CPP Myanmar เริ่มระบบทวนสอบย้อนกลับ(traceability)กับทุกภาคส่วน

เมื่อเร็วๆนี้ ดร.สดุดี สุพรรณไพ รองกรรมการผู้จัดการ สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และปฎิบัติตามกฎเกณฑ์ (SGC) กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ข้าว ขนส่งและบริการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดการอบรมเรื่องการทวนสอบย้อนกลับ(Traceability) ให้กับบุคลากรของบริษัทฯและผู้แทนจำหน่าย ในเขตประเทศเมียนมา เพื่อเป็นการสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ในการร่วมขับเคลื่อนระบบการทวนสอบย้อนกลับให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ระบบทวนสอบย้อนกลับ (Traceability) เป็นการดำเนินการตามมาตรการต่างๆอย่างเคร่งครัดตลอดกระบวนการ สามารถตรวจสอบในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนการเพาะปลูก ระหว่างการเพาะปลูก และหลังการเพาะปลูก จากต้นทางผ่านกระบวนการผลิต ไปจนถึงขั้นสุดท้ายคือผู้บริโภค

ในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับของ CPP Myanmar มีทั้งกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของปัจจัยเกษตร(Backward traceability) ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เคมีเกษตร ไปจนถึงการนำสินค้าไปสู่ผู้บริโภค (Forward traceability)คือกระบวนการเพาะปลูกของเกษตรกร จนถึงการขายผลผลิต ส่งมอบต่อธุรกิจอาหารสัตว์ โดยมีกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานในด้านต่างๆ ตัวอย่างเช่น ต้องเพาะปลูกในพื้นที่ปลอดการเผา100% พื้นที่ไม่รุกป่า พื้นที่เอกสารสิทธิ์ มีระบบชลประทาน มีการจัดการแปลงอย่างถูกต้องเหมาะสม ควบคุมการใช้เคมีเกษตรอย่างปลอดภัย

โดยกระบวนการตรวจสอบนี้ ด้านการตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิต Backward Traceability จะสามารถตรวจสอบในเชิงปริมาณเมล็ดพันธุ์และปัจจัยที่จำหน่าย ที่ต้องสอดคล้องกับปริมาณพื้นที่เพาะปลูกที่มีการลงทะเบียนในระบบทั้งในธุรกิจ B2B และB2B2C รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรสมาชิกในระบบ B2C สำหรับด้าน Forward Traceability ตรวจสอบจาก ปริมาณพื้นที่ปลูกในระบบที่ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานและมาตราการควบคุม ที่ต้องสอดคล้องกับปริมาณผลผลิตที่รับซื้อเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์

ดร.สดุดี สุพรรณไพ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้าน Forward หรือ Backwardเราตั้งเป้าหมายต้องทำให้ได้ 100% และเพื่อความปลอดภัยเราเริ่มจากในพื้นที่ ที่ไม่มีปัญหาจากการสู้รบ และในอนาคตจะดำเนินการในทุกพื้นที่ที่ เรามีการดำเนินธุรกิจ ขอยกตัวอย่างเรื่องการติดตามจุดความร้อน(Hotspot) เราจะนำพิกัด GPS ของพื้นที่เพาะปลูกไปตรวจสอบซ้อนทับกับพื้นที่เกิดจุดความร้อนที่ได้ข้อมูลจากดาวเทียมเป็นรายวัน หากตรวจสอบพบจุดความร้อน(Hotspot) ในพื้นที่เพาะปลูก บริษัทจะมีมาตรการในการเข้าไปพบเกษตรกรเพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ส่งเสริมให้งดการเผา จะช่วยทำให้ลดปัญหาเรื่องฝุ่นควันขนาดเล็ก(PM2.5)และการปล่อยคาร์บอนจากพื้นที่เกษตรได้ ที่สำคัญผลผลิตที่ได้จากพื้นที่ดังกล่าว สามารถยืนยันได้ว่าเป็นผลผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มาจากพื้นที่เกิดปัญหาการเผา สามารถนำผลผลิตดังกล่าวเข้าสู่การบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์จากผลผลิตเหล่านี้”

การอบรมในครั้งนี้ ได้จัดขึ้นที่ FarmPro สาขา MyoHla ในเขต เนปิดอว์ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯจาก FarmProสาขาต่างๆ ในเขตประเทศเมียนมาเข้าร่วมอบรมเรียนรู้ ในธุรกิจ B2C มีการลงพื้นที่แปลงปลูกจริงเพื่อทดสอบการดำเนินการตามขั้นตอนและข้อกำหนดต่างๆ ตาม Checklist และในธุรกิจ B2B มีการเข้าพบทางตัวแทนจำหน่าย เพื่อสร้างความเข้าใจ ในการร่วมมือ แนะนำการติดตามตรวจสอบแปลงปลูกโดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อความแม่นยำและตรวจสอบได้ โดยทาง CPP Myanmar ได้จัดให้มีกระบวนการติดตามการตรวจสอบย้อนกลับนี้ โดยมีผู้ทวนสอบจากภายนอกระดับสากล เข้าติดตามตรวจสอบและให้การรับรอง(Certificate)อย่างเป็นระบบต่อไป

         

ที่มา CPI