หนึ่งในยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ “ซีพี แลนด์” ซึ่งมีโปรเจ็กต์และโครงการมากมาย ทั้งที่อยู่อาศัย โรงแรม สำนักงาน นิคมอุตสาหกรรม และยังมีโปรเจ็กต์ที่ร่วมกับจีนลงทุนในอีอีซีที่กำลังเดินหน้าอยู่ พร้อมกันโครงการใหม่ ๆ ที่กำลังตามมา
ด้วยความที่เป็นองค์กรใหญ่ อยู่มานาน ล่าสุด ซีพี แลนด์ จึงลุกขึ้น รีเฟรซแบรนด์ ปลุกความกระชุ่มกระชวย ขยับโครงสร้างภายใน ผสมผสานความเป็นองค์กรมากประสบการณ์เข้ากับทีมงานรุ่น Young Gen ที่เข้ามาเติมเต็มให้การขับเคลื่อนธุรกิจ เดินหน้าแข่งขันในโลกดิจิทัลที่ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแบบไม่หยุดนิ่ง โดยได้มือดีซึ่งเป็นหนึ่งในกูรูด้านอสังหาริมทรัพย์ “กีรติ ศตะสุข” มานั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ซี.พี. แลนด์
“อาจารย์กีรติ” เล่าว่า เริ่มเข้ามาร่วมงานกับซีพี แลนด์ ในฐานะปรึกษาโปรเจ็กต์ของกลุ่มฟอร์จูน ทั้งโรงแรมและสำนักงานทั้งหมด จนในที่สุดได้เข้ามานั่งบริหารเต็มตัว ทำหน้าที่วางทั้งยุทธศาสตร์ระยะยาว และกลยุทธ์ระยะสั้นของซีพี แลนด์ ทั้งกลุ่ม ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ เช่น โครงการธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมลูกค้าและรูปแบบการตลาดที่ปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ซึ่งอาจารย์ เริ่มต้นศึกษาวัฒนธรรมองค์กรและรูปแบบการทำงานของซีพี แลนด์ มาตั้งแต่เริ่มทำโปรเจ็กต์
คุณกีรติ ศตะสุข ประธานเจ้าหน้าที่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ซี.พี.แลนด์
“เปรียบเทียบเหมือนซีพีแลนด์เป็นรถ คือรถคันนี้ขับได้ทุกอย่างไปได้ดีมากอยู่แล้ว สิ่งที่ผมเข้าไปทำจริงๆ คือการแค่กำหนดเส้นทางให้รถคันนี้ เดินไปในเส้นทางที่สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ เราเน้นมากในเรื่องของความเป็น Smart Solution ที่ยึด Customer Centric เป็นสำคัญ”
เป้าหมายของซีพี แลนด์ หลังจากนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่กำลังมีแผนขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ ดังนั้น จึงต้องมีการวางกลยุทธ์กำหนดแผนงาน และสร้างคนขึ้นมารองรับเป้าหมายงานที่กำลังเดินหน้า พร้อมสร้างความเป็นสากลที่ต่างชาติให้การยอมรับและเชื่อถือ ทั้ง Corporate Plans และ Project Plans อาจารย์กำหนดจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการไว้ที่ 3 ปี
3 ปีที่ว่านี้ เริ่มตั้งแต่การหาทีมงานที่มีความสามารถ ไม่เพียงแค่เก่ง แต่ต้องสามารถทำงานร่วมกับทั้งคนเก่าและคนใหม่ “อาจารย์กีรติ” ในฐานะผู้วางกลยุทธ์ กำหนดยุทธศาสตร์ ก็ต้องเรียนรู้พฤติกรรมของคนเจนเก่า และใหม่ แล้วปรุงส่วนผสมทั้งสองส่วนให้เข้ากัน จัดทำโครงสร้างการทำงานที่เหมาะสมกับงาน งานบางอย่างเช่นไอที ก็จะมีคนรุ่นใหม่มากหน่อย งานด้านบัญชี การเงิน ก็มีคนรุ่นเก่าทำหน้าที่ดูแล เพราะต้องอาศัยความละเอียดรอบครอบ เรียกว่า ทั้งกลุ่ม Gen X และ Gen Y จะถูกจับวางในหน้าที่ที่เหมาะสม โดยทุกคนต้องสามารถประสานงานพูดคุยกันได้ เพื่อผลักดันการพัฒนาสินค้าและบริการให้ออกมาตามมาตรฐานของ ซีพี แลนด์ (CP Land Standard)
“จุดที่ท้าทายที่สุดของผม คือ การทำให้ mindset ของคนสองกลุ่มนี้เข้ามาเจอกันตรงกลาง ต่อไปนี้การทำงานของซีพีแลนด์ เกิดจากความคิดของคนซีพีแลนด์ ที่คอมโพไมซ์ คนสองเจน เข้าด้วยกัน”
คนที่มีประสบการณ์ หรือเป็นผู้ใหญ่ ก็ต้องเปิดรับฟังไอเดียของคนรุ่นใหม่ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็ต้องมีความนอบน้อม และพร้อมเปิดรับฟังผู้มีประสบการณ์ “อาจารย์กีรติ” ก็คือ ตัวเชื่อม ที่ทำให้ความคิด และความรู้สึกของคน 2 เจนนี้ ผสมผสานกันให้ได้ พร้อมทั้งบาลานซ์การทำงานของคนสองกลุ่มนี้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ “อาจารย์กีรติ” ยังบอกว่า สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับต้นๆ ของการเข้ามานั่งทำหน้าที่ ณ จุดนี้ คือ การบริหารจัดการด้านเงินทุน และการบริหารจัดการบุคลากร เส้นทางที่ซีพี แลนด์ จะโกอินเตอร์ กุญแจสำคัญที่จะพาไปถึงตรงนั้นได้ มี 2 เรื่อง คือ หนึ่ง เงินทุนต้องสนับสนุนเพียงพอ และสอง พนักงานต้องเก่ง และเปิดรับตลอดเวลา เพราะเมื่อไปประเทศหนึ่งก็ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ทใหม่ Customer Centric ก็ใหม่ตลอด นี่คือ กุญแจสำคัญขององค์กรอสังหาริมทรัพย์รุ่นใหม่
“อาจารย์กีรติ” บอกว่า เป้าหมายส่วนตัวของเขา คือ การสร้างผลงาน ตอนสอนหนังสือเราเชื่อว่าเราเปลี่ยนแปลงโลก แต่เมื่อเราสอน เราก็รู้ว่าเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงโลก ตอนแรกก็คิดว่าตัวเองสำคัญ ซึ่งไม่ใช่.ผมผ่านจุดนั้นมาแล้ว ความเชื่อที่ว่า ตัวเองเก่ง ตัวเองถูกตอนนี้ผมตอบได้เลยว่า ผมไม่ได้สำคัญอะไร
ตอนนี้สิ่งที่ผมเชื่อ คือ การทำงานอะไรก็ตามให้สำเร็จ ซึ่งเมื่อสำเร็จแล้วก็ไม่ต้องเอามาเคลมด้วยนะว่า อันนี้ฉันทำ อันโน้นฉันทำ เราทำไปเพื่อให้เราสามารถรู้สึกภูมิใจกับตัวเอง ครอบครัวภูมิใจในตัวเรา เพราะคนอื่นเขาไม่ได้มาสนใจตรงนั้น วันนี้เป้าหมายสำคัญของผม ไม่ว่าจะไปอยู่องค์กรไหนก็ตาม วางบทบาทมาแล้วผมจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และทำให้สำเร็จ โดยไม่ยึดคิดอะไรใดๆ ทั้งสิ้น และไม่เอาความสำเร็จในอดีตมาโยนใส่องค์กรใหม่ที่เราเข้าไปทำงาน
“ตอนนี้สิ่งที่ผมทำคือ คิด หาวิธี และหากุญแจให้เจอ และต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า กุญแจที่หาเจอ ใช่สำหรับองค์กรนี้ ตัวผมจะไม่แมทเทอร์กับองค์กรใดๆ”
ส่วนเป้าหมายของซีพี แลนด์ ที่จะต้องไปให้ถึงภายใน 3 ปีนี้ คือ การเดินหน้าสู่ International พร้อมทั้งสร้างรายได้แตะที่ 5 พันล้าน โดยล่าสุดมีตัวเลขรายได้ 1,700 – 2,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ และเมื่อก้าวสู่ International รวมถึงการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซีพี แลนด์ ต้องเข้าไปแบบมีสตอรี่ และ มี something ที่ทุกคนต้องพูดถึงเมื่อ IPO
“ตอนนี้สิ่งที่ผมเชื่อ คือ การทำงานอะไรก็ตามให้สำเร็จ ซึ่งเมื่อสำเร็จแล้วก็ไม่ต้องเอามาเคลมด้วยนะว่า อันนี้ฉันทำ อันโน้นฉันทำ เราทำไปเพื่อให้เราสามารถรู้สึกภูมิใจกับตัวเอง ครอบครัวภูมิใจกับเรา ส่วนคนอื่นเขาไม่ได้มาสนใจตรงนั้น”
ที่มา: นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 18 – 20 ส.ค. 2565