29 มีนาคม 2566 – เครือเจริญโภคภัณฑ์จัดงาน the next level of ‘CP INNOVATIONS’ กับการก้าวไปอีกขั้นสู่ศตวรรษใหม่ของการผนึกกำลังเพื่อร่วมสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม พร้อมต่อยอดองค์ความรู้ผ่านการสร้างนวัตกรรมบนออนไลน์แพลตฟอร์ม รวมทั้งการแนะแนวทางวิธีเขียนและการนำเสนอโครงการให้โดนใจคณะกรรมการ และวิเคราะห์ผลงานเพื่อต่อยอดขยายผลในเชิงพาณิชย์ ซึ่งได้รับเกียรติจากคณะกรรมการกลั่นกรองจากกลุ่มธุรกิจในเครือฯ ร่วมให้คำแนะนำ โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งผ่านระบบออนไลน์ และเข้าร่วม Onsite ณ ห้องภิรัช 1 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ รวมกว่า 1,150 คน
ภายในงานเริ่มต้นกิจกรรม ด้วยการแนะนำ แพลตฟอร์มแห่งนวัตกรรม ‘CP Innovation Online Platform’ ชุมชนนวัตกรรมแบบไร้พรมแดน 24 ชั่วโมง ของคนซีพี ที่เป็นศูนย์รวมความรู้และการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อมุ่งเสริมการสร้างนวัตกรรมที่นำไปสู่การเอาชนะความเปลี่ยนแปลง โดยคุณศักดา ศิริรัตน์ จาก บจ.ออลล์ เทรนนิ่ง ให้เกียรติมาแนะนำฟีเจอร์ของแพลตฟอร์ม ที่จะช่วยในการค้นหาผลงานนวัตกรรม (InnoKnowledge) ของคนซีพี พร้อมอัพเดทความคืบหน้าทางวิทยาการและข่าวสาร (InnoNews) รวมทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับการประมูลนวัตกรรม (InnoShowcase) เปิดโอกาสให้สามารร่วมลงทุนและซื้อนวัตกรรม รวมถึงติดต่อขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ (InnoExpert) ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ภายในแพลตฟอร์มยังนำเสนอข้อมูลประวัติความเป็นมาของนวัตกรรมซีพีซึ่งดำเนินการมากว่า 100 ปี ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า และข้อมูลที่ส่งเสริมการเรียนรู้เทรนด์แห่งอนาคต เพื่อให้คนซีพีเตรียมพร้อมสู่ศตวรรษใหม่ไปด้วยกัน โดยสามารถเข้าเยี่ยมชม CP Horizon แพลตฟอร์มได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปผ่านเว็บไซต์ CPINNOEXPO.net และสามารถใช้งานฟีเจอร์เต็มรูปแบบในเดือนพฤษภาคม 2566
ภายในงาน ยังได้เปิดเวทีแบ่งปันเทคนิคการนำเสนอ CP Innovations: Proposal 101 เขียนอย่างไรให้โดนใจ โดยมีคุณศักดิ์ชัย บัวมูล ที่ปรึกษาเครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณฉัตรชัย วิไลรัตนสุวรรณ ที่ปรึกษาคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บจ. ซีพี รีเทลลิงค์ คุณจุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประกันคุณภาพ บมจ. สยามแม็คโคร คุณชยุตม์ กฤษอร่ามเรือง รองผู้อำนวยการด้านนวัตกรรม บมจ. ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) คุณอดิเรก ตันเต่งผล Associate Director บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และคุณธัญญา ขอพร Vice Chairman Chia Tai Group Agro-Industry & Food Business , China Area ร่วมให้ข้อแนะนำ และไขข้อสงสัยการเลือกส่งผลงานแต่ละด้าน โดยจะต้องระบุให้ชัดเจนว่า จะผลงานที่ทำมุ่งเน้นในด้านใด โดยพิจารณาจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ตัวอย่าง เช่น ผลงานด้านสังคม มีเป้าหมายมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่เกิดแก่สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ เกิดผลผลลัพธ์เชิงตัวเลข อาทิ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้/กำไรอย่างชัดเจน และด้านเทคโนโลยี มีการประยุกต์ใช้หรือปรับเปลี่ยนกระบวนการที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นกว่าเดิม
ทั้งนี้ เกณฑ์ในการพิจารณาผลงานมีการให้คะแนนเน้นหนักในมิติที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในการเขียนนำเสนอผลงานต้องนนำเสนอข้อมูลที่เห็นภาพกระบวนการที่ชัดเจน กระชับ มีความสนุก เข้าใจง่ายมีข้อมูลรายละเอียดครบถ้วน มีความสอดคล้องกับผลลัพธ์จากการดำเนินงานในระยะเวลาที่เหมาะสม เป็นที่ประจักษ์ จับต้องได้ รวมถึงถ้ามีคลิปประกอบการนำเสนอจะช่วยให้คณะกรรมการเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น พร้อมทิ้งท้ายไว้ว่า ควรจะทำเรื่องใหม่ มีการเรียบเรียงระบบความคิด Input, Process, Output, Outcome ที่มองภาพกว้างเห็นเป้าหมาย เทียบฐานแล้วสามารถปิดช่องว่าง แก้ไขจุดเจ็บปวด (pain point) ทำให้เกิด Impact ขึ้นได้จริง และสามารถต่อยอดขยายผลภายใต้ค่านิยม 6 ประการของเครือเจริญโภคภัณฑ์ อีกทั้งยังสามารถตอบแทนคุณแผ่นดินได้ ยิ่งจะได้ใจและได้คะแนนจากคณะกรรมการ
นอกจากนี้ ยังเปิดเวทีให้ 4 ผลงานที่ได้รับรางวัล Chairman Award 2022 ได้นำเสนอผลงานกับคณะกรรมการ 3 ท่าน ได้แก่ คุณจรณ์ ส.จุฑามณี ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์นวัตกรรมของกลุ่ม ซีพี ออลล์ ดร.ภาคภูมิ ปฐมภาคย์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และคุณจุฑามาศ งามวัฒนา Head of True Incube บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เพื่อเป็นตัวอย่าง และสร้างแรงบันดาลใจแก่นวัตกรซีพีได้เรียนรู้และสามารถนำไปปรับปรุงแนวทางการนำเสนอผลงานของตนเองในการคัดเลือกครั้งถัดไป
งานมหกรรมนวัตกรรมบัวบาน จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี เป็นเวทีให้พนักงานเครือซีพี ได้นำเสนอผลงานความคิดสร้างสรรค์มุ่งพัฒนาศักยภาพ กระบวนการคิดและการดำเนินงาน ที่ตอบโจทย์กับปรัชญา 3 ประโยชน์ เพื่อประเทศชาติ ประชาชนและค่านิยมของเครือเจริญโภคภัณฑ์