เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 คณะผู้บริหารจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีด้านวิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีด้านนวัตกรรม พร้อมคณะ เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสูง และเพื่อหารือสร้างความร่วมมือต่อยอดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการแพทย์กับเครือซีพีในอนาคต โดยมี คุณภูมิชัย ตรัยดลานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โซเชียลอิมแพคท์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจโรงงานหน้ากากอนามัยซีพี และ คุณศักดิ์ชัย บัวมูล ที่ปรึกษาประจำสำนักประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้การต้อนรับที่โรงงานหน้ากากอนามัยซีพี อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีด้านวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมโรงงานหน้ากากอนามัยซีพีและประทับใจตั้งแต่แนวคิดของท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ที่สร้างโรงงานแห่งนี้ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 กำลังระบาดหนัก และปัจจุบันยังคงดำเนินธุรกิจสนับสนุนสังคมมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์ของโควิดจะดีขึ้นแล้วก็ตาม โรงงานแห่งนี้ถือว่ามีมาตรฐานสูงมากใกล้เคียงกับต่างประเทศ ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีงานวิจัยเยอะมาก ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นสามารถที่จะนำมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการแพทย์ในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งหลังจากนี้อาจจะมีการหารือถึงแผนของการพัฒนาเพื่อต่อยอดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ร่วมกับเครือซีพีต่อไป
ด้าน คุณภูมิชัย ตรัยดลานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โซเชียลอิมแพคท์ จำกัด กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสต้อนรับคณะผู้บริหารจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเยี่ยมชมโรงงานหน้ากากอนามัยซีพี พร้อมกับได้หารือถึงแผนงานที่จะทำร่วมกันในอนาคตระหว่างครือซีพีและจุฬาฯ ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นเล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาโรงงานฯ สู่การต่อยอดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยทางโรงงานมีศักยภาพที่พร้อมในการร่วมมือกับทางจุฬาฯ ในการพัฒนานวัตกรรมจากงานวิจัยต่อไป
ทั้งนี้โรงงานหน้ากากอนามัยแห่งนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2563 ให้แก่ แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มผู้เปราะบาง โดยปัจจุบันโรงงานหน้ากากอนามัยซีพี ยังคงดำเนินธุรกิจในรูปแบบ social enterprise เพื่อนำกำไรทั้งหมดมอบให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยต่อไป