‘ลูกปลิว’ คือจริงของ คุณลูกปลิว จันทร์พุดซา ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ตั้งชื่อนี้ให้เพราะตอนแรกเกิด เธอตัวเล็กจนเหมือนลมจะพัดปลิวได้…และลมก็พัดพาชีวิตของเธอไปได้ไกลจริงๆ จากลูกเกษตรกรยากจนที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจาก โรงเรียนเจียรวนนท์อุทิศ 2 ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญ ทำให้เด็กน้อยเติบใหญ่เป็นประติมากรและอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
“เรามีพี่น้อง 4 คน ฐานะครอบครัวค่อนข้างยากจน พ่อแม่ทำไร่ข้าวโพด มันสำปะหลังที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ปีหนึ่งจะขายผลผลิตได้แค่ครั้งเดียว พ่อแม่จึงต้องรับจ้างทำงานอื่นๆ ตัวเราก็รับจ้างเก็บถั่วเขียว ใส่ปุ๋ยในดิน ช่วยเลี้ยงวัว พี่น้องทุกคนก็ต้องช่วยกันทำมาหากิน อย่างวันที่ไม่มีเรียนหนังสือ ตื่นเช้ามาต้องออกไปทำงานในไร่ พอ 8 โมงก็กลับมากินข้าวที่บ้านเพื่อไปทำงานอื่นต่อ” คุณครูลูกปลิว เล่าให้ฟัง
.
ย้อนกลับไปเมื่อหลาย 10 ปีก่อน คนภายนอกคงนึกไม่ออกว่าโรงเรียนเจียรวนนท์อุทิศ 2 ไปตั้งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารอย่างหมู่บ้านยุบอีปูน อำเภอวังน้ำเขียว ได้อย่างไร
นี่คือโรงเรียนขยายโอกาสที่เครือเจริญโภคภัณฑ์สร้างขึ้นเพื่อให้เด็กที่อยู่ห่างไกลความเจริญได้มีโอกาสเรียนหนังสือ พอสร้างเสร็จก็มอบให้ภาครัฐบริหารจัดการต่อ และแม้ว่าจะมอบให้รัฐไปแล้วแต่บริษัทก็คอยติดตามและดูแลอยู่เสมอ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ในช่วงฤดูหนาวของทุกปีจะมีตัวแทนของซีพี ซึ่งหลายครั้งคือ ‘คุณหญิงเอื้อปรานี เจียรวนนท์’ ที่เดินทางมามอบเสื้อกันหนาวคุณภาพดีให้เด็กๆ
“ทุกวันนี้เรายังเก็บเสื้อบางตัวไว้อยู่เลย นอกจากนี้ยังมีผ้าห่ม อุปกรณ์การเรียน และอุปกรณ์กีฬา จะเป็นวันที่เด็กๆ ตื่นเต้นและรอคอยว่าปีนี้จะได้อะไร เพราะครอบครัวส่วนใหญ่ไม่มีเงินมากพอจะซื้อของเหล่านั้น” ครูลูกปลิวเล่าไปพร้อมๆกับรอยยิ้มแห่งความสุข
“เราเริ่มเรียนชั้น ป.1 ตอนอายุ 7 ขวบ เนื่องจากบ้านอยู่ไกลจากโรงเรียน 7 กิโลเมตร รวมระยะทางไปกลับคือ 14 กิโลเมตร แล้วต้องเดินเท้าไป เพราะที่บ้านไม่มีรถ มีแต่เกวียน (หัวเราะ) พ่อแม่จึงอยากให้โตสักหน่อย จึงได้เริ่มเรียนตอนอายุ 7 ขวบ โดยต้องเดินออกจากบ้านตอนพระอาทิตย์ขึ้น ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง และบ้านเราอยู่ไกลโรงเรียนที่สุด จึงต้องรับผิดชอบถือธงแดงเพื่อเดินไปรับเพื่อนที่อยู่ระหว่างทาง จากนั้นก็เดินต่อแถวไปโรงเรียนด้วยกัน เส้นทางเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ไม่มีทางรู้เลยว่าโรงเรียนตั้งอยู่ตรงไหน ก่อนที่ระยะทางจะค่อยๆ เฉลยภาพอาคารเรียนที่อยู่ข้างหน้าออกมา”
.“ตอนเรียนชั้น ป.5 พ่อแม่เก็บเงินซื้อที่ดินผืนเล็กๆ ที่อยู่ใกล้โรงเรียนเพื่อให้เรากับพี่น้องไปเรียนได้สะดวกขึ้น สิ่งที่ส่งผลอย่างชัดเจนคือ จากที่เราเคยสอบได้ลำดับที่กลางๆ ค่อนไปทางท้ายของห้องก็สอบได้ที่ 2 เนื่องจากมีเวลาให้การเรียนมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านั้นแค่เดินถึงบ้านก็มืดแล้ว ต้องรีบอาบน้ำในคลอง แล้วรีบขึ้นมากินข้าว ไฟฟ้าก็ไม่มี ต้องสุมหัวล้อมวงรอบตะเกียง วันดีคืนดีจะได้กลิ่นผมไหม้ของใครสักคน เป็นแบบนั้นจริงๆ (หัวเราะ)”
คุณครู ลูกปลิว เล่าต่ออย่างมีความสุขว่า “เราชอบศิลปะตั้งแต่เด็ก ชอบขุดดินปลวกมาปั้นเป็นรูปต่างๆ ในสมุดจะมีแต่รูปวาดเจ้าหญิงเจ้าชายในละครจักรๆ วงศ์ๆ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นสมัยเรียนชั้น ป.4 เราแอบไปยืนหน้าประตูห้องเรียนที่คุณครูจะคัดเด็กเข้าไปอยู่ในกลุ่มศิลปะ และยืนมองอยู่หลายวันจนครูเห็น จึงกวักมือเรียกเข้ามาในห้อง แล้วยื่นกระดาษกับดินสอให้ เท่านั้นแหละ เราก็วาดรูปไม่หยุดเลย (ยิ้ม)”
.“หลังจากนั้นเราได้เป็นตัวแทนโรงเรียนไปประกวด มีงานหนึ่งได้รางวัล 500 บาท ซึ่งเงินจำนวนนั้นยังอยู่ในบัญชีธนาคารชื่อ ด.ญ.ลูกปลิว อยู่เลย เป็นเงินก้อนแรกที่ได้จากศิลปะ และไม่เคยนำออกมาใช้ เพราะเป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้มีวันนี้ จึงตั้งใจรักษาบัญชีให้อยู่ตลอดไป (ยิ้ม)”
.
นับจากวันนั้น ศิลปะก็พาชีวิตก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ คุณครูลูกปลิว ได้เป็นตัวแทนแข่งขันศิลปะระดับอำเภอ จังหวัด ไปจนถึงระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พอเรียนจบชั้น ม.3 ก็สอบเข้าสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา โดยเรียนสาขาศิลปกรรม และฝันอยู่ตลอดว่าอยากเรียนต่อคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สมัยเรียน ปวช. เธอจึงตั้งใจสุดๆ ทำทุกวิชาให้ดี ไม่เล่น ไม่มีแฟน นอกจากนั้นยังไปติวที่คณะจิตรกรรมฯ ตั้งแต่เรียน ปวช. ปี 2 หรือก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัยถึง 2 ปี กระทั่งในที่สุดเราก็สอบติดคณะจิตรกรรมฯ อย่างที่ตั้งใจไว้จริงๆ
. ชีวิตของคุณครูลูกปลิว จันทร์พุดซา จะเดินทางต่อไปอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
.ร่วมเป็นสมาชิก Facebook Group: คลังภาพซีพี 100 ปี เพื่อติดตามอ่านเรื่องราวทั้งจากนักเขียนรุ่นใหญ่-รุ่นเล็ก ภาพหาดูยาก และเรื่องราวดีๆ ได้ที่ www.facebook.com/groups/cpgallery
..#คลังภาพซีพี100ปี #ห้องสมุดซีพี #โรงเรียนเจียรวนนท์อุทิศ