เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 คณะกรรมการวิชาการด้านเทคโนโลยี มหกรรมนวัตกรรมบัวบาน 2021 นัดประชุมรอบแรกเพื่อทำการ Consensus ผลงานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่ส่งเข้ามาจำนวนมาก กว่า 1,000 ผลงาน โดยวันนี้กรรมการทำการคัดเลือกในส่วนของประเทศไทยและต่างประเทศ(ยกเว้นของประเทศจีน) 690 ผลงานโดยมี คุณอยุทธ ยุกตะนันท์รองประธานคณะกรรมการวิชาการ ผลงานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี เป็นประธานพร้อมกรรมการที่มาร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 17 อาคารฟอร์จูนทาวน์รวมทั้งทางออนไลน์ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาผลงานที่เข้ารอบไปด้วยความเรียบร้อยเช่นเดียวกับผลงานด้านเศรษฐกิจและสังคมฯ
โดยภาพรวมคณะกรรมการต่างมีข้อคิดเห็นว่าปีนี้มีผลงานน่าสนใจไม่น้อย แต่หลายผลงานยังต้องพัฒนา พร้อมกันนั้นกรรมการต่างให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ เช่นการพิจารณาผลลัพธ์ด้านการเงินที่จะช่วยสนับสนุนการให้คะแนนที่ดีขึ้น การเขียนผลงานควรจะมีการเน้นให้ข้อมูลที่ชัดเจนโดยเฉพาะส่วนที่เป็นผลลัพธ์มากขึ้น พัฒนาผลงานที่มี Impact ในวงกว้าง พร้อมทั้งขอบคุณนวัตกรทุกคนที่ช่วยกันสร้างสรรค์ผลงาน ผลงานที่ไม่ผ่านการคัดเลือกขอให้นวัตกรอย่าเพิ่งท้อ ยังมีโอกาสพัฒนาดีขึ้นได้ ส่วนที่ผ่านการคัดเลือกควรเตรียมข้อมูลให้ดีเพราะจะต้องมีการนำเสนอต่อกรรมการ
คุณอยุทธ ยุกตะนันทน์ รองประธานคณะกรรมการวิชาการ ผลงานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี กล่าวว่า “นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีผลงานส่งมาล้นหลามทุกปี ตรวจผลงานมา10 กว่าปี ครั้งนี้ถือได้ว่าผลงานเขียนได้ดีขึ้น ผลงานน่าสนใจมากขึ้น แต่ก็มีนวัตกรใหม่ๆบางส่วนที่เป็นนักปฏิบัติยังเขียนไม่ค่อยเก่ง ต้องฝากผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้ามีส่วนสนับสนุน ส่งเสริมเรื่องการเขียนบทคัดย่อ เรื่องการคิดตัวเลขค่าผลลัพธ์เทียบฐานให้น้องๆนวัตกรรุ่นใหม่
ต้องขอบคุณกรรมการทั้ง 25 ท่าน ที่ตรากตรำช่วยตรวจผลงานที่มีจำนวนมาก สำหรับผลงานที่ไม่ผ่านการคัดเลือกก็ไม่ต้องเสียใจ อยากให้นวัตกรพยายามฝึกฝน เรียนรู้ ประสบการณ์ใหม่ๆในการพัฒนานวัตกรรมให้กับเครือซีพีต่อไป”
ด้าน คุณวีระพงษ์ สายศิลป์ กรรมการวิชาการ ผลงานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ให้ความเห็นว่า “ผลงานครั้งนี้ผมถือว่าทำได้ดีกว่าครั้งที่ผ่านมา รูปแบบทำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะวิดีโอ ซึ่งวิดีโอเป็นอะไรที่บอกให้กรรมการเห็นชัดเจนได้เห็นทั้งภาพและเสียง ทำให้กรรมการสามารถตรวจทานข้อความหรือเนื้อหาได้ดี โดยครั้งนี้ผลงานต่างๆที่ส่งมากรรมการเอง ตัวผมเองก็ได้ความรู้ในหลายๆด้าน ต้องไปค้นหาข้อมูลในหลายๆด้านเพื่อประกอบการให้คะแนน”
“สิ่งที่ประทับใจคือเรื่องที่ผลงานของแต่ละคนทำมามีขั้นตอน มีเครื่องมือ เอามาทำผลงานให้ดูโดดเด่นขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายผลงานได้คะแนนน้อยก็คือเรื่องของผลลัพธ์ ซึ่งส่วนมากในการทำเรื่องของผลตอบแทนการลงทุน หรือมูลค่าการลงทุนยังไม่ค่อยชัดเจน ในฐานะกรรมการก็อยากจะฝากตรงจุดนี้ ถ้าพวกเราเน้นในเรื่องผลลัพธ์ได้ดีขึ้น ผลงานจะดีและโดดเด่น และเป็นต้นแบบให้กลุ่มต่างๆ”
“ผมคิดว่าทุกผลงานที่ส่งเข้ามาทุกคนตั้งใจทำให้ดีที่สุด แต่ก็มีหลายเรื่องที่ต้องถูกคัดกรอง ส่วนที่ไม่ได้คัดเลือกเข้ามาก็พยายามหาเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาพัฒนาตัวเอง ส่วนผลงานที่ผ่านการคัดเลือกถ้ามีโอกาสก็อยากให้แบ่งปันกับในเครือของพวกเราจะได้พัฒนานวัตกรรมต่อไป”
ด้าน คุณชวลิต คลอดเพ็ง กรรมการวิชาการ ผลงานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี อีกท่านกล่าวว่า “จากการตรวจผลงานที่ตรวจมามีการปรับปรุงในการเขียน การนำเสนอ ดีกว่าปีก่อนๆ นวัตกรที่เขียนผลงานเข้ามา มีการพัฒนามากขึ้น หลายผลงานพยายามมองจุดเด่นของแต่ละผลงานเพื่อให้ผลงานแต่ละผลงานมีความโดดเด่นขึ้นมา และส่วนหนึ่งที่กรรมการเห็นเหมือนกันคือวิดีโอ เรื่องของขั้นตอนในการดำเนินการหรือกิจกรรมที่เราทำ ซึ่งส่วนนี้ทำให้กรรมการเห็นขั้นตอนที่ทำมาเป็นอย่างไร”
“ในส่วนที่จะต้องปรับปรุงของหลายผลงานที่ตรวจก็คือเรื่องของผลลัพธ์ที่เขียนมา บางโครงการตอนแรกที่เขียนมาเริ่มต้นด้วยดีมาก แต่ไม่ได้กรอกรายละเอียดถึงผลลัพธ์เป็นอย่างไร ซึ่งมีผลต่อการให้คะแนน แต่ในภาพรวมนวัตกรของเราก็มีการพัฒนาขึ้น พอเราพัฒนาแล้วก็จะสามารถต่อยอดขึ้นไป สำหรับผลงานที่ไม่ผ่าน นวัตกรอย่าเพิ่งท้อ พยายามพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆเพราะในอนาคตเราก็จะเก่งขึ้นมา ส่วนที่ผ่านการคัดเลือกแล้วก็ต้องพัฒนายิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเราทำได้ดีก็จะสามารถส่งไปประกวดในเวทีต่างประเทศได้”