ใกล้เข้ามาทุกขณะกับการตัดสินผลงานนวัตกรรมบัวบาน 2021 ซึ่งคณะกรรมการวิชาการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้มีการตัดสินผลงานนวัตกรรมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ในรอบ Chairman Awards เมื่อวันที่ 15 – 16 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยเปิดโอกาสให้นวัตกรที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายนำเสนอผลงานนวัตกรรมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อหน้าคณะกรรมการที่มาจากทั้งภายในเครือฯและภายนอกเครือฯ อาทิ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ดร.วิจารย์ สิมะฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านประสานกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ คุณพัชรี คงตระกูลเทียน Chief Compliance officer Corporate Compliance officer เครือเจริญโภคภัณฑ์
สำหรับภาพรวมของการส่งผลงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในปีนี้ มีผลงานผ่านเข้ารอบรวม 37 ผลงาน จากผลงานที่ได้รับคัดเลือกมาตั้งแต่รอบแรก 232 ผลงาน ซึ่งเป็นผลงานของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่ง ภาพรวมของการนำเสนอผลงานตลอด 2 วันที่ผ่านมา มีหลายโครงการน่าสนใจทั้งที่เป็นโครงการใหม่ และต่อยอดจากโครงการเดิม และยังสอดคล้องกับความยั่งยืนของเครือฯ อีกด้วย
ผศ.ดร นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะกรรมการจากภายนอก กล่าวให้ความเห็นว่า มีหลายโครงการน่าสนใจและได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว และมีบางโครงการที่มีจุดเด่นเรื่อง Social Innovation บางโครงการสามารถบูรณาการได้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ แต่ก็มีบางโครงการที่ยังไม่สามารถดำเนินให้ถึงที่สุด ซึ่งหากมีการทำอย่างต่อเนื่องก็อาจจะส่งผลให้โครงการนั้นประสบความสำเร็จและมีประโยชน์ได้ต่อไปในอนาคต และที่น่าสนใจคือ หลายโครงการมีการตั้งเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์ 17 ข้อของเป้าหมายความยั่งยืน (17 SDGs Goal)ด้วย
“สำหรับตัวผมเองมองว่า โครงการที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนผลักดันเรื่องของ Innovation ที่มีทั้ง Product Process และ Management Innovation นั้นล้วนมีความน่าสนใจ เพียงแต่ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะแตกต่างกันอยู่บ้าง คือ บางโครงการเกิดในภาพกว้าง บางโครงการเกิดในภาพแคบ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการออกแบบโครงการเหล่านี้”
พร้อมกันนี้ ผศ.ดร นิคม ยังได้ฝากถึงนวัตกรรุ่นต่อๆ ไปว่า “อยากให้นวัตกรหรือเจ้าของโครงการมองในเรื่องของผลกระทบให้มากขึ้น ซึ่งยังมีช่องว่างอยู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาโดยเฉพาะในพื้นที่แนวตะเข็บชายแดน หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ส่วนตัวเชื่อว่าเครือฯ มองเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่ และยังสามารถลงลึกได้ถึงในเชิงทั้งปริมาณและคุณภาพที่มากกว่านี้ และอาจส่งผลให้โครงการมีความสำเร็จมากขึ้น”
ด้าน ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ปีนี้ผลงานมีความแปลกใหม่มากขึ้นทั้งผู้เข้าร่วมหน้าใหม่และการต่อยอดโครงการเดิม แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นคือ การเติมเรื่องของนวัตกรรมเข้ามาอยู่ในกระบวนการ หรือจะเรียกว่าเป็น Process Innovation มีหลายโครงการพูดถึงพัฒนาการของการนำแนวคิดที่อาจจะเคยมีช่องว่างจากครั้งที่แล้วมาปรับปรุงจนได้ระบบที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการวัดผลลัพท์โครงการที่ถือว่ามีความคืบหน้ามากกว่าปีที่แล้ว ทั้งในเรื่องของการประเมินผล การเก็บรวบรวมข้อมูล หากแต่ละโครงการทำได้ต่อเนื่องก็จะทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการต่างๆ ในครั้งนี้มีประโยชน์ต่อส่วนรวมได้อย่างเป็นรูปธรรม และหากนำโครงการเหล่านี้ไปพัฒนา ต่อยอด หรือบูรณาการ โดยร่วมมือกันระหว่างบริษัท โดยได้แลกเปลี่ยนข้อมูลโครงการกัน จะนำไปสู่การขยายผลและช่วยยกระดับผลกระทบทางสังคมเพิ่มมากขึ้น หรือแม้แต่ภาคีเครือข่ายภายนอกก็จะทำให้โครงการบรรลุเป้าหมายได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ดร.พิพัฒน์ ฝากถึงเหล่านวัตกรในรุ่นต่อไปอีกว่า “อยากให้แต่ละทีมจัดการข้อมูลในการนำเสนอและบริหารเวลาให้ดีกว่านี้ เพราะเข้าใจว่าหลายทีมอยากนำเสนอข้อมูลในทุกด้าน แต่เนื่องจากเวลาที่กำหนดอาจจะทำให้การเสนอไม่ครบถ้วนได้ แต่ยอมรับว่าปีนี้การนำเสนอผลงานที่น่าสนใจดึงดูดคณะกรรมการได้ดี”
นอกจากความเห็นของคณะกรรมการแล้ว ลองมาฟังความเห็นของนวัตกรจากกลุ่มทรู คุณนนทยา กสิณฤกษ์ จากหน่วยงาน Education & Academic Affair บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น นำเสนอผลงานที่ชื่อว่า Connect ED : School Management System โดยกล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสเข้ามานำเสนอผลงานในการประกวดนวัตกรรมบัวบาน 2021 ทีมงานทุกคนภาคภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง เพราะการประกวดนี้มีความสำคัญมาก ไม่ใช่แค่การบอกว่ามีนวัตกรรมอะไร หรือคิดอะไรขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการบอกถึงสิ่งสำคัญที่กำลังจะทำว่าคืออะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เรากำลังทำกับโครงการ School Management System เป็นการทำงานเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทย มีส่วนต่อการพัฒนาประเทศไทย เพื่อวางรากฐานไปสู่จุดเปลี่ยนถ่ายใหม่ของประเทศไทย เพราะการศึกษาคือ พื้นฐานของการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน
“นอกจากความภูมิใจในการทำงานในด้านนี้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ภาคภูมิใจ คือ การที่เรามีโอกาสได้บอกกับคณะกรรมการหรือทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องให้ทราบถึงสิ่งที่พวกเรากำลังทำว่าคืออะไร และเป้าหมายเพื่ออะไร จึงรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้มีโอกาสเข้ามาถึงรอบสุดท้าย” คุณนนทยา กล่าวในตอนท้าย