สมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน เชิญ ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนฯ เครือซีพี แบ่งปันความรู้ด้านความยั่งยืน เปิดมุมมองใหม่แก่นักธุรกิจไทย-จีนรุ่นใหม่ ชี้โลกป่วน ธุรกิจต้องปรับ ขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ และประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ และ ประธานคณะผู้บริหารยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเกียรติจากสมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน  เชิญให้แชร์ประสบการณ์และเปิดมุมมองด้านความยั่งยืน หัวข้อ โลกป่วน ธุรกิจปรับ ขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน (Sustainable Business in Disruptive World) ในงาน “TYCC-Economic Tea Party”และการประชุมคณะกรรมการ สมาคมฯ สมัยที่ 12 ครั้งที่ 10  ณ โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยต์ สุรวงศ์  โดยมีสมาชิกของสมาคมซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวไทย-จีนรุ่นใหม่กว่า 100 คนร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

คุณชุน ไพลินดีเลิศ นายกสมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน เปิดเผยว่า กลุ่มซีพีเป็นองค์กรชั้นนำของประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ความร่วมมือในการลงทุนและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างทั้งสองประเทศผ่านองค์กรหลายแห่งในประเทศจีน ในการนี้เพื่อให้สมาชิกได้เรียนรู้ได้ดำเนินธุรกิจในอนาคตด้วยความมั่นคงอย่างยั่งยืน จึงได้เชิญประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ด้านความยั่งยืน เพื่อให้สมาชิกฯได้ปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

ทั้งนี้ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ได้เล่าให้นักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน รู้จักเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีมากขึ้น  ระบุให้เห็นว่าซีพีเป็นองค์กรธุรกิจที่มีกิจการใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องมีการปรับตัวตลอดเวลา 103 ปีของการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันโลกเผชิญความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงมากมาย ธุรกิจต้องปรับตัวให้ทัน  กระแสทุนจากทั่วโลกกำลังไหลเข้าสู่การทำธุรกิจที่เรียกว่า  “3D”  ได้แก่  1.DIGITALIZATION /AI 2. DEGLOBALIZATION และ 3.DECARBONIZATION ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก  นอกจากนี้ ดร.ธีระพล ยังได้ยังได้เปิดมุมมองประเด็นเรื่องความยั่งยืนขององค์กร ในเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอน พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน ว่าเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจต้องตระหนักถึงอย่างมาก โดยยกตัวอย่างกรณีของเครือซีพี ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน พร้อมตั้งเป้า Net Zero ในปี 2050 ทำให้คู่ค้าของซีพีต้องปรับตัว หากคู่ค้ารายใดมีการดำเนินการก็จะทำให้องค์กรแตกต่างจากซัพพลายเออร์เจ้าอื่น

ในการนี้ปรากฏว่า นักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน ให้ความสนใจเป็นอย่างมากต่อประเด็นเรื่องความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจ ที่ต้องปรับตัวเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งด้านดิจิทัล และการตระหนักถึงการลดการปล่อยคาร์บอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขสำคัญทางการค้าการลงทุนในอนาคต ทั้งเรื่องเอไอ และพลังงาน ทำให้เกิดการพูดคุยและขอคำเเนะนำในหลายภาคธุรกิจ อาทิ อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมการผลิต และการทำคาร์บอนเครดิต

สมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน ได้ก่อตั้งมาเป็นเวลา 24 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 โดยการรวมตัวของนักธุรกิจชาวจีนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีน ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 1,000 คน มีการจัดการประชุมและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้เรียนรู้และดำเนินธุรกิจในอนาคตด้วยความมั่นคงอย่างยั่งยืน