จากสถิติการเกิดไฟป่าในภาคเหนือนทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปีนี้สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันที่จังหวัดเชียงใหม่รุนแรงและขยายเวลานาน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จึงให้มีการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันขึ้น
คุณจงกล เหลืองอ่อน ที่ปรึกษาโครงการธรรมชาติปลอดภัย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส์ จำกัด กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร (ข้าวโพด) เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า “โครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้รับการประสานมายังสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 และอุทยานแห่งชาติศรีล้านนาให้เข้าร่วมในการสนับสนุนในการจัดงาน Kick Off รณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่”
งานนี้เป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาร่วมสนับสนุนให้มีการเรียนรู้และร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติดูแลรักษาไฟป่าเป็นอย่างดี เพื่อบริหารจัดการและดูแลปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่อุทยานแห่งชาติศรีล้านนา ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่ใหญ่และยังสมบูรณ์อยู่ ซึ่งมีพื้นที่ถึง 3 อำเภอ อำเภอพร้าว อำเภอแม่แตง และอำเภอเชียงดาว ต่อไป
เกร็ดความรู้: ไฟป่าเกิดจากอะไร?
4 สาเหตุหลัก ได้แก่ 1) การทำกินของชาวบ้าน 2) การหาของป่า 3) การล่าสัตว์ 4) การดูแลพื้นที่ของตนเองและไฟก็ลามเข้าไปในพื้นที่ป่า ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากคนทั้งนั้น
“โครงการธรรมชาติปลอดภัย เข้าไปช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2555 โดยนำระบบเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในการโอบล้อมป่า เริ่มต้นด้วย เครื่อง GPS ในการตรวจจับพื้นที่ดิน สนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์ ให้มีการเก็บข้อมูลไว้ ต่อมาก็มีการสนับสนุนเรื่องของ Tablet ซึ่งดีกว่า GPS เพราะว่า Tablet สามารถถ่ายรูปและก็เก็บข้อมูลได้เป็นอย่างดี สุดท้าพัฒนามาเป็นโดรน ซึ่งโดรนจะช่วยในเรื่องของการลาดตระเวน การดูพื้นที่การบุกรุก สิ่งสำคัญอันดับสุดท้ายคือ โครงการธรรมชาติปลอดภัยสนับสนุนให้มีการสร้าง War Room เป็นสถานที่ที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมด และส่งผ่านข้อมูลนี้ไปยังหน่วยงานต่างๆ หน่วยป้องกันต่างในพื้นที่ จังหวัด กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่กรุงเทพ ซึ่งเป็น War Room แห่งแรกของภาคเหนือที่ทำให้กับอุทยานแห่งชาติศรีล้านนา เพื่อในการดูแลรักษาป่า ไฟป่า และคนกับป่า” คุณจงกล เล่าถึงลำดับการสนับสนุนเครื่องมือช่วยเหลือ
เกร็ดความรู้: ไฟป่าดับยาก?
หากจุดที่เกิดเหตุลึกและสูงชัน ทำให้การดับไฟป่ายากมาก จึงต้องมีการจัดการพื้นที่ลึกและสูง ไม่ว่าจะเป็น การจัดหาน้ำ การระแวดระวัง การจัดการไฟให้ดี ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
คุณจงกล กล่าวว่า “ไฟป่าเกิดขึ้นทุกปีที่จังหวัดเชียงใหม่ ไฟป่าเกิดแค่ 3 เดือนระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค. หรือ ก.พ.- กลางเม.ย. เท่านั้น พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่สูง เป็นพื้นที่ป่า และเป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญทั้งนั้น หากร่วมมือและเริ่มป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้การรณรงค์หรือวิธีการรณรงค์ที่ชาวบ้านที่ทำกินในป่า หาสัตว์หรือว่า จัดการเรื่องของการทำให้เกิดไฟป่า เขาได้รับรู้รับทราบ ถึงข้อกฏหมาย ถึงปัญหาของไฟป่า ถึงการใช้ชีวิตของสัตว์ป่า มันก็จะทำให้มีเวลาในการเตรียมการ และทำงานได้ดีขึ้น สอดส่องทั่วถึงขึ้น และข้อมูลจะส่งได้เร็วขึ้นครับ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถร่วมมือกันและซีพีเข้าไปร่วมช่วยกันได้”
นอกจากการบริหารจัดการและวางแผนป้องกันไฟป่า ก่อนหน้านี้โครงการธรรมชาติปลอดภัยยังช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจาก CPF และข้าวตราฉัตร อีกด้วย
“ในจังหวัดเชียงใหม่มีหลายอำเภอนะครับ โครงการธรรมชาติปลอดภัยได้ดูแล 3 อำเภอซึ่งเป็นอำเภอหลักในต้นน้ำใหญ่ คือต้นน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ยังมีอีกหลายอำเภอที่ต้องการความช่วยเหลือและต้องการแนวร่วมที่จะช่วยกันป้องกัน โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดเองหรือสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เอง ซึ่งดูแลอุทยานทางเหนือทั้งหมดยังต้องการความร่วมมือจากภาคเอกชนเป็นอย่างมากครับ” คุณจงกล กล่าวเชิญชวนทิ้งท้าย