเป็นการเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านมุมมองใหม่ที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคม เชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย

รวมทั้งเพิ่มความเชื่อมโยงทางดิจิทัล และส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน