การเสวนาเรื่อง Stakeholder Capitalism in the Asian Century
เมื่อเร็วๆ นี้ คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้แทนเครือฯ เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ประจำปีที่เชิญผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 3,000 คน และบุคคลสำคัญไม่น้อยกว่า 500 คน เข้าร่วม โดยหัวข้อสำคัญของการประชุมปีนี้มุ่งเน้นที่ประเด็น Stakeholders for a cohesive and sustainable world หรือ ทุนนิยมต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้าร่วมพร้อมมุ่งเน้นความยั่งยืนไปด้วยกัน ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 21-24 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา
คุณ Laurence Fink ประธานและ CEO บริษัท Blackrock จำกัด (ขวา)
สนทนากับคุณ Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการใหญ่
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF)
เรื่อง Leadership Leadership Lessons: Building an Inclusive and Sustainable Financial System
ในโอกาสนี้ตลอดการประชุมต่อเนื่องหลายวัน คุณนพปฏล ได้เข้าร่วมประชุมหารือในหลายหัวข้อที่น่าสนใจ ประกอบด้วย หัวข้อ “Stakeholder Capitalism in the Asian Century” มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ คุณ Chey Tae-Won ประธานและประธานคณะผู้บริหาร SK Group คุณ Fumiya Kokubu ประธานกรรมการ Marubeni Corporation ศาสตราจารย์ Joseph Stiglitz มหาวิทยาลัยโคลัมเบียและผู้ได้รับรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์ และคุณ Laura Cha ประธานตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ซึ่งในที่ประชุมได้ยกประเด็น ระบบทุนนิยมในยุคปัจจุบันที่ต้องตระหนักถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ stakeholder capitalism ไม่ใช่เพียงแต่ผู้ถือหุ้น หรือ shareholder capitalism เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับสังคมโดยรวม ดังนั้นการทำผลกำไรให้ได้มากที่สุดไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุดเสมอไป แต่การทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ และโปร่งใสมีความสำคัญมากกว่า ซึ่งหลักการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ต้องยึดตามลำดับความสำคัญตั้งแต่จ่ายภาษีอย่างถูกต้อง และจ่ายค่าแรงที่เหมาะกับค่าครองชีพ (livable wages) แทนค่าแรงขั้นต่ำ เพราะปัจจุบัน CEO ในสหรัฐฯ ได้รับผลตอบแทนมากกว่าพนักงานทั่วไป คิดเป็นอัตราส่วน 1,000:1
ขณะที่รัฐบาลแต่ละประเทศมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานต่าง ๆ อาทิ ค่าแรงขั้นต่ำ พร้อมกำกับดูแลเรื่องธรรมาภิบาลและการเปิดเผยข้อมูล รัฐบาลยังต้องทำหน้าที่ปรับปรุงกฎเกณฑ์การแข่งขันของธุรกิจอยู่เสมอ เพื่อกำกับดูแลบริษัทที่ประพฤติตนไม่ดี ส่งผลให้การทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบและมีจริยธรรมหมดความสำคัญไปในที่สุด ด้านภาคธุรกิจต้องมีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะในกรณีของธุรกิจครอบครัว ที่มักจะมีผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจมากที่สุดเพียงรายเดียว
นอกจากนี้ควรสร้างระบบการดำเนินการต่อผู้กระทำผิด (accountability) เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบว่าบริษัททำตามที่ได้ประกาศไว้หรือไม่
คุณ Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ สนทนากับประธานของ WEF
ทั้งนี้ วงประชุมได้ยกกรณีศึกษาจากเอกชนชั้นนำอย่าง SK Group จากเกาหลีใต้ ที่ได้ปรับเอกสารจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ให้มีข้อความที่ผูกมัดว่าบริษัทต้องสร้างประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ผู้ถือหุ้นฝ่ายเดียว ซึ่งวิธีนี้จะสร้างความพอใจแก่ผู้ที่ลงทุนในบริษัทแบบระยะยาว มากกว่าการหวังผลตอบแทนในระยะสั้นในเรื่องราคาหุ้นของบริษัท นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังคำนึงถึง Double Bottom Line กล่าวคือ จะต้องคืนกำไรให้สังคมประมาณ 0.53 เหรียญสหรัฐต่อกำไรทุก 1 เหรียญสหรัฐ
ศาสตราจารย์ Klaus Schwab ประธานและผู้ก่อตั้ง WEF พร้อมด้วยคุณ Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
การเสวนาเรื่อง Global Economic Outlook
คุณนพปฏล ยังได้เข้าร่วมประชุมหัวข้อ “Shaping the Future of Cities, Infrastructure and Urban Services” ซึ่งวงหารือได้พูดถึงปัญหาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้นในเมืองต่างๆ มีปัญหาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยในที่ประชุมพูดถึงการจัดทำมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมใหม่สำหรับชุมชนเมืองเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนมหาศาล ขณะที่ยกกรณีของสิงคโปร์แก้ปัญหาด้วยการเริ่มเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว อัตราภาษีอยู่ที่ 3.5 เหรียญสิงคโปร์ต่อตัน แต่หากต้องการควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาตามข้อตกลงปารีสจริง อัตราภาษีควรเป็น 100 เหรียญสิงคโปร์ต่อตัน แต่การเก็บภาษียังเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองอย่างมาก จึงไม่สามารถทำได้ในทุกประเทศ ขณะที่การแก้ปัญหาการพัฒนาเมือง ผ่านการใช้วิธีหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership – PPP) ด้วยการลงทุนในสาธารณูปโภคแบบ PPP ที่ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 7 อาจไม่น่าสนใจสำหรับภาคเอกชนมากนักเมื่อเทียบกับการลงทุนในรูปแบบอื่น
คุณนพปฎล ร่วมแสดงความคิดเห็นในการหารือเรื่อง Harnessing Innovation to Feed the World
ทั้งนี้ คุณนพปฏล ยังได้ร่วมหารือต่อเนื่องใน หัวข้อ “Leadership Lessons: Building an Inclusive and Sustainable Financial System” มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย คุณ Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการใหญ่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) และคุณ Laurence Fink ประธานและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท Blackrock จำกัด โดยประเด็นสำคัญจากการประชุมนี้ มองว่า รัฐบาลควรใช้นโยบายการคลัง เช่น การเก็บภาษี เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่ใช่อาศัยนโยบายการเงิน เช่น การปรับอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้การเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon tax) จะช่วยทั้งกระจายความมั่งคั่งในเศรษฐกิจของประเทศ และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปพร้อมกัน ขณะที่เป้าประสงค์ของบริษัทเอกชนจำเป็นต้องเปลี่ยน โดยทุกฝ่ายควรช่วยกันกำกับให้ บริษัทรายงานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของตนให้มากขึ้น เพื่อเป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจการลงทุนอย่างเหมาะสม และภาษีที่เก็บได้มากขึ้นจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็จะเป็นทุนสำหรับการแก้ปัญหานี้ต่อไป
บรรยากาศภายนอกสถานที่จัดการประชุม
ที่ประชุมยังได้พูดถึงข้อสังเกตที่ว่า สถานการณ์เงินเฟ้อไม่ขยับขึ้นตามราคาเฉลี่ยของสินค้าและบริการในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าค่าแรงจะปรับขึ้นหรือเศรษฐกิจโลกจะเติบโตมากขึ้น จนมีการมองว่าการพิจารณาอัตราเงินเฟ้อจะหมดความสำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจไปแล้วหรือไม่ แต่ข้อเสนอในที่ประชุมคือโลกควรจะปรับตัวสู่เศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ที่อาศัยพลังงานประเภทอื่น นอกเหนือจากพลังงานจากแหล่งฟอสซิล เช่น น้ำมันหรือถ่านหิน โดยการเปลี่ยนแหล่งพลังงานนี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคาสินค้าและเงินเฟ้อก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเวียนในตลาดทุน (capital market) เพิ่มขึ้นได้ในที่สุด
ขณะเดียวกัน คุณนพปฏล ได้ร่วมประชุมหัวข้อด้านเศรษฐกิจที่น่าสนใจ อาทิ “Investment in a climate resilient future” และหัวข้อ “Challenging the Dominance of the Dollar” โดยในเรื่องประเด็นค่าเงินสหรัฐนั้น ได้หารือถึงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐถือเป็นเงินสกุลหลักในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันแรงกดดันต่อมูลค่าของดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน คือ เงินสกุลดิจิทัล (Cryptocurrency) และกรณีจากสงครามการค้า ซึ่งมูลค่าที่แท้จริงของ Crytocurrency ถูกกำหนดโดยภาคเอกชนและความต้องการของคนยุคดิจิทัล
ข้อสังเกตในที่ประชุมมองว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคที่มีเงินสกุลสำคัญหลายสกุล อย่างไรก็ดี สกุลดอลลาร์สหรัฐจะคงความสำคัญหากรักษาคุณลักษณะเช่นที่ผ่านมาไว้ได้ อาทิ ความมั่นคง ความปลอดภัย การคาดการณ์ได้และความน่าเชื่อถือ ซึ่งยังไม่มีเงินสกุลใดที่จะมาเทียบได้ นอกจากนี้เทคโนโลยีการเงินในรูปแบบต่าง ๆ ในปัจจุบันจะช่วยให้การค้าขายเงินตราต่างประเทศสะดวกขึ้นเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถแทนบทบาทของเงินสกุลดอลลาร์หรือเงินตราต่างประเทศอื่นๆ ได้ จนกว่าเวลาจะพิสูจน์ความสำคัญของเทคโนโลยีในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางการเงินที่เชื่อถือได้ ขณะที่สกุลเงินหยวน ยังไม่เป็นที่นิยมใช้เป็นเงินตราแลกเปลี่ยน (convertibility) อีกทั้งการหมุนเวียนของเงินทุนเข้าออกประเทศกินเวลานาน เพราะจีนยังไม่ลดมาตรการควบคุมต่างๆ ที่จะช่วยให้มีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างประเทศอย่างเสรี
คุณนพปฏล ยังได้เข้าร่วมประชุมหัวข้อ “Global Economic Outlook” ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ คุณ Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางแห่งยุโรป คุณ Haruhiko Koruda ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น คุณ Kristalina Georgiva กรรมการบริหาร กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) คุณ Olaf Scholz รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนี และคุณ Steven Mnuchin รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง สหรัฐฯ โดยผู้ร่วมเสวนาเห็นพ้องว่า ความเสี่ยงสำหรับปี ค.ศ. 2020 ได้แก่ 1.สถานการณ์ 4 ต่ำ กล่าวคือ เงินเฟ้อ การว่างงาน ดอกเบี้ยและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ล้วนมีอัตราต่ำหมด อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า 2.อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงเรื่อยๆ จนอาจจะติดลบ เสี่ยงให้เกิดภาระหนี้เพิ่มขึ้น และอาจนำไปสู่การลงทุนที่มีความเสี่ยง
ขณะที่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ IMF ตั้งเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ร้อยละ 3.3 สำหรับปี ค.ศ. 2020 โดยขณะนี้ ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศเริ่มลดลง ธนาคารกลางทั่วโลกต่างประสานกันดีเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ปริมาณการค้าระหว่างประเทศได้ลงไปแตะจุดต่ำสุดแล้ว จากนี้ไปคงจะโตขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเวียดนาม ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากสงครามการค้าในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้มีมุมมองว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศต้องกล้าที่จะนำนโยบายการคลัง (fiscal policy) มาใช้ และพร้อมจะปฏิรูประบบการเงิน และนำนโยบายการจัดเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ เพราะเป็นวิธีช่วยสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สหรัฐฯ ให้มุมมองถึงข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ล้วนออกมาเชิงบวกแสดงให้เห็นความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้ยังคาดการณ์ว่าสหรัฐฯจะได้รับผลตอบแทนจากนโยบายลดภาษีภายใน 10 ปี ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ควรตัดงบประมาณลงอีกเพื่อลดรายจ่าย ขณะที่ ประธานธนาคารกลางแห่งยุโรป กล่าวว่า สถานการณ์อัตราการว่างงานขณะนี้อยู่ในระดับต่ำ พร้อมกันนั้นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 7 ประเทศ (G7) ต้องเผชิญกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงแค่ร้อยละ 1.3 ทั้งนี้ที่ผ่านมาการที่ค่าแรงเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 2.5 น่าจะช่วยเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นกลไกทางการเงินที่สำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤตการเงินในอนาคต อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังเฝ้ารอว่า ราคาสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นตามค่าแรงจริงหรือไม่ ขณะเดียวกันเห็นว่าสงครามการค้าต้องยุติเพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
สำหรับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนี กล่าวว่า ขณะนี้ เศรษฐกิจกำลังเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงอีกครั้ง โดยอัตราว่างงานต่ำเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลจากการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามพรมแดนอย่างเสรี และมีการลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ส่งผลต่อการจ้างงานมากขึ้น ทั้งนี้ เยอรมนีให้คำมั่นว่าจะยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินภายในปี ค.ศ. 2038 และจะเป็นประเทศที่จัดว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (carbon neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 ตามคำมั่นของสหภาพยุโรป โดยที่ผ่านมาเยอรมนีจัดสรรงบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนา เทียบเท่ากับร้อยละ 3 ของ GDP และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 3.5 ต่อไป
ส่วนผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น คาดการณ์อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเพียงร้อยละ 1–1.5 เช่นเดียวกับช่วงสิบปีที่ผ่านมา ขณะนี้ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 2 และอัตราเงินเฟ้อเพียงร้อยละ 0.6 ซึ่งยังห่างจากเป้าที่ตั้งไว้อยู่ที่ร้อยละ 2 ขณะที่เงินได้สุทธิของพนักงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การบริโภคสินค้าและการบริการเติบโตตามไปด้วย
นอกจากนี้ในการประชุมหัวข้อ “Impact Briefing : Harnessing Innovation to Feed the World” ได้ประเมินสถานการณ์ข้างหน้าที่ว่าโลกจำเป็นต้องเลี้ยงดูประชากรกว่า 10,000 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2050 ทั้งนี้ ได้มีการหยิบยกปัจจัย 12 ประการ ที่จะเปลี่ยนระบบอาหารที่ป้อนสู่คนทั้งโลก (Transformative Twelve for Food System) เพื่อรับมือกับความท้าทายของมนุษยชาติ
ดังนี้ 1.โปรตีนทางเลือก (alternative proteins) 2.เทคโนโลยีการตรวจสอบอาหารจะช่วยรักษาคุณภาพอาหารและการตรวจสอบย้อนกลับ 3.การจัดหาอาหารที่เหมาะกับความต้องการทางโภชนาการของแต่ละคน (nutrigenetics) 4.การส่งสินค้าและบริการถึงมือผู้บริโภคโดยตรง 5.Big Data และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำประกันสำหรับพืชผลการเกษตร 6.Internet of Things เพื่อให้ข้อมูลอย่างโปร่งใสและช่วยเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับที่เป็นสถานะปัจจุบัน (real-time) 7.การใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการตรวจสอบย้อนกลับ 8.เกษตรกรรมแบบแม่นยำเพื่อใช้ปุ๋ย สารบำรุงและน้ำให้คุ้มค่าที่สุด 9.เทคโนโลยีชีวภาพระดับจุลภาค เพื่อสร้างความต้านทานแก่พืช 10.การตัดแต่งยีนเพื่อปรับปรุงคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในหลายด้าน 11.การผลิตและจัดเก็บพลังงานสะอาดที่อยู่นอกระบบการจ่ายไฟฟ้าปกติ (off-grid) เพื่อให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ได้ทั่วถึง 12.การป้องกันแปลงพืชและแร่ธาตุขนาดจิ๋วในดินโดยใช้วิธีการทางชีวภาพ
ในโอกาสนี้ คุณนพปฎล ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้วยว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้บริโภค ได้ยกกรณีตัวอย่างของ 7-11 ที่ไทย ที่สามารถงดการใช้ถุงพลาสติกได้สำเร็จ โดยค่อย ๆ เริ่มทำก่อน และสนับสนุนให้คนมีส่วนร่วมผ่านการทำบุญ รวมทั้งการร่วมมือกับห้างอื่นเพื่อผลักดันให้ออกเป็นกฎหมายในที่สุด
คุณนพปฎล เข้าร่วมการหารือระหว่าง ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา
วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กับผู้แทน WEF
ในการประชุมครั้งนี้ คุณนพปฎล ยังได้เข้าร่วมการหารือแบบสองฝ่ายที่สำคัญ ได้แก่ 1.การหารือเรื่อง Closing Innovation Gap Accelerator Model ระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทย นำโดย ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับผู้แทน WEF โดยคุณนพปฎล เป็นหนึ่งในสองผู้แทนภาคธุรกิจไทยที่เข้าร่วม และ 2.การหารือว่าด้วย Family Business และการหารือว่าด้วย Food and Agriculture กับผู้แทน WEF เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการเพิ่มบทบาทของเครือฯ ในสองสาขานี้ ซึ่ง WEF มองว่า เครือฯ จะสามารถมีบทบาทแข็งขันได้ในระดับโลก
ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ เน้น 3 ประเด็นที่จะส่งเสริมนวัตกรรมในประเทศไทย คือ 1.การจัดตั้ง Internet Data Center 2.การเพิ่มทักษะฝีมือโดยอาศัย Artificial Intelligence และ 3.การสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อยสามารถเติบโตได้
ดร.สุวิทย์ ยังกล่าวถึงความท้าทายที่ไทยอาจติดอยู่ในประเทศกับดักรายได้ปานกลาง (middle-income trap) ที่ไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ พร้อมทั้งรายได้ของแต่ละกลุ่มนั้นแตกต่างอย่างมาก (wide income disparity) ขณะที่ยังเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมชัดเจนอีกด้วย โดยได้เสนอนโยบาย “4×4” หรือ ปัจจัยขับเคลื่อน (drivers) คือ 1.ระบบที่จะส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ (new growth regime) มีธุรกิจที่จะโตตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยอุตสาหกรรมใหม่ (S-Curve) อาทิ เทคโนโลยีชีวภาพ (Bio-tech) กระบวนการผลิตที่อาศัยระบบดิจิทัล ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ ได้เสนอให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมในเรื่องอาหารและเกษตร และการสื่อสารโทรคมนาคม ให้เครือดุสิตธานีช่วยขับเคลื่อนในเรื่องการท่องเที่ยว ให้ SCG ช่วยเรื่องระบบเศรษฐกิจที่ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด (circular economy) 2.การสร้างผู้มีทักษะทางฝีมือและผู้ประกอบการอิสระ (entrepreneurs) 3.การจำกัดการพัฒนาเฉพาะพื้นที่ (area-based development) ทั้งนี้ เพื่อช่วยกระจายรายได้ และ 4.ความรู้ความเชี่ยวชาญสมัยใหม่ ที่เกิดขึ้นจากการใช้ นโยบายที่ถูกต้อง
นอกจากนั้น สิ่งที่จะช่วยให้นวัตกรรมเกิดขึ้นได้จริง (enablers) ประกอบด้วย การมีกฎระเบียบที่เหมาะสม และมีกฎหมายที่จะช่วยคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของนักวิจัยหรือผู้ประกอบการอิสระ ดังเช่น พ.ร.บ. ว่าด้วยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) หรือ BEDO (Biodiversity-based Economy Development Office) ซึ่งสนับสนุนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของนักวิจัย ด้วยการขอรับความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาและทรัพยากรชีวภาพของทั้งชุมชน และผลงานของสำนักงานฯ ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือ พ.ร.บ. ว่าด้วย Start-ups ตลอดจนการยกเลิกกฎระเบียบหรือกฎหมายที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน (Regulatory Guillotine) รวมทั้งต้องมีระบบสาธารณูปโภคและปัจจัยพื้นฐานที่จะช่วยเร่งให้เกิดนวัตกรรม อาทิ การกำหนดพื้นที่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ให้เป็นศูนย์รวมการทำวิจัยและพัฒนา (regional R&D parks) หรือการร่วมมือเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ และสุดท้ายคือการพัฒนาสมรรถนะ (capacity building)
การหารือกับผู้แทน WEF เรื่อง Famijly Business
ทั้งนี้ในการประชุม WEF นาย Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวถ้อยแถลงสำคัญฉายภาพให้เห็นสถานการณ์สำคัญรอบด้านของโลกในเวลานี้ เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศว่าเป็นอุปสรรคทางกายภาพที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาประเทศ เพราะปัจจุบันเมืองและประเทศต่างๆประสบปัญหาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมาก และอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ภัยพิบัติทางธรรมชาติทวีความรุนแรงขึ้น โดยเห็นได้ชัดว่า ยังไม่มีใครสามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ เพราะตัวชี้วัดต่างๆ ยืนยันว่าสถานการณ์ เลวร้ายลงเรื่อยๆ ขณะที่ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกหรือกลุ่ม G20 ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศคิดเป็นร้อยละ 80 ของจำนวนที่ถูกปล่อยออกมาทั้งหมด ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดภาษีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือ carbon tax ซึ่งถือเป็นมาตรการกระจายรายได้อย่างหนึ่ง พร้อมทั้งยกเลิกมาตรการอุดหนุน (subsidy) สำหรับพลังงานที่มาจากแหล่งฟอสซิล อาทิ น้ำมันหรือถ่านหิน รวมทั้งภาคการเงินควรสนับสนุนการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน (Green Economy) มากขึ้น
การหารือกับผู้แทน WEF เรื่อง Food and Agriculture
เลขาธิการสหประชาติ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ความหวาดระแวงซึ่งกันและกันและมุมมองที่ว่าโลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดความไม่เสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคมนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงใน 66 ประเทศ ดังนั้น ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมจากทั่วโลก จำเป็นต้องมาช่วยกันสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันก่อนปัญหาจะบานปลาย ขณะเดียวกันสถานการณ์ปัจจุบันโลกกำลังประสบปัญหาจาก “สงครามตัวแทน” (Hot Proxy War) อันเกิดจากการที่บางประเทศยืมมือกลุ่มหัวรุนแรงหรือกลุ่มก่อการร้ายจุดชนวนความขัดแย้ง และนำไปสู่การสู้รบในประเทศอื่น อาทิ ในซีเรีย อิรัก เยเมน โดยที่ตัวเองไม่ออกนอกหน้า เพิ่มความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทุกวัน นับเป็นโลกที่มีหลายขั้วอำนาจ และไม่มีใครเกรงใจ
ที่มาPR CPG