ซีอีโอเครือซีพี “ศุภชัย เจียรวนนท์” ตั้งเป้า 3 Big Goals เดินหน้าสู่ความยั่งยืน พร้อมแนะรัฐร่วมมือเอกชน ดันกรีนเทค-เอไอ ลดคาร์บอนสร้างเศรษฐกิจสีเขียว หนุนไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero

30 พฤษภาคม 2567-  คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เสนอวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนสู่การสร้างอนาคตสีเขียว ในหัวข้อ “Corporate Catalysts: Empowering Sustainability & SDG Commitments” บนเวทีสัมมนาใหญ่ Bangkok Post ESG Conference 2024  “Greening the Future: ESG Leadership in the Sustainability Revolution” จัดโดยหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์  ในการฉายภาพความท้าทายของโลกและเทรนด์การลงทุนธุรกิจด้านความยั่งยืน พร้อมทั้งแชร์ความมุ่งมั่นในการกำหนดนโยบายและเป้าหมายในการบริหารจัดการความยั่งยืนของเครือซีพีอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ภายในงานมีคุณพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมเปิดงาน พร้อมทั้งผู้บริหารจากองค์กรชั้นแนวหน้ามาร่วมแชร์มุมมองนโยบายและประสบการณ์ในการขับเคลื่อนงานด้าน SDG และ ESG เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน ณ ห้อง World Ballroom  โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอทเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

คุณศุภชัย เจียรวนนท์  ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า เป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในระดับโลก โดย UNGA ได้มีการตั้งเป้าหมายความยั่งยืนทั้ง 17 SDGs จะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2030 แต่ในตอนนี้ทำได้แค่ 12% ซึ่งช้ากว่ากำหนด  ในขณะที่ประเทศไทย เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับภูมิภาค และถูกจัดอันดับ SDG Index ระดับโลกอยู่ที่อันดับที่ 43 จากทั้งหมด 166 ประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จตามที่ได้ประกาศกับประชาคมโลกให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องพร้อมรับมือกับความท้าทายของโลกที่กำลังเผชิญใน 6 เรื่องสำคัญ คือ  ความเหลื่อมล้ำ การแบ่งขั้วอำนาจเป็นทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ การผันผวนทางภูมิอากาศ  การเข้าสู่สังคมสูงวัยกับให้ความสำคัญเรื่องเฮลแคร์ การปฏิรูปดิจิทัลหรือเอไอ และพลังงานสะอาด สิ่งเหล่านี้กลายเป็นพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศจะต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทัน โดยกุญแจสำคัญที่จะทำให้สามารถรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ คือจะต้องนำ SDGs ทั้ง 17 ข้อเข้ามาปรับใช้ในแต่ละความท้าทาย เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันหมด

คุณศุภชัย ได้เน้นย้ำว่า ในตอนนี้เงินทุนทั่วโลกจะไหลไปลงทุนใน 3 เรื่อง หรือ 3 D คือ 1. Digitalization คือการให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลและเอไอ 2. Deglobalization โลกกำลังเข้าสู่ Multipolar ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ  ความเป็นโลกาภิวัตน์ลดน้อยลง มีความเป็นโลกหลายขั้ว 3. Decarbonization การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เทคโนโลยีสีเขียวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน แต่ทั้งนี้หากจะต้องการไปสู่ Net Zero จำเป็นต้องให้ความสำคัญใน 2 เรื่องคือ การใช้เทคโนโลยีเอไอ และดาต้าเซนเตอร์ ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการด้านพลังงานและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม  รวมไปถึงการลงทุนด้านพลังงานนิวเคลียร์ นำมาเป็นพลังงานทางเลือกที่หลายประเทศนำไปปรับใช้ลดคาร์บอน เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย เกาหลี ทั้งนี้เป็นเรื่องที่จะต้องมาทำการศึกษาถึงภาพรวมและผลกระทบด้วย ในขณะเดียวต้องมีนโยบายสาธารณะจากทางภาครัฐเข้ามาส่งเสริมสร้างแรงจูงใจในการลดคาร์บอน เช่น การสนับสนุนพลังงานโซลาร์เซลล์  การกำกับดูแลเรื่อง carbon tax เพื่อนำประเทศไทยสู่  Net Zero ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ นอกจากนี้อีกความท้าทายที่ทั่วโลกกำลังเผชิญคือเรื่องของขยะอาหารที่ทั่วโลกจำเป็นต้องให้ความสนใจอย่างเร่งด่วนด้วยเช่นกัน เพราะผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อพื้นที่เพาะปลูก แหล่งผลิตอาหารลดลง  ทำให้จำนวนผู้หิวโหยจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และยังส่งผลกระทบในระบบเศรษฐกิจไปด้วย ดังนั้น เราต้องปรับตัวและแก้ปัญหาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลก

ซีอีโอเครือซีพี กล่าวต่อถึงความมุ่งมั่นของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทในเครือฯ ในฐานะภาคเอกชนที่ตระหนักและให้ความสำคัญที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในสร้างความยั่งยืนโดยได้ดำเนินการทั้ง Scope 1 และ 2 ใน 21 ประเทศที่เครือฯเข้าไปลงทุน  พร้อมระบุว่า เครือฯได้มีการประกาศเป้าหมายสำคัญที่ต้องทำให้สำเร็จในปี 2030 อย่างชัดเจนใน 3  Big Goals สู่ความยั่งยืน  คือ 1. ตั้งเป้าหมายนำองค์กรสู่ Carbon Neutral ( Scope 1และ2) ในปี 2030 เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050  2. ของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบต้องเป็นศูนย์ (Zero Waste)  และ 3. สนับสนุนผู้คน 50 ล้านคนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะการศึกษาจะทำให้ผู้คนตระหนักรู้และมีส่วนร่วมแก้ปัญหาเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้  ทั้งนี้ เรื่องของความยั่งยืนเป็นสิ่งที่เครือซีพีไม่สามารถทำเพียงลำพังได้  ต้องส่งเสริมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสีย คู่ค้า เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจและความยั่งยืนไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ได้ยกเคสการดำเนินงานของเครือซีพีในการเดินหน้าตามเป้าหมายความยั่งยืนดังกล่าว โดยปัจจุบันเครือซีพีและบริษัทในเครือฯ ได้ดำเนินการปรับโมเดลธุรกิจเพื่่อนำองค์กรสู่ Net Zero และ Zero Waste ด้วยการนำพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียนเข้ามาใช้เพิ่มขึ้น 17% ทั้งการนำไบโอแมสและไบโอก๊าซมาใช้ การผลิตไฟฟ้าจาก Solar PV การใช้ไฮโดรเจน รวมทั้งแบตเตอรี่อีวี  ยกกรณีศึกษาตัวอย่างของเครือซีพีที่ทำสำเร็จในเรื่อง Zero Waste คือ โครงการไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัวผิงกู่-เครือซีพี ที่ประเทศจีน ที่มีการนำของเสียจากโรงเลี้ยงไก่ไข่ไปใช้ต่ออย่างคุ้มค่า ไม่ให้เกิดการเสียเปล่า รวมไปถึงการติดตั้ง Solar PV กว่า 8,000 แห่ง สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 110,000 ตันต่อปี การติดตั้งสถานีชาร์จรถ EV ไปแล้ว 130 แห่ง รวมไปถึงการสนับสนุนให้พนักงานในเครือฯ คู่ค้า เกษตรกรร่วมกันปลูกต้นไม้ลดคาร์บอนในพื้นที่ 4 ต้นน้ำภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน มากกว่า 10,000 ไร่ พร้อมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนในการผลักดันสนับสนุนให้คนไทยได้เข้าถึงการศึกษามากขึ้นผ่านโครงการ CONNEXT ED โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมพัฒนาการศึกษาในโครงการดังกล่าวแล้วกว่า 5,570 แห่งทั่วประเทศไทย

คุณศุภชัย กล่าวปิดท้ายด้วยการเสนอโมเดล Sustainable Intelligence Transformation หรือ SI Transformation Model ผ่าน 5 เรื่องสำคัญในการไปนำธุรกิจและประเทศสู่เป้าหมายสร้างความยั่งยืน ประกอบด้วย 1.Transparency การสร้างความโปร่งใสและระบุตัวชี้วัดใหม่ 2. Market Mechanism สร้างกลไกตลาด ที่จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนแบบ PPP  3. Leadership &Talents ผู้นำต้องให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วม และเห็นภาพเป้าหมายเดียวกัน 4. Empowerment องค์กรต้องให้อำนาจคนที่อยู่หน้างานและให้อำนาจคนรุ่นใหม่ ในการขับเคลื่อนความยั่งยืนทำให้เป็นเนื้อเดียวกับธุรกิจ และ 5. Technology ปรับประยุกต์ใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาขับเคลื่อนความยั่งยืน

“หากเราต้องการเปลี่ยนอนาคต เราต้องเสริมศักยภาพให้กับคนรุ่นต่อไปมีความแข็งแกร่งที่จะรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ และให้พวกเขากำหนดว่าทิศทางของโลกที่เขาจะต้องอยู่ด้วยตัวของพวกเขาเอง”  ซีอีโอเครือซีพี กล่าวปิดท้าย

บนเวที Bangkok Post ESG Conference 2024 ยังมีผู้มีบริหารจากองค์กรชั้นแนวหน้ามาร่วมแชร์มุมมองที่หลากหลายในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในภาคธุรกิจ ได้แก่ คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA Group) แชร์เรื่อง “Innovative Sustainability Practices: Case Studies from WHA”  คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำเสนอมุมคิด “Redefining Thailand Industrial Sustainable Development” คุณวิคเตอร์ เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเดลต้า เรื่อง “Sustainability: Your Competitive Edge in a Green Future”   คุณปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) เรื่อง “Make REAL Change toward Sustainable Sustainability” และคุณปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด  เรื่อง “Sustainable Cities: Leading with Urgency to Net Zero”