เครือซีพี ผนึกกำลัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อยอดวิจัยและนวัตกรรมด้านสุขภาพ มุ่งพัฒนาบุคลากร ยกระดับการศึกษาและคุณภาพชีวิตสู่อนาคต

7 พฤศจิกายน 2567 – เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดบ้านต้อนรับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาล อธิการบดี รศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รศ.ดร.ดำรงค์ อดุลยฤทธิกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ศ.นพ.รัฐกร วิไลชนม์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศระบบทางเดินอาหาร และศูนย์ปลูกถ่ายอุจจาระ พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงจากคณะต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในด้านการวิจัยและวิชาการ เพื่อหารือความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (CP Innovation for Sustainability Center) และ ทรู ดิจิทัล พาร์ค (True Digital Park) ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ การหารือดังกล่าวมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีสุขภาพยุคใหม่ โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น จากผู้บริหารระดับสูงของเครือซีพี ได้แก่ คุณบุญชัย โอภาสเอี่ยมลิขิต ประธานธุรกิจ-สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอังกฤษ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ และประธานคณะผู้บริหาร ยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร คุณวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู ประธานสายงานวิจัยและพัฒนา และกรรมการผู้จัดการ ซีพีแรม และ ดร.ยู จุน เจียง (ดร.เจเจ) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนา ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค สุขุมวิท 101

คุณบุญชัย โอภาสเอี่ยมลิขิต ประธานธุรกิจ-สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอังกฤษ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับอธิการบดีและคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมระบุว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ถือเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้ที่สำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์สังคมและประเทศชาติ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมในอนาคต ทั้งในเรื่องการแพทย์ สมุนไพรไทย AI & Robotics รวมถึงด้านอื่น ๆ ในการนำมาพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพให้กับประชาชน และสร้างความยั่งยืนให้กับโลกร่วมกัน

ด้าน ศ.ดร. ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คาดหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้เกิดการขยายพรมแดนองค์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านการจับมือทางโลกวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และความรู้ในโลกธุรกิจและการตลาดจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะองค์กรภาคเอกชนที่มีการดำเนินธุรกิจมากกว่า 100 ปี และมีการขยายธุรกิจไปหลายประเทศ จึงถือว่ามีความเข้มแข็งในตลาดโลกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศและการคุณภาพชีวิตของประชาคมโลก ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญนำไปสู่ความร่วมมืออื่น ๆ ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเครือเจริญโภคภัณฑ์เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ ซึ่งร่วมฉายภาพวิสัยทัศน์ และการดำเนินธุรกิจของเครือซีพี เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นับว่าเป็นคลังสมบัติแห่งความรู้และบุคลากรที่มีคุณภาพ ถือเป็นก้าวสำคัญในการจับมือระหว่างโลกวิชาการ และโลกธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งในปีนี้เข้าสู่ปีที่ 103 มีการขยายธุรกิจไป 8 สายธุรกิจหลักใน 21 ประเทศทั่วโลก โดยทุกวันนี้โลกมีความท้าทายและการแข่งขันอย่างมาก เครือฯ ต้องปรับโมเดลธุรกิจและพัฒนาองค์กรสู่ “เทค-คอมพานี” (Tech company) การนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายต้องอาศัยความร่วมมือทางธุรกิจและทางวิชาการ ทั้งการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรมเทคโนโลยีและการเพิ่มทักษะคนให้มีความรู้ทันตลาดโลก ที่ผ่านมาเครือฯ ได้ทำความร่วมมือกับมหาวิทยาธรรมศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการวิจัยและพัฒนา ร่วมไปถึงการนำคณะนักศึกษาไปดูงาน และฝึกงานในธุรกิจของเครือฯ ที่ประเทศจีน จึงหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศชาติร่วมกัน

นอกจากนี้ เครือฯ กำลังจะเปิด CP Innovation Center of Excellence (COE) ที่ True Digital Park ซึ่งจะเป็นแล็บสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีใน 3 ด้านหลักคือ 1.Robotic AI และ IOT 2.Biotech & Healthy Life และ 3. Preventive Health ซึ่งในประเด็นดังกล่าวเครือฯ พร้อมจะสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกันต่อไป

การหารือในครั้งนี้ยังครอบคลุมแนวทางการวิจัยด้านการแพทย์เชิงป้องกันและการพัฒนาองค์ความรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นเรื่องอาหารเพื่อการป้องกันมะเร็ง การรักษาแบบใหม่ด้วยการปรับแต่งจุลินทรีย์ในร่างกาย (Microbiota and Microbiota-based Therapy) และการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และสมุนไพรไทย มาปรับใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสุขภาพ “หมอดี” (Mordee) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างสะดวกและครอบคลุม ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับไมโครไบโอม (Microbiome) และจุลินทรีย์เพื่อส่งเสริมสุขภาพ มุ่งต่อยอดนวัตกรรมเพื่อสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนแก่ประชาชน โดยทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงข้อเสนอการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ฉบับใหม่ เพื่อสานต่อความร่วมมือในด้านการวิจัย การพัฒนาบุคลากร และการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่สังคมไทย ทั้งยังสนับสนุนงานวิจัยที่มีผลกระทบสูง (high impact research) และการแลกเปลี่ยนบุคลากรและเทคโนโลยี โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เรียนรู้และฝึกประสบการณ์ร่วมกับทีมงานซีพี โดยความร่วมมือนี้สืบเนื่องจากการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 โดยมีระยะเวลา 5 ปี ซึ่งครอบคลุม 3 ด้านหลัก ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา การฝึกอบรมบุคลากร และการเผยแพร่องค์ความรู้สู่สังคมไทย

โอกาสนี้ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สัมผัสบรรยากาศของศูนย์นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของเครือซีพี ซึ่งตอกย้ำความตั้งใจในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่ออนาคตที่มั่นคงของประเทศ พร้อมเยี่ยมชม True Digital Park ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้ชมพื้นที่ Co-Working Space ซึ่งออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การทำงานในยุคดิจิทัล เน้นความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนทำงานรุ่นใหม่ ชมระบบนิเวศดิจิทัลอันทันสมัยของกลุ่มทรู ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโซลูชันดิจิทัลที่ True IDC Experience Center และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคลาวด์ พร้อมโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองกับทีมผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด