คณะกรรมการวิชาการด้านเทคโนโลยี มหกรรมนวัตกรรมบัวบาน 2021 ได้มีการตัดสินผลงานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ในรอบ Chairman Awards ในวันที่ 25, 27 และ 30 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา โดยได้เปิดโอกาสให้นวัตกรที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายเข้ามานำเสนอผลงานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีต่อหน้าคณะกรรมการที่มาจากทั้งภายในเครือฯและภายนอกเครือฯ อาทิ คุณธนะศักดิ์ พึ่งฮั้ว Managing Director Innovation Consultant TRIZ Specialist, ศ.ดร.พรชัย ทรัพย์นิธิ อาจารย์คณะ Telecommunications Engineering Department Bldg. คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, คุณสมพงษ์ อรุณรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และ น.สพ.สมชาย เลาห์วีระพานิช ที่ปรึกษา บริษัท เจียไต๋ จำกัด โดยในปี้มีผลงานด้านเทคโนโลยีของนวัตกรจากเครือฯ ทั้งจากประเทศไทยและจากต่างประเทศ ผ่านเข้ารอบรวม 81 ผลงาน จากที่ส่งเข้ามาจำนวนมากกว่า 1,000 ผลงาน
ทั้งนี้ ภาพรวมของการนำเสนอผลงานตลอด 3 วันที่ผ่านมา คณะกรรมการได้ร่วมให้คำแนะนำแก่นวัตกร โดยให้มองหาโอกาสทางการตลาดที่มากกว่าธุรกิจเดิม อาทิ มองถึงลูกค้าหรือคู่ค้าใกล้ตัวที่เป็นกลุ่มธุรกิจในเครือฯด้วยกัน นอกจากนี้ ควรนำเสนอความชัดเจนของนวัตกรรมของตัวเองให้มากขึ้น โดยดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง กล่าวว่า ปีนี้ผลงานนวัตกรรมค่อนข้างโดดเด่นกว่าครั้งที่ผ่านมา มีความทันสมัยมากขึ้น เข้ากับเทรนด์ในยุคสมัยของโลกที่เปลี่ยนไป โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้งานร่วมกับทุกกลุ่มธุรกิจของเครือฯ ทั้งด้าน Data Robotic (หุ่นยนต์) AI (ปัญญาประดิษฐ์) และ IoT (Internet of things) และยังมีผลงานที่ใช้ฐานเทคโนโลยีทางด้านชีววิทยาอย่างการคิดค้นวัคซีนด้วย
ดร.สมวงษ์ กล่าวอีกว่า ผลงานนวัตกรรมปีนี้แสดงให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของโลกมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมและยังช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพด้านความรวดเร็วอีกด้วย
ด้านศ.ดร.พรชัย ทรัพย์นิธิ กล่าวว่า โครงการที่ผ่านเข้ามาในปีนี้มีความหลากหลายมากขึ้น จากที่ในปีก่อนๆ จะเป็นเรื่องการพัฒนาระบบวัคซีน ดิจิทัล หรือกระบวนการปรับปรุงการผลิตอาหาร ซึ่งในกลุ่มนี้แม้ว่ายังคงมีอยู่ แต่มีการต่อยอดด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้กับหลากหลายสาขามากขึ้น ตั้งแต่การบริหารจัดการในองค์กร เรื่องทางกฏหมาย การจัดการทางบัญชี โดยในปีนี้มีโครงการที่เข้ามาจากประเทศจีนมากขึ้นอีกด้วย
“ที่น่าสนใจคือ การนำเอาเทคโนโลยีทางด้าน Big Data ทางด้าน AI เข้ามาใช้เพิ่มมากขึ้น อย่างเช่นการทำนายอายุ (shelf life) ของอาหาร การนำเอา AI เข้ามาปรับปรุงคุณภาพอาหารในกระบวนการผลิตทั้งระบบ 70% ของผลงานที่ส่งเข้ามาส่วนใหญ่ได้มีการทดลองใช้และเห็นผลค่อนข้างชัดเจน อยากให้มีการต่อยอดโดยนำไปใช้ให้หลากหลายมากขึ้น รวมไปถึงการต่อยอดทางด้านธุรกิจที่ไม่ได้มองว่าลูกค้าคือ กลุ่มธุรกิจในเครือฯ เท่านั้น แต่อาจจะเป็นในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ” ศ.ดร.พรชัยกล่าว
ขณะที่คุณธนะศักดิ์ พึ่งฮั้ว กล่าวว่า ปีนี้แต่ละผลงานค่อนข้างมีความชัดเจน โดดเด่น และทันสมัย อาทิ Smart Factory, Smart Farm, Internet of Things, Big Data ทำให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้ในธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณพงศ์สุรฉัฐ อักษรศรี รองผู้จัดการฝ่ายควบคุมสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า Rdc ลำพูน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในนวัตกรที่ได้เข้ามานำเสนอในปีนี้ โดยนำเสนอผลงาน Warehouse Hybrid System ซึ่งได้กล่าวว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจกับนวัตกรทุกคน เพราะทีมงานใช้เวลานานนับปีในการพัฒนาผลงานร่วมกัน โดยเริ่มพัฒนากันตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การรับสินค้า การจัดเก็บสินค้า การส่งมอบสินค้า รถขนส่งเพื่อให้ครอบคลุมในทุกกิจกรรม
“การที่ได้ส่งผลงานเข้าร่วมคัดเลือก และได้รับการพิจารณาเพื่อนำเสนอในงานมหกรรมนวัตกรรมบัวบานครั้งนี้ถือว่าคุ้มค่าและมีประโยชน์ เพราะตัวผลงานที่ทำสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ร่วมกันได้ทั้งเครือฯ” คุณพงศ์สุรฉัฐ กล่าวในตอนท้าย