ซีพีแรม ห่วงสถานการณ์อาหารเหลือทิ้ง ส่งผลกระทบต่อทุกคนทั้งในมิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหารของโลก จัดกิจกรรมประกวดคลิปวิดีโอผ่านคนรุ่นใหม่ห่วงปัญหา Food Waste
คุณวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ผู้ผลิตอาหารและเบเกอรี ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการลด Food Loss ในองค์กรอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด พร้อมส่งเสริมการลด Food Waste ในกลุ่มผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องในระยะหลายปีที่ผ่านมา เป็นไปตามแนวทาง Food 3S (Food Safety, Food Security และ Food Sustainability) ขององค์กร โดย S ตัวที่สอง ที่เรียกว่า Food Security หรือความมั่นคงทางอาหารที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างปลอดภัย และมั่นคง ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อย่างใดขึ้นก็ตาม
ทั้งนี้ ยังสอดคล้องกับแนวทางขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ที่วางเป้าหมายของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 โดยมีเป้าหมายหนึ่งคือโลกที่ปราศจากความหิวโหย (Zero Hunger) ด้วยการมีความมั่นคงทางอาหาร และปลอดจากภาวะการหิวโหยทุกรูปแบบ ซึ่งทุกคนจะสามารถเข้าถึงอาหารจากการกระจายอย่างทั่วถึง และมีคุณค่าโภชนาการได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี และตลอดไป
อย่างไรก็ตาม การจะเกิดความมั่นคงทางอาหารได้นั้น จะต้องมีทรัพยากรหรือวัตถุดิบทางอาหารอันจะเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอาหารและการผลิตร่วมกัน ระหว่างผู้ผลิตอาหารและเกษตรกร ตลอดจนอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมวัตถุดิบทั้งหมด และรวมไปถึงกระบวนการจัดจำหน่ายที่จะช่วยส่งต่ออาหารไปถึงมือผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึงและปลอดภัย มีความใส่ใจของการสร้างความมั่นคงทางอาหารร่วมกัน เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการในการบริโภคและวัตถุดิบที่มีอย่างยั่งยืน
และสำหรับ S ตัวที่สาม ที่เรียกว่า Food Sustainability เป็นการดูแลกระบวนการผลิตและส่งมอบให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเมื่อถึงปลายน้ำคือผู้บริโภค ก็จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยกันให้เกิดความยั่งยืน เพราะหากมีการบริโภคแบบทิ้งขว้างจนกลายเป็นความสูญเปล่าของอาหารก็จะส่งผลกระทบไปยังสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ จากข้อมูลโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นทั่วโลกในแต่ละปี หรือ ประมาณ 1.3 พันล้านตัน จะกลายเป็นความสูญเปล่าทางอาหาร หรือ Food Waste และถูกปล่อยให้เน่าเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 3.3 พันล้านตันต่อปี
จำนวนอาหารที่ถูกทิ้งขว้างเหล่านี้มีมูลค่ารวมกันกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 31 ล้านล้านบาท และเพียงพอนำไปเลี้ยงดูผู้คนที่หิวโหยได้มากถึง 870 ล้านคน และจากสถานการณ์ขาดแคลนอาหารของประชากรโลก ผู้คนที่อดอยากหิวโหยจำนวน 870 ล้านคนนั้น จำนวนเกินกว่าครึ่งหรือราว 552 ล้านคน อาศัยอยู่ในภูมิเอเชียแปซิฟิค ซึ่งนับรวมประเทศไทยด้วยเช่นกัน
ขณะสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติความสูญเปล่าทางอาหารเกิดจาก ระบบการจำหน่ายมีกระบวนการควบคุมที่ไม่เหมาะสม การซื้อสินค้า และการเตรียมอาหารที่มากเกินจำเป็น ไปจนถึงความสูญเปล่าทางอาหารจากการบริโภค ทั้งในส่วนที่เหลือทาน และเลือกบริโภค รวมถึงสหประชาชาติ ยังตั้งเป้าลดความสูญเปล่าทางอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิต และห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2573
จากแนวโน้มดังกล่าว ซีพีแรม ยังได้จัดทำโครงการประกวดคลิปวิดีโอ “คนรุ่นใหม่ไร้ Food Waste” ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความสูญเปล่าทางด้านอาหาร และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องในอนาคต พร้อมเปิดเพจ Facebook ที่ชื่อว่า “ กินหมดจด ไร้ Food Waste ” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยน และแชร์ไอเดียตลอดจนแรงบันดาลใจในการลดความสูญเปล่าทางอาหาร หรือ Food waste ซึ่งเป็นการขยายผลสู่ทุกกลุ่มคนในสังคม
ด้าน ผศ.บุญเลี้ยง แก้วนาพันธ์ ประธานสาขาวิชามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า มจธ. ร่วมกับ บริษัทซีพีแรม จัดกิจกรรมภายใต้โครงการครงการประกวดคลิปวิดีโอ “คนรุ่นใหม่ไร้ Food Waste” ขึ้นเพื่อให้เป็นสื่อสร้าวสรรค์สะท้อนถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ให้มีความตระหนักและเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมในการลดความสูญเปล่าทางอาหาร จนสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกในสังคมและโลก โดยกิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการสู่ปีที่ 3 และเตรียมตัดสินผู้ชนะรางวัลการประกวดในโครงการฯ ดังกล่าว ในวันศุกร์ ที่ 18 ธันวาคม นี้
ที่มา: posttoday