บทเรียนจากวิกฤตโควิด 19 ทำให้ทุกคนหันมาตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และร่วมมือปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทางของวัตถุดิบในกระบวนการผลิต
CPF มุ่งมั่นดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ โครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557-2561 โครงการระยะที่ 1 เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัด ได้แก่ ระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา และพังงา รวมพื้นที่ 2,388 ไร่ คืนสมดุลระบบนิเวศป่าชายเลนกลับสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
ล่าสุด ปี 2562-2566 CPF จับมือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขยายพื้นที่อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร หลังผลสำเร็จของโครงการระยะที่ 1 เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา ในพื้นที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น
“ก่อ-เมธา พุฒคง” จิตอาสา CPF ที่มีส่วนร่วมและรับผิดชอบโครงการฯ จ.สมุทรสาคร เล่าว่า เข้าร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าตั้งแต่ปี 2557 ในช่วงนั้นมีโอกาสลงเรือสำรวจสภาพของป่า ได้คุยกับตัวแทนของชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าป่าชายเลนรอบบริเวณนั้นเสื่อมโทรม น้ำทะเลและคลื่นลมกัดเซาะชายฝั่ง ขยะจำนวนมากลอยตามน้ำเข้าติดอยู่ในพื้นที่ เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของต้นไม้
CPF หารือร่วมกับคนในชุมชน นำชุมชนไปศึกษาดูงาน ร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหา สร้างความตระหนักในกับคนในชุมชน ความร่วมมือกันในช่วง 5 ปีของการดำเนินโครงการ ทำให้ในวันนี้ป่าชายเลนกลับสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ปริมาณต้นไม้เพิ่มขึ้น โตขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา ที่เข้ามาในพื้นที่มีจำนวนมากขึ้น ชาวบ้านที่มีอาชีพทำประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ CPF ยังมอบทุนประเดิมเพื่อเป็นเงินกองทุนหมุนเวียนให้ชุมชนไว้ดูแลป่าอย่างยั่งยืนด้วย
“5 ปีที่ผ่านมา การทำงานของเราพิสูจน์ให้ชุมชนเห็นถึงความพยายามและความตั้งใจจริง จนถึงตอนนี้ได้รับความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่เป็นอย่างดี เพราะเค้าเห็นประโยชน์จากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า เห็นผลที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราร่วมมือกันทำ ยิ่งได้เห็นชุมชนเห็นความสำคัญของป่าในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง ก็ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เราทำงาน มีความสุขและภูมิใจทุกครั้งที่มีส่วนร่วมลงพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนไปแล้ว”ก่อบอกถึงความรู้สึก
ด้าน “ต่าย” หรือ น.ส.นฤมล เกษศรีรัตน์ จิตอาสาCPF รับผิดชอบโครงการฯ จ.ระยอง เล่าว่า ปี 2557 เป็นปีแรกของการทำโครงการฯ พื้นที่ที่ปลูกป่าใหม่ยังน้อยอยู่มาก คณะทำงานจึงมีแนวคิดร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนปากน้ำประแส เริ่มจากร่วมมือกับชุมชนจัดกิจกรรมปลูกป่าและเก็บขยะในพื้นที่ป่าชายเลน และจัดต่อเนื่องทุกปี โดยในช่วง 5 ปีของโครงการฯ เข้าไปอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ ต.ปากน้ำประแส 54 ไร่ และสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในชุมชนเห็นความสำคัญ รัก และหวงแหนทรัพยากรในพื้นที่
ต่าย เล่าต่อว่า ช่วงปีแรกๆ เราเน้นทำความเข้าใจกับชุมชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน หลังจากที่ชุมชนมีความเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ สิ่งสำคัญ คือ ชุมชนรับรู้ได้ถึงความจริงใจและความตั้งใจจริงที่เรา อยากให้พวกเค้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีส่วนร่วมปกป้องและดูแลทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการส่งเสริมอาชีพ จากการที่ CPF ร่วมผลักดันให้พื้นที่ ต.ปากน้ำประแส เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน
การลงพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เป็นประสบการณ์ที่ต่ายบอกว่า ได้เรียนรู้ทักษะในการประสานงาน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และในทุกๆ ครั้งที่มีโอกาสลงพื้นที่ทำกิจกรรม มีความสุข ความอิ่มใจ และความภาคภูมิใจ
“ทุกวันนี้ การได้ทำอะไรเพื่อชุมชน กลายเป็นงานที่เรารัก ขณะเดียวกัน เหมือนเราได้ตอบแทนบริษัท ด้วยการส่งมอบสิ่งดี ๆให้กับชุมชน”ต่ายบอก
ประสบการณ์จากสองจิตอาสา ในโครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ตอกย้ำความตั้งใจและความมุ่งมั่น ในสิ่งที่ชาว CPF ปฏิบัติมาโดยตลอด คือ การทำประโยชน์เพื่อสังคม ภายใต้หลักปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน คือ ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และบริษัทฯ
Cr:Pr CPF